HUMANITY

เรียนรู้พหุวัฒนธรรมเพื่อเข้าใจความแตกต่าง สร้างแรงบันดาลใจ

การเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้เปิดใจเรียนรู้สังคมพหุวัฒนธรรมที่หล่อหลอมกันเป็นประเทศจนถึงทุกวันนี้ การไม่เข้าใจความหลากหลายของชนชาติพันธุ์เป็นประเด็นใหญ่ที่เป็นระเบิดเวลาของสังคมไทย หากคนในสังคมเข้าใจและเปิดรับข้อมูลหลากหลาย เท่ากับเป็นการดับชนวนไว้ได้ กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ร่วมกับมูลนิธิ พชภ. จัดกิจกรรมนำเด็กที่ได้รับทุนนวัตกรรมอาชีพชั้นสูงของ กสศ. มาเรียนรู้พหุวัฒนธรรมนอกห้องเรียนที่ดอยแม่สลอง

“นาคะมา”  (ชื่อภาษาละหู่) หรือ “นาข้าว” น.ส.ปวรรัตน์ แสนภู จิตอาสาชาวละหู่ จากหมู่บ้านจะบูสี อำเภอแม่ฟ้าหลวง เรียนจบปริญญาตรีรัฐประศาสนศาสตร์ แต่เลือกที่จะทำงานอยู่ที่มูลนิธิ พชภ. บนดอยเพื่อพัฒนาหมู่บ้านและเด็กๆ บนพื้นที่สูง บอกเล่าประสบการณ์ของตนเองให้กับ นักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา จังหวัดเชียงราย 58 คน ซึ่งได้รับทุนจาก กสศ. ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้

“ไม่ว่าอยู่ที่ไหนเราก็ทำงานให้สังคมได้ รู้สึกภูมิใจในสิ่งที่ได้รับมอบหมายให้ทำ ยังมีเด็กๆ อีกมายมายที่ต้องการความช่วยเหลือและพัฒนาโอกาส เราพร้อมให้คำปรึกษา ว่าการมีโอกาสได้เรียนต่อควรทำอย่างไร ปรับตัวอย่างไรเมื่อไปอยู่ในเมือง” นาข้าว กล่าว

นักศึกษาที่เข้าร่วมกิจกรรมจะได้เรียนรู้และเก็บเกี่ยวประสบการณ์บนดอยแม่สลองเป็นเวลา 2 วัน 1 คืน และได้เรียนรู้ 4 ฐาน ได้แก่

1.วิถีวัฒนธรรมในหมู่บ้านป่าคาสุขใจซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์อาข่าโดยเรียนรู้ผ่านประเพณีการต้มไข่สีแดงที่เป็นอาหารมงคลในช่วงเทศกาลปีใหม่อาข่า

2.วิถีวัฒนธรรมในหมู่บ้านจะบูสี ซึ่งเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ลาหู่หรือมูเซอแดง โดยผ่านประเด็นการท่องเที่ยวชุมชน

3.วิถีเศรษฐกิจวัฒนธรรมหมู่บ้านพนาสวรรค์ ซึ่งเป็นหมู่บ้านชาติพันธุ์ผสมทั้งอาข่าจีนฮ่อและลาหู่โดยผ่านกระบวนการผลิตกาแฟตั้งแต่ปลูกจนถึงส่งขาย

4.เรียนรู้ป่าชุมชนที่ได้รับการฟื้นฟูขึ้นมาใหม่เมื่อ 25 ปีก่อนจนกลายเป็นป่าใหญ่และเป็นแหล่งทรัพยากรที่สำคัญของชุมชนโดยรอบ

โดยหลังจากนักศึกษาได้แยกย้ายกันลงพื้นที่ ได้มีการทำคลิปและนำข้อมูลมาแลกเปลี่ยนให้เพื่อนๆ กลุ่มอื่นได้รับทราบ แม้ระหว่างลงพื้นที่จะมีฝนตกปรอยแต่ทุกคนต่างสะท้อนถึงความสนุกสนานในการเรียนรู้

“ผมได้ไอเดียหลายอย่าง ที่บ้านผมก็ปลูกกาแฟ แต่ขายเมล็ดกาแฟสดๆ ซึ่งได้ราคาต่ำ พอมาเห็นกระบวนการผลิตกาแฟของบ้านพนาสวรรค์ ทำให้อยากกลับไปทำเช่นนี้ที่บ้านบ้าง” วัฒนา ท่อเสถียรธรรม หรือ กันต์ นักศึกษาปี 2 เล่าถึงสิ่งที่ได้จากการลงพื้นที่ดูการผลิตกาแฟ “พนาสวรรค์คอฟฟี่” ของชาวบ้าน

ครอบครัวของกันเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ม้ง มีบ้านเดิมอยู่ที่อำเภอเวียงแก่น จังหวัดเชียงราย พ่อแม่ของเขามีอาชีพปลูกกาแฟขายเช่นเดียวกับคนในหมู่บ้าน แต่ด้วยรายได้ที่ไม่พอเลี้ยงครอบครัว เมื่อจบ ม.3 เขาแทบไม่มีโอกาสได้ได้เรียนต่อ จนกระทั่งครูที่ปรึกษาได้แนะนำทุนของ กสศ.ซึ่งเปิดรับเป็นปีแรก ด้วยการที่เป็นเด็กเรียนดีได้เกรดเฉลี่ย 3.47 ทำให้เขาได้รับการคัดเลือกได้รับทุนมาเรียนที่มหาวิทยาลัยราชมงคลล้านนาในคณะวิศวกรรมไฟฟ้า ซึ่งเขาบอกว่า การที่ได้มาเรียนรู้นอกห้องเรียนครั้งนี้ ทำให้ได้เห็นอะไรใหม่ๆ ได้ความรู้กว้างขวางขึ้นสามารถนำไปต่อยอดโครงการในมหาวิทยาลัยได้

ขณะที่เฟรน หรือ น.ส.สุธิดาพร มูลสวัสดิ์ นักศึกษาด้านเมคคาทรอนิกส์ กล่าวว่า เมื่อเรียนจบ ม.3 ก็ไม่คิดว่าจะได้เรียนต่อเพราะครอบครัวยากจน แม่ต้องเลี้ยงลูก 5 คนเพียงลำพัง เพราะพ่อทิ้งไปตั้งแต่เธออายุ 2 เดือน แต่เมื่อมีอาจารย์มาแนะนำทุน กสศ.ให้จึงสนใจ และเมื่อทราบว่าไม่ต้องใช้ทุน เพียงแค่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของ กสศ. ในการเข้าเรียนและรักษาผลการเรียนก็พอ จึงตัดสินใจรับทุนเรียนต่อ

“มาร่วมกิจกรรมครั้งนี้ ทำให้เห็นว่าคนบนดอยอาจจะลำบากกว่าคนเมือง แต่เขาอยู่อย่างพอเพียงและมีความสุข เขามีวัฒนธรรมที่น่าสนใจมาก หนูเองก็อยากเป็นจิตอาสา เพราะเป็นคนชอบธรรมชาติ อยากเป็นครูบนดอย สอนเด็กๆ เพราะเห็นในหลายพื้นที่ที่ห่างไกลที่ไม่มีครู”

น.ส.ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมและทุนการศึกษา กสศ. กล่าวว่าการสนับสนุนให้เด็กๆ  ได้เรียนต่อในระดับสูงอย่างเดียวไม่น่าจะเพียงพอเพราะเด็กๆ กลุ่มนี้ขาดโอกาสมาก่อน ดังนั้นจึงควรมีกิจกรรมที่หล่อหลอมและพัฒนาศักยภาพ รวมถึงการทำงานเป็นทีม โดยการรู้จักชุมชนและสิ่งแวดล้อมซึ่งต้องเรียนรู้นอกห้องเรียน กิจกรรมที่มูลนิธิ พชภ. จัดขึ้นครั้งนี้เป็นการเปิดการเรียนรู้นอกห้องเรียนทั้งด้านความหลากหลายชาติพันธุ์และสิ่งแวดล้อม ทำให้เด็กๆสนุกและมองเห็นกว้างขวางขึ้น

น.ส.ธันว์ธิดากล่าวว่า โครงการให้ทุนการศึกษาเด็กกลุ่มนี้ ปีละ 2,500 คน เป็นระยะเวลา 5 ปีรวม 12,500 คน โดยจะเป็นต้นแบบโดยพัฒนาควบคู่ไปกับการให้ทุนสนับสนุนสถาบันการศึกษา รวมถึงส่งเสริมให้มีงานทำ

น.ส.ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักนวัตกรรมและทุนการศึกษา กสศ.

Related Posts

Send this to a friend

Thailand Web Stat