เปิดข้อเสนอร่างแผน NAP ระยะที่ 2 ฉบับภาคประชาสังคม จี้ภาคธุรกิจหยุดละเมิดสิทธิชุมชน
มูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน เครือข่ายติดตามการลงทุนไทยและความรับผิดชอบข้ามพรมแดน (ETOs Watch) และภาคีเครือข่าย รวบรวมข้อเสนอแนะที่มีต่อแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (National Action Plan on Business and Human Rights: NAP) ระยะที่ 1 (2562-2565) และ ระยะที่ 2 (2566-2570) มายื่นต่อกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ โดยระบุว่า แผนปฏิบัติการฯ ระยะที่ 2 ควรจัดให้มีการรับฟังความเห็นอย่างแท้จริง จัดให้มีการประเมินการปฏิบัติงาน กำหนดให้ดำเนินการคุ้มครองสิทธิและแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม เสริมสร้างความเข้าใจให้ภาคธุรกิจเคารพสิทธิมนุษยชน คำนึงตามกฎหมายและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ นอกจากนี้รัฐควรกำหนดประเด็นเร่งด่วนที่ต้องเร่งแก้ไขใน 1 ปี และประเด็นระยะยาว 5 ปี ตามลำดับความสำคัญด้วย
สำหรับแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (National Action Plan on Business and Human Rights: NAP) ระยะที่ 1 (พ.ศ.2562-2565) เกิดขึ้นจากการที่รัฐบาลตระหนักถึงปัญหาสิทธิมนุษยชน ที่เกิดจากการประกอบธุรกิจ โดยมีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม เป็นหน่วยงานหลักในการจัดทำแผนปฏิบัติการฯ โดยเชื่อมโยงกับหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UN Guiding Principle on Business and Human Rights: UNGOs) โดยประเด็นหลัก (Key Priority Area) ที่บรรจุไว้ในแผนปฏิบัติการฯ มี 4 ประเด็น ได้แก่
- แรงงาน
- ชุมชน ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- นักปกป้องสิทธิมนุษยชน
- การลงทุนระหว่างประเทศ และบรรษัทข้ามชาติ
แผนปฏิบัติการฯ ระยะที่ 1 จะสิ้นสุดการบังคับใช้ในเดือนตุลาคม 2565 กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ จึงเปิดรับฟังความเห็นจากภาคส่วนต่าง ๆ ถึงวันที่ 19 กันยายน 2565 เพื่อนำไปพิจารณาเพิ่มเติมในร่างแผนปฏิบัติการฯ ระยะที่ 2 ซึ่งอยู่ระหว่างการจัดทำ และจะบังคับใช้ในปี 2566-2570
นางสาว ส.รัตนมณี พลกล้า ทนายความและผู้ประสานงานมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชน เปิดเผยว่า แผนปฏิบัติการฯ ระยะที่ 1 เหมือนนำก้อนหินก้อนหนึ่งถมลงทะเล มองเห็นแรงกระเพื่อมเล็กน้อย บางหน่วยงานพยายามพูดถึงเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน เริ่มจากการป้องกันไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในองค์กร แต่ข้อบกพร่องที่ใหญ่มากคือ การไม่นำพาภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมตามที่ได้กำหนดไว้ โดยยกตัวอย่างข้อเสนอแนะ 4 ประเด็นหลักที่ถูกบรรจุในแผนปฏิบัติการฯ
ประเด็นแรงงาน เสนอให้เจ้าหน้าที่รัฐและบริษัทพิจารณาและรับรองสถานะของแรงงานข้ามชาติ และผู้ติดตามอย่างถูกต้องกฎหมาย คุ้มครองสิทธิครอบคลุมการถูกจับกุมดำเนินคดี และบริการด้านสุขภาพ เสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2562 เพิ่มหมวดคุ้มครองการใช้แรงงานคนพิการ และกำหนดตัวชี้วัดให้หน่วยงานรัฐจ้างงานคนพิการตามกฎหมายกำหนด
ประเด็นชุมชน ที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เสนอให้ปฏิรูปการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) โดยให้มีหน่วยงานกลางมาจัดทำรายงาน EIA แทนการที่เจ้าของโครงการจ้างบริษัทที่ปรึกษามาจัดทำรายงาน ออกกฎหมายเกี่ยวกับการจัดทำรายงานการศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ (SEA) กำหนดคณะทำงานที่มาจากหลายภาคส่วน
ประเด็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ควรเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ “SLAPP” หรือการฟ้องคดีเพื่อมีวัตถุประสงค์กลั่นแกล้ง กำหนดมาตรการป้องกันการฟ้องคดี SLAPP ที่ชัดเจน โดยเสนอให้ออกกฎหมายเฉพาะ หรือแก้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 161/1 และ 165/2
นางสาว ส.รัตนมณี กล่าวต่อว่า SLAPP ไม่ควรเกิดขึ้นกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน กระบวนการยุติธรรมต้องเข้าใจว่า นักปกป้องสิทธิมนุษยชนคือใคร และควรได้รับการปกป้อง ส่วนประเด็นการลงทุนระหว่างประเทศ และบรรษัทข้ามชาติ ที่ผ่านมามักเกิดปัญหา “ทุนข้ามพรมแดน ผลกระทบข้ามพรมแดน แต่ความรับผิดชอบไม่ข้ามพรมแดน” จึงเสนอให้จัดทำ Trans-boundary SEA and Human Rights Due Diligence เพื่อเป็นเครื่องมือในการประเมินการลงทุน กำหนดให้มีกฎหมายชดเชยเยียวยา กรณีที่บริษัทไทยไปลงทุนในต่างประเทศ หรือบริษัทต่างประเทศเข้ามาลงทุนในไทย ส่วนโครงการใดที่รัฐเข้าไปสนับสนุน แล้วส่งผลกระทบต่อชุมชน จะต้องชะลอไว้ก่อน เพื่อแสดงความจริงใจกับประชาชน
สิ่งที่เรากังวลในตอนนี้คือ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ มอบรางวัลองค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชนให้กับบางองค์กรที่ยังมีข้อพิพาทเรื่อง การละเมิดสิทธิมนุษยชน เปรียบได้กับ “มือหนึ่งถือดอกไม้ มือหนึ่งถือดาบ” จึงอยากให้กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพทบทวนใหม่ โดยอนาคตควรเปิดช่องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความเห็นด้วย
นางจันทิมา ชัยบุตรดี กลุ่มนักรบผ้าถุง ตัวแทนเหล่า “มะ” จากอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา กล่าวว่า เมื่อปลายปี 2564 เคือข่ายจะนะรักษ์ถิ่น 36 คน บุกกรุงเทพฯ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลทำตามข้อตกลงกรณีปัญหานิคมอุตสาหกรรมจะนะ แต่กลับถูกสลายการชุมนุม และถูกจับกุมดำเนินคดี
“พี่น้องทุกคนมาด้วยสองมือ สองเท้า และหัวใจอันบริสุทธิ์ มาเพื่อปกป้องทรัพยากร ชุมชน และแหล่งอาหารของประเทศชาติ แต่ทำไมเราต้องถูกจับ จึงอยากเห็นกฎหมายด้านสิทธิมนุษยชนที่แท้จริง”
นายสมบูรณ์ คำแหง ที่ปรึกษาคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนภาคใต้ กล่าวว่า การที่ชุมชนต้องต่อสู้กับภาคธุรกิจเป็นเรื่องยากลำบาก และมีความเสี่ยง โดยยกตัวอย่างกรณีเหมืองแร่ในภาคใต้ ที่ตั้งบริษัทขึ้นมาเพื่อขอสัมปทานโดยไม่สนใจผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อชุมชน จึงอยากเห็นมาตรการกำกับควบคุมไม่ให้ภาคธุรกิจละเมิดสิทธิชุมชน
นายธีรยุทธ แก้วสิงห์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านพิทักษ์สิทธิและเสรีภาพ โฆษกกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กล่าวชี้แจงภายหลังรับข้อเสนอแนะจากภาคประชาสังคมว่า ปัจจุบันกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ได้ขยายเวลาการเปิดรับฟังความเห็นเป็นวันที่ 19 ตุลาคม 2565 เพื่อให้แผนปฏิบัติการฯ ระยะที่ 2 รัดกุมมากขึ้น ข้อเสนอแนะจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชนจะเป็นส่วนหนึ่งที่นำไปพิจารณา ส่วนประเด็นรางวัลองค์กรต้นแบบด้านสิทธิมนุษยชน องค์กรใดที่มีข้อพิพาท กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพได้ตีตกไปเป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ประเด็นใดที่มีข้อกังวลกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพก็พร้อมที่จะปรับเกณฑ์การประเมิน