นายสืบสกุล กิจนุกร นักวิชาการศูนย์วิจัยนวัตกรรมสังคมเชิงพื้นที่ สำนักวิชานวัตกรรมสังคม มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จังหวัดเชียงราย เปิดเผยว่าแรงงานข้ามชาติในเชียงรายยังน่าเป็นห่วงเพราะไม่มีการสำรวจข้อมูลจำนวนแรงงานข้ามชาติที่ตกค้างให้ชัดเจนว่ามีจำนวนเท่าไร และต้องหยุดงานจำนวนเท่าไร ที่สำคัญคือแรงงานข้ามชาติเหล่านี้บางส่วนที่อาศัยอยู่ในหอพัก ยังต้องจ่ายค่าเช่าอยู่ แต่ไม่มีรายได้และเป็นแรงงานรายวัน แล้วจะเอาเงินที่ไหนไปจ่าย รัฐบาลควรสั่งการให้กระทรวงแรงงานและแรงงานจังหวัดเร่งสำรวจแรงงานข้ามชาติในทุกจังหวัด เพราะพวกเขากำลังเดือดร้อน มิฉะนั้นเราอาจเจอเหตุการณ์เช่นสิงคโปร์ คือกลับมามีผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มสูงขึ้นเพราะแรงงานข้ามชาติ
“เท่าที่เราลงไปสำรวจ หลายพื้นที่แรงงานข้ามชาติอยู่กันอย่างแออัด เช่น ตามไซต์ก่อสร้าง หรืออย่างหอพักก็อยู่กันเป็นครอบครัวบ้าง บางห้องเป็นพี่น้อง แต่ที่น่าห่วงคือบางคนค้างค่าเช่ามาแล้วเป็นเดือน เช่น ทำงานร้านหมูจุ่ม เมื่อร้านถูกปิดตามมาตรการของรัฐบาล พวกเขาก็ต้องตกงาน นายจ้างไม่มีเงินจ่าย บางส่วนแม้มีประกันสังคมก็ไปใช้ไม่ได้ เพราะแบบฟอร์มที่ต้องกรอกเป็นภาษาไทย เขาพูดไทยยังไม่ได้เลย แล้วจะไปใช้สิทธิว่างงานได้อย่างไร ดังนั้นสำนักงานประกันสังคมต้องทำงานเชิงรุกมากขึ้น และควรร่วมกันเร่งสำรวจช่วยเหลือด่วน”
นายสืบสกุล กล่าวว่า ขณะนี้หลายองค์กรในจังหวัดเชียงราย ได้ร่วมกันจัดตั้งศูนย์ประสานงานให้ความช่วยเหลือแรงงานข้ามชาติในจังหวัดเชียงรายในสถานการณ์โควิด 19 โดยมีจุดประสงค์และภารกิจเพื่อรวบรวมข้อมูล ข้อเท็จจริง ความเดือดร้อนของแรงงานข้ามชาติในจังหวัดเชียงราย รวมทั้งระดมความช่วยเหลือจากบุคล และองค์กรต่างๆเพื่อส่งต่อไปยังแรงงานข้ามชาติในสถานการณ์โควิด 19 ทั้งในด้านความเดือดร้อนเฉพาะหน้า และด้านสิทธิแรงงาน
นางสาวสุมนา ภักบุลวัชร นายกสมาคมมิตรภาพอันดามัน จ.ภูเก็ต กล่าวว่าปัญหาแรงงานข้ามชาติในภูเก็ตแยกเป็น 3 ส่วน คือภาคประมงซึ่งมีอยู่ประมาณ 2,000 คน แต่ยังทำงานได้ตามปกติเพราะงานประมงและธุรกิจต่อเนื่องไม่ได้หยุด ภาคแม่บ้านทำความสะอาดซึ่งมีอยู่ราว 5,000-10,000 คน ถูกเลิกจ้างหมดและต้องอาศัยอยู่ตามบ้านเช่าและหอพัก และภาคการก่อสร้างซึ่งมีอยู่ประมาณ 20,000 คน ต้องหยุดงานเช่นกัน นอกจากนี้ยังมีกลุ่มอื่นๆ อีก โดยตัวเลขแรงงานข้ามชาติที่จดทะเบียนในจังหวัดภูเก็ตมีประมาณ กว่า 58,000 คน
“แรงงานข้ามชาติที่เป็นแม่บ้าน มักเช่าห้องอยู่กันเป็นชุมชน ทั้งแถวตำบลรัษฎา และป่าตอง ที่ผ่านมามีคนแจกหน้ากากอนามัยบ้าง แต่ก็ยังไม่เพียงพอ พวกเขาก็พยายามไปหาซื้อมาใช้เอง แรงงานเหล่านี้ปกติรับค่าจ้างรายวัน พอต้องหยุดงานโดยไม่รู้ตัว ทำให้บางคนไม่มีเงินเลย เพราะเงินเก็บถูกส่งกลับบ้านไปแล้ว บางครอบครัวต้องหยุดงานทั้งสามี-ภรรยา บางส่วนต้องเสียเงินเอเย่นในการต่อใบอนญาต ราวๆคนละ 12,500 บาท” นางสาวสุมนา กล่าว
นายกสมาคมมิตรภาพอันดามันกล่าวว่า สำหรับแรงงานข้ามชาติที่ทำงานก่อสร้างนั้น หากเป็นบริษัทใหญ่ก็ไม่มีปญหาเพราะได้รับการดูแลอย่างดี แต่แรงงานส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในสถานประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึ่งไม่มีระบบดูแลที่ดีและทำให้คนงานจำนวนไม่น้อยถูกลอยแพร ทั้งนี้ความต้องการเร่งด่วนคือเรื่องของอาหาร เพราะก่อนปิดงาน หลายไซต์งานนายจ้างเป็นผู้จัดหาข้าวปลาอาหารให้ แต่ตอนนี้นายจ้างเองก็ลำบาก จึงไม่มีข้าวปลาให้อีก ทำให้คนงานต้องอยู่กันอย่างลำบาก
ส่วนสิทธิของคนงานข้ามชาติที่เป็นผู้ประกันตน ที่สามารถใช้ประกันการว่างงานของสำนักงานประกันสังคมได้นั้น นางสาวสุมนา กล่าวว่า คนงานข้ามชาติส่วนใหญ่ไม่ทราบสิทธินี้ แต่ถึงทราบก็ไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะแบบฟอร์มที่ให้กรอกเป็นภาษาไทยทั้งหมดซึ่งคนงานข้ามชาติไม่เข้าใจ
ในวันเดียวกันที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลงข่าวตอนหนึ่งว่า กรณีที่การดูแลคนในชุมชนแออัด ซึ่งอาจเข้าถึงการตรวจสอบเชื้อได้ยากนั้น หากบุคคลเหล่านี้ติดเชื้อโควิด-19 จะเกิดระบาดอย่างรวดเร็ว ประเด็นเช่นนี้เกิดขึ้นที่สิงคโปร์ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขได้นำมาเป็นประเด็นหารือและมีมาตรการว่าเราจะไม่รอ แต่จะออกค้นหาผู้ป่วยทำให้เจอเคสต่างๆ มากขึ้น เช่นในกรุงเทพมหานคร ภูเก็ต และพบว่ามีตัวเลขเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
Send this to a friend
การแจ้งเตือน