HUMANITY

กทม. ประชุมหารือ มูลนิธิกระจกเงา ส่งเสริมการสร้างอาชีพให้กับคนไร้บ้าน

“ชัชชาติ” เผย การร่วมมือของภาคประชาสังคม กับภาครัฐจะเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่ ชี้การแจกเงิน ไม่สามารถแก้คนไร้บ้านได้ แต่ต้องจัดจ้างงาน และต้องจ้างอย่างมีศักดิ์ศรีไม่ใช่จ้างเพราะสงสาร

วันนี้ (20 ก.ค. 65) เวลา14:30 น. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชกาากรุงเทพมหานคร และคณะ ร่วมประชุมหารือแนวทางการประสานการทำงานร่วมกับมูลนิธิกระจกเงา ในการช่วยเหลือ รวมถึงการสร้างทักษะอาชีพให้กับคนไร้บ้าน, คนจนเมือง, และผู้สูงอายุ พร้อมรับฟังข้อเสนอแนะในการดำเนินการด้านต่าง ๆ รวมถึงรับฟังปัญหาหรืออุปสรรคในการดูแลกลุ่มคนไร้บ้าน และกลุ่มผู้ป่วยที่มีอาการทางจิต เพื่อให้ได้รับการรักษา รวมทั้งสามารถพัฒนาทักษะด้านต่าง ๆ ให้สามารถประกอบอาชีพ และสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้

จากนั้น นายสมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด ได้พาผู้ว่า ฯ และรองผู้ว่า ฯ เข้าตรวจเยี่ยมโกดังสำหรับการคัดแยกของที่รับบริจาค รวมถึงการจัดแยกของหรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ที่สามารถนำไปบริจาคต่อให้กับคนที่ด้อยโอกาส สถานศึกษา หรือมูลนิธิที่เกี่ยวข้อง อาทิ เสื้อผ้า, หนังสือเรียน, เครื่องดนตรี, อุปกรณ์ช่วยเหลือผู้พิการ, เครื่องนุ่งห่ม, อุปกรณ์ด้านกีฬา เป็นต้น

นาย ชัชชาติกล่าวว่า วันนี้เป็นโอกาสที่ดีที่ทาง กทม.ได้แวะมาเยี่ยมมูลนิธิกระจกเงา โดยตอนที่ตนได้หาเสียงเลือกตั้งผู้ว่า ฯ ซึ่งทางมูลนิธิกระจกเงาก็ได้มีการจัดให้มีการคุยเรื่องนโยบายที่เกี่ยวกับคนไร้บ้าน ที่สี่แยกคอกวัว ซึ่งคนไร้บ้านนั้นจะต้องไม่โอกาส และไม่ไร้สิทธิ ตนจึงมีแนวคิดเรื่องของการทำบ้านอุ่นใจเพิ่ม หรือการจัดการด้านต่าง ๆ ทั้งการหางาน และหาอาหารหรือที่อยู่พักชั่วคราวให้

วันนี้ก็เป็นนิมิตรหมายที่ดี และนี้ก็คือพลังของภาคประชาสังคมในการแก้ปัญหาของเมือง ซึ่งบางทีทางกทม.เองก็ไม่ได้กำลังขนาดนี้ในการจัดการ จากการมาเยี่ยมชมวันนี้ก็พบเห็นหลายอย่าง ไม่ใช่มีแค่มิติของคนไร้บ้าน แต่ยังมีมิติของการจัดการขยะ การรีไซเคิลขยะ ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของเมือง โดยการใช้แรงงานผู้สูงอายุ ซึ่งยังมีคุณค่า การสร้างความภาคภูมิใจให้กับชีวิต รวมถึงการมีสังคมร่วมกันที่ไม่ใช่มีแค่ผู้สูงอายุที่นอนติดเตียง อีกทั้งยังมีอาสาสมัครคนรุ่นใหม่ที่มาเจอกับคนรุ่นผู้สูงอายุ และได้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน

อีกทั้งการจัดการขยะของกทม. กับมูลนิธิกระจกเงานั้นแตกต่างกัน เพราะการจัดการขยะของกทม. คือรายจ่าย กำจัดออกไป แต่กับมูลนิธิกระจกเงา การจัดการขยะคือรายได้ ซึ่งมุมมองนั้นต่างกัน รวมถึงการจัดการขยะของทางมูลนิธิกระจกเงา หรือมูลนิธิอื่น ๆ นั้นยังช่วยเสริมเรื่องของการสร้างงาน และการแยกขยะของเมือง

นายชัชชาติ กล่าวต่อว่าการแก้ปัญหาคนจนเมือง คนไร้บ้าน ไม่ใช่แค่การเอาเงินไปให้ การทำแบบนั้นไม่สามารถแก้ปัญหาได้เลย เพราะถมเท่าไหร่ก็ไม่เต็ม ซึ่งการจะแก้ปัญหาคือการจ้างงาน อีกวิธีคือการจ้างงานที่มีศักดิ์ศรี ไม่ใช่การจ้างงานที่มาจากความสงสาร การจ้างงานที่มีศักดิ์ศรีต้องมาจากการจ้างงานที่ตลาดต้องการจริง ๆ มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ สร้างความภาคภูมิใจให้กับคนทำ และต้องมีการฝึกฝน ซึ่งเป็นหน้าที่ที่ กทม. จะต้องมีการดูเพิ่มเติมในบางจุด เพื่อให้สอดคล้องต่อความต้องการของตลาดด้วย

รวมถึงการเป็นเมืองแบ่งปันสำคัญ ถ้ามีของเหลือใช้อย่าไปโยนลงขยะ โอกาสจะอยู่ใหลุมฝังกลบเยอะมาก ให้ส่งมามูลนิธิฯ คัดแยก สร้างรายได้ให้กับผู้สูงอายุ คนไร้บ้าน สุดท้ายแยกไม่ได้ก็เผาทำเป็นเชื้อเพลิง มีประโยชน์มากกว่าลงหลุมฝังกลบ

“การร่วมมือกันของภาคประชาสังคม กับภาครัฐเป็นเรื่องสำคัญ ทำให้เกิดพลังบวกทวีคูณ แต่ถ้าต่างคนต่างทำไม่ได้เป็นพลังบวก รัฐเองก็ไม่ได้เข้าใจหน้างานลึกในพื้นที่ ของภาคเอกชนแต่มีเรื่องระเบียบต่างๆ ถ้า 2 คน รวมกันได้จะเป็นพลังที่ยิ่งใหญ่” นายชัชชาติกล่าว

ด้าน นายศานนท์กล่าวว่า ได้เห็นการทำงานของมูลนิธิกระจกเงาในด้านต่าง ๆ ซึ่งสิ่งที่จะต้องทำต่อไปคือการเรียนรู้โมเดลที่ทำร่วมกัน ซึ่งนโยบายนึงคือการเปิดบ้านอิ่มใจขึ้นมาใหม่ และการสร้างพื้นที่สวัสดิการ ที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยนใหม่ คือการให้สวัสดิการก่อน เช่นการหางาน สังคม การจัดส่วนต่าง ๆ รวมถึงการจัดหาที่พัก

ในส่วนของการแยกขยะ ได้มีการพูดคุยร่วมกัน ระหว่างกทม. และมูลนิธิ ว่ากทม.เองนั้น มีอัตราการจ้างงานหลายภาคส่วน และจะนำส่วนนี้มาเสริมว่าจะทำยังไงให้คนไร้บ้านมีการจ้างงานสร้างอาชีพ ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องการจัดหาที่อยู่ให้เพียงอย่างเดียว

ซึ่งเบื้องต้นที่คุยกันคือการนำเขาเข้ามาในระบบ การจัดจ้างงาน4วัน ต่อสัปดาห์ เพื่อไม่ให้คนเหล่านี้หลุดออกจากระบบ เมื่อเข้ามาก็สามารถมีงาน มีบ้าน มีสวัสดิการ และกลับไปสู่สภาวะปกติ สามาใช้ชีวิตอย่างคนปกติได้

นายสมบัติกล่าวว่า เนื่องจากมูลนิธิเป็นภาคประชาสังคม ถือได้ว่าเป็นองค์กรที่อยู่ส่วนหน้าของการปะทะกับปัญหา และมีประชาชนติดต่อเข้ามาขอความช่วยเหลือเป็นจำนวนมาก ซึ่งทางเราก็เห็นปัญหาเป็นส่วนใหญ่ ๆ อยู่ เช่น ปัญหาคนไร้บ้าน คนจนเมือง และสังคมกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ดังนั้น ทางเราจึงจำเป็นต้องกันงานบางส่วน หรือออกแบบงานบางประเภทให้กับผู้สูงอายุ ที่เป็นคนจน และต้องการที่จะทำงาน ไม่เช่นนั้นคนเหล่านี้ อยู่ที่บ้านอาจจะสูญเสียความสามารถในการพึ่งพาตนเองด้านเศรษฐกิจ แล้วก็จะกลับออกมาเป็นปัญหาต่อไป

ซึ่งหากเราสกัดโดยการเอางานมาแก้ปัญหา เราก็สามารถสร้างประสิทธิภาพให้กับสังคมได้ และเราเชื่อว่า ถ้าเราเอาผู้สูงอายุ และคนไร้บ้าน มาช่วยในการจัดการ สิ่งที่สังคมเรียกว่าการแยกขยะ แต่สำหรับเราคือการจัดการพลาสติก การจัดการกระดาษ หรือการจัดการสิ่งของ ถ้าหากเราจัดการสิ่งเหล่านี้ได้ จะเป็นการสร้างงานอย่างมหาศาล และจำทำให้มีระบบหมุนเวียนทางเศรษฐกิจขับเคลื่อนไป เปลี่ยนภาระกลายเป็นพลังเพื่อขับเคลื่อนสังคม

นายสมบัติ กล่าวว่า ตอนนี้มีการจ้างจำนวน 150 คน ส่วนการคิดค่าแรง ผู้มาฝึกงานจ่ายค่าแรง สำหรับผู้สูงอายุ ,คนไร้บ้าน ทำงานที่มูลนิธิกระจกเงา คิด 500 บาทต่อวัน ส่วนคนที่ไปทำความสะอาดกับสำนักงานเขต 400 บาทต่อวัน โดยตัวเลขค่าแรงนี้สามารถให้คนจนเมืองใช้ชีวิตอยู่ได้จริง โดยผู้ที่ทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ สามารถเช่าห้องพักได้ ซึ่งทางมูลนิธิ ฯ จะสนับสนุนค่าที่พัก 1 เดือนแรก พร้อมอุปกรณ์การดำรงชีพต่างๆ เช่น ที่นอน หมอน หม้อหุงข้าว

Related Posts

Send this to a friend

Thailand Web Stat