ภาคประชาสังคม ย้ำปัญหา ฝากรัฐบาลสมัยหน้ายกเป็นวาระแห่งชาติ
วันนี้ (20 เม.ย. 66) ที่ลานคนเมือง แอมแนสตี้ ประเทศไทย ร่วมกับองค์กรภาคประชาชนหลายส่วนจัดเวทีคุย “วาระสิทธิมนุษยชน : ถึงเวลาพรรคการเมืองฟังเสียงประชาชน” ร่วมพูดคุยกับ ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการ แอมเนสตี้ ประเทศไทย , ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการ กรีนพีซ ประเทศไทย, นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ ผู้อำนวยการเครือข่ายรัฐสวัสดิการเพื่อความเท่าเทียมและเป็นธรรม (We Fair), คอรีเยาะ มานุแช ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ, สุรศักดิ์ เนียมถนอม รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ (swing) และพรพนา ก๊วยเจริญ ผู้อำนวยการ Land Watch Thai กลุ่มจับตาปัญหาที่ดิน
ปิยนุช ระบุว่า การตั้งเวทีพูดคุยในวันนี้เพราะอยากเอาเรื่องสิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติให้เกิดได้จริง จึงได้พูดคุยหลายกลุ่มทั้งภาคประชาชน ภาคสังคม และทางแอมแนสตี้มี 4 ข้อเสนอ ดังนี้
1.เสรีภาพการแสดงออก ในช่วงที่ผ่านมาเกิดการชุมนุมขึ้นในหลายพื้นที่ แบะมีประชาชนถูกจับดำเนินคดีอย่างต่อเนื่อง แต่ปัญหาที่ประชาชนออกมาเรียกร้องไม่ใช่เพียงแค่การขับไล่รัฐบาลเท่านั้น แต่ยังมีเรื่องปัญหาเศรษฐกิจ การจัดการกับการแพร่ระบาดของโควิด 19 ซึ่งผู้ที่ถูกจับกุมนั้น มีเยาวชนรวมอยู่ในนั้นด้วย จึงอยากเสนอให้พรรคการเมืองที่เข้าสภาในรอบนี้ พิจารณากฎหมายยกเลิกความผิดบางมาตรา ทบทวนบุคคลที่ถูกดำเนินคดีในประมวลกฎหมายอาญาในมาตาต่าง ๆ รวมถึงพิจารณาให้นิรโทษกรรมบุคคลที่ออกมาเรียกร้อง แสดงออกทางการเมืองตั้งต่ในช่วงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และอยากให้พรรคการเมืองสนใจเรื่องสื่อออนไลน์ด้วย อย่างพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ ที่ออกมาเพื่อปราบปรามการโกงออนไลน์ แต่ที่ผ่านมาถูกใช้ในทางการเมืองด้วย จึงต้องทบทวน และยกเลิกประกาศดังกล่าว พร้อมขอให้ถอนร่าง พ.ร.บ. ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานสื่อมวลชน
2.เสรีภาพการชุมนุม รัฐควรได้รับการอบรมสั่งสอน ตัวอย่างการชุมนุมในช่วงการประชุมเอเปคที่ผ่าน มีเยาวชนโดนจับ มีคนตาบอด จึงควรมีการเยียวยา และรับผิดชอบในสิ่งรัฐที่ทำ
3.เสรีภาพสมาคม รัฐต้องถอนพ.ร.บ.องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร คนที่เสียผลประโยชน์คือประชาชน เพราะไม่สามารถรวมตัวกันออกมาเรียกร้องได้
4.พ.ร.บ. ทรมานอุ้มหายที่มีการเลื่อนออกไป การรับผิดรับชอบไม่ให้มีการลอยนวลพ้นผิดจากสิ่งที่รัฐทำกับประชาชน
“ฝากถึงพรรคการเมืองในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในอนาคต ว่ากว่า 7,000 คนที่ต้องเสีนชีวิตในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต้องอยู่อย่างหวาดกลัว คำถามคือ เราอยากเห็นระบบหรือสิ่งที่เป็นรูปธรรมที่สามารถทำให้ประชาชนเห็นถึงการปกป้องคุ้มครองสิทธิ์ไม่ให้ประชาชนกลัว เห็นการรับผิดรับชอบหากเจ้าหน้าที่รัฐละเมิดสิทธิ์ประชาชน พร้อมแสดงให้เห็นว่าสิทธิมนุษยชนเป็นวาระสำคัญในการเปลี่ยนแปลงประเทศ” ปิยนุชกล่าว
ธารา ระบุว่า สิทธิในการอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ดี คือสิทธิมนุษยชนที่เราต้องตระหนัก และรับรู้ ทั้งอากาศสะอาด สิ่งแวดล้อมที่ดีต่อสุขภาพ การใช้ชีวิตอย่างยั่งยืน ซึ่งสมัชชาแห่งสหประชาชาติรับรอง และเรียกร้องให้ศาลระหว่างประเทศ เพื่อให้แต่ละประเทศปฏิบัติตามที่ไปลงนามไว้ ให้ตระหนักเรื่องสิ่งแวดล้อม โดยแคมเปญเลือกตั้งที่ทางกรีนพีซทำนั้น ก็มีหลายพรรคการเมืองมีนโยบายด้านนี้ แต่อยากให้มีการบัญญัติเรื่องนี้ในกฎหมายรัฐธรรมนูญ เพราะคนที่ได้รับผลกระทบคือประชาชน
“สิทธิเสรีภาพ พื้นที่แสดงความคิดเห็น และนักปกป้องสิทธิมนุษยชน คนเหล่านี้มีความเสี่ยงสูงเพราะอยู่หน้าด่านในการปกป้องระบบนิเวศ ที่ช่วยทำให้เรามีอากาศหายใจ ที่เราทุกคนอาศัยตรงนี้ สิทธิในการดำรงชีวิต ผู้คน ชุมชน เด็ก คนจนเมือง ได้รับผลกระทบจากสิ่งแวดล้อม เราอยากเห็นพรรคการเมืองนำเรื่องนี้เข้าไปในสภาด้วย” ธารากล่าว
นิติรัตน์ ระบุว่า ทางเครือข่าย We Fair ได้ยื่นข้อเสนอทั้ง 9 ข้อต่อหลายพรคการเมืองแล้ว ได้แก่เงินอุดหนุนเด็กเยาวชนถ้วนหน้า, การศึกษาฟรี, หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าเท่าเทียม, การเข้าถึงสิทธิที่อยู่อาศัยและที่ดิน, งานและรายได้ที่เป็นธรรม, ประกันสังคมถ้วนหน้า, บำนาญถ้วนหน้า, สิทธิทางสังคมพหุวัฒนธรรม และปฏิรูปภาษีและงบประมาณ โดยพรรคการเมืองที่ผ่านมามีทั้งแนวอนุรักษ์นิมยม แนวทุนนิยมหรือเสรีนิยม แต่ก็ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำได้ ทางเราจึงเชื่อในแนวทางสังคมนิยมประชาธิปไตย หรือสวัสดิการถ้วนหน้า
คอรีเยาะ กล่าวว่า แรงงานข้ามชาติในไทยมีอยู่ 2.4 ล้านคน ซึ่งมีอีกจำนวนมากที่ไม่อยู่ในระบบ ซึ่งเราต้องมีการจดทะเบียนเพื่อช่วยให้เข้าสู่ระบบแรงงาน และยังมีอีกหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้องเช่นการทำ MOU มีคนที่รอเข้ากระบวนการซึ่งตอนนี้ยังไม่มีการขึ้นทะเบียน มีแรงงานกว่า 7 แสนคนหลุดจากระบบ และการคุ้มกันแรงงานประมงที่ต้องกำหนดกฎหมายนโยบายต่าง ๆ ไม่ตรงตามอนุสัญญาที่มีการลงนามไว้ อยากให้ใช้แนวปฏิบัติอย่างเคร่งครัดตามหลักกฎหมาย รวมถึงมองเรื่องสิทธิมนุษยชนด้วย
สุรศักดิ์ กล่าวว่า ต้องแยกระหว่างการค้าประเวณีกับค้ามนุษย์ ซึ่งทาง Swing มีการต่อสู้มาแล้ว กว่า 60 ปี โดยระยะเวลาที่ผ่านมา แนวโน้มการประกอบอาชีพนี้ก็ไม่ลดลง เพราะฐานของไทยทุกด้านไม่ได้ส่งเสริมให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น และอาชีพค้าบริการทางเพศไม่ถูกมองว่าเป็นอาชีพในทุกมิติ ไม่อยู่ในประกันสังคม ปัญหาเหล่านี้มาจากการไม่ถูกยอมรับจากสังคม ต้องมองตามหลักความเป็นจริง และหลักความเป็นมนุษย์ ต้องดูมิติที่หลากหลาย คนที่เขียนนโยบายต้องมองในส่วนนี้ด้วย
พรพนา ระบุว่า แผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 1 มีการระบุเรื่องการถือครองที่ดินเอาไว้ แต่ไม่มีใครปฏิบัติตาม รวมถึงไม่ถูกใส่ใจจากรัฐ ทำให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ดินของรัฐมานาน ถูกดำเนินคดี และการถือครองพื้นที่ส่วนใหญ่ในประเทศ เป็นของคนส่วนน้อยเท่านั้น
“ประเทศไทยไม่เคยสนใจสิทธิชุมชน รัฐสนใจแค่สิทธิปัจเจกกับสิทธิของรัฐ อยากเห็นรัฐบาลในอนาคต ช่วยยหยิบเอาประเด็นที่ดินมาเป็นวาระแห่งชาติ แก้ไขกฎหมายที่ไม่เป็นธรรม ออกกฎหมายการถือครองที่ดินมาช่วยประชาชนในประเทศ” พรพนากล่าวทิ้งท้าย