HUMANITY

บอร์ด กสศ. เสนอ ครม.เคาะงบแก้การศึกษาเหลื่อมล้ำ ปี 67 วงเงิน 7.9 พันล้าน

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานกรรมการบริหารกองทุน เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เสนอ ครม.เคาะงบแก้เหลื่อมล้ำการศึกษาปี 67 วงเงิน 7.9 พันล้าน สนับสนุนมาตรการฟื้นฟูเด็กเยาวชน จากผลกระทบโควิดกลับสู่ภาวะปกติ เพิ่มอัตราเงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไข ให้นักเรียนยากจนพิเศษ 1.3 ล้านคนสู้ค่าครองชีพพุ่ง โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามเห็นชอบแผนการใช้เงิน กสศ.ปีงบประมาณ 2567 วงเงิน 7,985,786,100 บาทแล้ว โดยคณะรัฐมนตรีเตรียมพิจารณา ในวันพรุ่งนี้ (24 มกราคม 2566)

ดร.ประสาร เปิดเผยว่า “ในการประชุมคณะกรรมการบริหาร กสศ. เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2565 ได้มีมติเห็นชอบให้เสนอแผนการใช้เงิน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 ต่อคณะรัฐมนตรี ตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติกองทุน เพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา พ.ศ. 2561 ที่ให้รัฐบาลจัดสรรเงินอุดหนุนให้กองทุนเป็นรายปี ตามแผนการใช้เงินที่คณะกรรมการฯ และคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ โดยจัดสรรให้เพียงพอตามแผนการใช้เงิน ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์และแผนปฏิรูปประเทศ”

สำหรับปีงบประมาณ 2567 คณะกรรมการบริหาร กสศ. ได้จัดทำข้อเสนอวงเงินรวม 7,985,786,100 บาท มีแผนการใช้เงินสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561-2580 ด้านที่ 4 การสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติประเด็นที่ 17 ความเสมอภาคและหลักประกันทางสังคม และขั้นตอนการปฏิรูปประเทศตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 พ.ศ. 2566-2570 หมุดหมายที่ 9 ไทยมีความยากจนข้ามรุ่นลดลง คนไทยมีความคุ้มครองทางสังคมที่เพียงพอ เหมาะสม และหมุดหมายที่ 12 ไทยมีกำลังคนสมรรถนะสูง มุ่งเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ตอบโจทย์การพัฒนาแห่งอนาคต

“ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบในวงกว้าง แก่ประชาชนคนไทยทุกคน โดยเฉพาะครัวเรือนที่มีรายได้น้อย จากการวิเคราะห์ของคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และกสศ. พบว่ารายได้เฉลี่ยของครอบครัวเด็ก และเยาวชนกลุ่มยากจนพิเศษจำนวน 1.3 ล้านคน ลดลงเหลือ 1,044 บาทต่อเดือน หรือคิดเป็นวันละ 34 บาทเท่านั้น แหล่งรายได้ของครอบครัวร้อยละ 59 มาจากสวัสดิการรัฐและเอกชน ขณะที่การช่วยเหลือนักเรียนกลุ่มนี้ของ กสศ. ด้วยทุนเสมอภาคในระดับการศึกษาภาคบังคับ อัตรา 3,000 บาท/คน/ปีการศึกษา พบปัญหาเงินเฟ้อทำให้มูลค่าที่แท้จริง ของทุนเสมอภาคเหลือเพียง 2,728 บาท จึงมีโอกาสสูงมาก ที่ครัวเรือนยากจน จะได้รับผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นมากในปีนี้ อันจะนำไปสู่ความเสี่ยงที่บุตรหลาน จะหลุดออกจากระบบการศึกษา ทำให้ความยากจนถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น”

“จากสถานการณ์แนวโน้มของเศรษฐกิจ ที่ค่าครองชีพจะเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ครัวเรือนยากจนพิเศษผู้มีรายได้น้อยที่สุดของประเทศ ยังคงอยู่ในภาวะความเสี่ยงที่ลูกหลานอาจหลุดจากระบบการศึกษา คำของบประมาณปี 2567 คณะกรรมการบริหาร กสศ.จึงเห็นควรเสนอเพิ่มอัตราเงินอุดหนุนอย่างมีเงื่อนไข หรือ ทุนเสมอภาค ขึ้นอีก 750-1,050 บาทต่อเทอม ตามระดับการศึกษาตั้งแต่อนุบาลถึง ม.ต้น เพื่อบรรเทาปัญหาค่าใช้จ่าย ให้กับครัวเรือนยากลำบากร้อยละ 15 ที่มีรายได้น้อยที่สุดของประเทศ ให้เป็นไปตามเจตนารมณ์แห่งรัฐธรรมนูญมาตรา 54 วรรคหนึ่ง”

โดยงบประมาณปี 2567 มุ่งเน้นทำงานร่วมกับหน่วยงานหลัก เพื่อสนับสนุนการสร้างระบบหลักประกันโอกาสทางการศึกษา ป้องกันเด็กและเยาวชน ไม่ให้หลุดจากระบบการศึกษา กลไกส่งต่อให้เข้าสู่การศึกษาสูงกว่า ภาคบังคับจนถึงอุดมศึกษาหรือสายอาชีพ ทั้งยังช่วยเด็กและเยาวชนนอกระบบ ให้กลับเข้าสู่การเรียนรู้และพัฒนาทักษะชีวิต ทักษะอาชีพที่ตอบโจทย์ชีวิตตามศักยภาพและความถนัดเป็นรายบุคคล นอกจากนี้ยังครอบคลุมด้านการฟื้นฟู การเรียนรู้จากผลกระทบโควิด-19 ให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ สนับสนุนการกระจายอำนาจ แก้ความเหลื่อมล้ำในระดับจังหวัดและพื้นที่ รวมถึงการหนุนเสริมการพัฒนาคุณภาพ สถานศึกษาและยกระดับศักยภาพครู ทั้งในและนอกระบบการศึกษา เพื่อส่งเสริมความเสมอภาค ทางการศึกษาในภาพรวมของประเทศ”

ด้าน ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่า “ ข้อเสนองบประมาณดังกล่าว ได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ จากทุกภาคส่วนในสังคมเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ กสศ.ยังได้ร่วมกับสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า สำรวจความเห็นประชาชน ร่วมกันออกแบบอนาคตการศึกษา เพื่อปิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำ โดยสุ่มกลุ่มตัวอย่าง 1,310 คนทั่วประเทศ อายุตั้งแต่ 15-60 ปีขึ้นไป สำรวจความเห็นผ่าน 3 คำถามสำคัญ ประกอบด้วย ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ทางการศึกษาเรื่องใดที่เห็นว่าต้องเร่งแก้ไข พบว่า ความเห็นอันดับ 1 ร้อยละ 24.99 มองว่าปัญหาคุณภาพการศึกษา ของแต่ละโรงเรียนที่ไม่เท่าเทียมกัน อันดับ 2 ร้อยละ 17.39 ปัญหาด้านคุณภาพ และทักษะการสอนของครู และอันดับ 3 ร้อยละ 15.04 ปัญหาภาระค่าใช้จ่ายทางการศึกษาสูงเกินจะแบกรับ”

“เมื่อถามว่านโยบายหรือมาตรการแก้ปัญหาใด ที่เห็นว่าควรผลักดันให้เกิดขึ้นโดยเร็ว อันดับ 1 ร้อยละ 21.87 เพิ่มอัตราเงินอุดหนุนทางการศึกษา ให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน อันดับ 2 ร้อยละ 20.69 จัดให้มีสวัสดิการด้านการศึกษา อย่างครอบคลุมทุกพื้นที่ทั้งในเมืองและนอกเมือง อันดับ 3 ร้อยละ 10.97 ปฏิรูปการจัดสรรงบประมาณ ให้แก่โรงเรียนตามความจำเป็นที่แท้จริง และเมื่อสำรวจความเห็นว่ากลุ่มเป้าหมายใด ที่ต้องเร่งช่วยเหลือด้านการศึกษา อันดับ 1 ร้อยละ 34.89 คือกลุ่มการศึกษาภาคบังคับ (ระดับอนุบาลถึง ม.ต้น หรืออายุ 6-15 ปี) อันดับ 2 ร้อยละ 31.68 กลุ่มเยาวชนและแรงงานนอกระบบ ที่ไม่ได้รับการศึกษา อันดับ 3 ร้อยละ 19.54 กลุ่มปฐมวัยระดับเตรียมอนุบาลถึงอนุบาล อายุ 2-5 ปี”

Related Posts

Send this to a friend

Thailand Web Stat