‘ไรเดอร์’ ร้องตั้งกองทุนชดเชยกรณีประสบอุบัติเหตุ และเสียชีวิตจากการทำงาน
กลุ่มไรเดอร์ ร้องกระทรวงแรงงาน ตั้งกองทุนชดเชยให้ไรเดอร์ที่ประสบอุบัติเหตุ และเสียชีวิตจากการทำงาน
วันนี้ (30 ส.ค. 66) กลุ่มไรเดอร์ และครอบครัวไรเดอร์ที่เสียชีวิตจากการทำงาน เข้ายื่นหนังสือถึงกระทรวงแรงงาน เรียกร้องให้มีการจัดตั้งกองทุนเงินทดแทน-ชดเชยเยียวยา สำหรับไรเดอร์ที่ประสบอุบัติเหตุจากการทำงาน โดยมีนายเกษมสันต์ เครือเจริญ ผู้อำนวยการกองคุ้มครองแรงงานนอกระบบ เป็นตัวแทนรับหนังสือ
สุภาภรณ์ พันประสิทธิ์ ตัวแทนไรเดอร์ เปิดเผยว่า พวกเรามาเรียกร้องให้ได้อยู่ในระบบแรงงาน เราอยากได้กองทุนทดแทนรายได้สำหรับไรเดอร์ที่ประสบอุบัติเหตุ ที่ผ่านมามีไรเดอร์หลายคนที่ประสบอุบัติเหตุและเสียชีวิต ซึ่งยังไม่ได้รับเงินเยียวยาหรือเงินชดเชย โดยไรเดอร์ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกันตน มาตรา 39 และ 40 มีสิทธิ์การรักษาบัตรทอง 30 บาท แต่กรณีเกิดอุบัติเหตุ บริษัทฯ จะให้ใช้สิทธิ์เบิก พ.ร.บ.รถจักรยานยนต์ จากนั้นจึงให้ใช้สิทธิ์ที่มี หรือต้องสำรองจ่ายก่อนหลักหมื่นถึงหลักแสนบาท ซึ่งไรเดอร์ไม่มีเงินจ่าย ทั้งนี้กรณีที่ต้องเบิกค่ารักษาพยาบาลกับบริษัท ก็ใช้เวลานาน 15-30 วัน ทดแทนเคสละไม่เกิน 10,000 บาท
สุภาภรณ์ ฝากถึงรัฐบาลที่จะเข้ามาใหม่ ให้ช่วยออกมาตรการคุ้มครองแรงงาน กำกับดูแลแพลตฟอร์ม ควบคุมค่ารอบ ค่าแรง เราอยากเข้าระบบประกันสังคม มาตรา 33 ได้เงินชดเชยโดยไม่ต้องควักเงินตนเอง ระบบรับงานของไรเดอร์มีทั้งการจองรอบ การขาดงาน และการปฏิเสธรับงาน ดังนั้นเราจึงทำงานเช่นเดียวกับลูกจ้าง
“ชีวิตไรเดอร์ ค่าตอบแทนสูงต้องแลกด้วยชีวิตและความเสี่ยงบนท้องถนน เราออกมาทำงานโดยที่ไม่รู้ว่าจะได้กลับบ้านหรือเปล่า จึงอยากให้มีกองทุนทดแทน ให้เราเป็นลูกจ้างในระบบ”
พวกเราต้องการให้กระทรวงแรงงานคุยกับแพลตฟอร์ม เพราะที่ผ่านมาพวกเราโดนคุกคามทั้งกายและวาจา แต่เมื่อแจ้งแพลตฟอร์มไป แพลตฟอร์มกลับแบนไม่ให้ลูกค้าเจอเรา ซึ่งเท่ากับว่าลูกค้าอาจไปคุกคามไรเดอร์คนอื่นอีก ไรเดอร์จึงรู้สึกไม่ปลอดภัย ไม่ได้รับความยุติธรรม แพลตฟอร์มไม่เคยฟังเสียงไรเดอร์ ฟังแต่เสียงลูกค้า ทั้งที่เราทำงานด้วยความลำบากและอยู่บนความเสี่ยง
มณีวรรณ มณีศรีขำ อดีตไรเดอร์ ผู้ประสบเหตุขณะทำงานจนทำให้เป็นผู้พิการ เปิดเผยกับ The Reporters ว่า เดิมทีเธอทำงานให้คำปรึกษาด้านการออกแบบและควบคุมงานก่อสร้าง แต่เศรษฐกิจแย่จึงผันตัวมาเป็นไรเดอร์ ตั้งแต่ประสบอุบัติเหตุเมื่อ 2 ปี ก่อน บริษัทไม่เคยช่วยเหลือเยียวยาใด ๆ ทำให้สูญเสียรายได้ ครอบครัวขาดเสาหลัก จึงอยากให้กระทรวงแรงงานช่วยส่งเสริมอาชีพสำหรับผู้พิการ เพื่อให้เกิดการสร้างงานสร้างอาชีพในระยะยาว
ไพศาล บุญลี ญาติของน้องแพร ไรเดอร์วัย 20 ปีที่เสียชีวิตขณะทำงานเมื่อวันที่ 15 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบันคดีความยังไม่คืบหน้า คู่กรณียังปัดความรับผิดชอบ และครอบครัวที่ขาดเสาหลักยังไม่ได้รับการเยียวยาใด ๆ
ผู้อำนวยการกองคุ้มครองแรงงานนอกระบบ กล่าวภายหลังรับหนังสือว่า เบื้องต้นจะมีคำตอบให้กับกลุ่มไรเดอร์ภายใน 7 วัน โดยขณะนี้กระทรวงแรงงานได้ทำร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงานอิสระ อยู่ระหว่างการเสนอเข้าที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา ซึ่งจะครอบคลุมกลุ่มไรเดอร์ และกองทุนชดเชยที่ไรเดอร์ร้องขอด้วย