HUMANITY

ออกกฎหมายมา 10 ปี แต่คืนสัญชาติให้‘คนไทย พลัดถิ่น ยังยากเย็น เหตุขาดแคลนเจ้าหน้าที่

ออกกฎหมายมา 10 ปี แต่คืนสัญชาติให้ ‘คนไทยพลัดถิ่น ยังยากเย็น เหตุขาดแคลนเจ้าหน้าที่-เครื่องมือ นักวิชาการแนะรัฐยกระดับความร่วมช่วยเหลือคนไทยติดแผ่นดินพม่า-สนับสนุนการศึกษา-ดำรงวิถีวัฒนธรรมไทย

วันนี้ (16 พ.ค. 65) นายบุญเสริม ประกอบปราณ ผู้ประสานงานเครือข่ายการปัญหาคนไทยพลัดถิ่น เปิดเผยว่าในวันที่ 28-29 พฤษภาคม 2565   เครือข่ายแก้ปัญหาการคืนสัญชาติคนไทย จังหวัดพังงา ระนองชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ ได้เตรียมจัดกิจกรรมเวที เล่าขานตำนานคน 20 ปีเครือข่าย 10 ปีกฎหมาย กับเส้นทางสู่ความเป็นพลเมืองไทย ณ โรงยิน อบจ.ระนอง อำเภอเมือง จังหวัดระนอง เพื่อให้สรุปบทเรียนการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาทั้งระดับพื้นที่ นโยบายของเครือข่ายและปัญหาอุปสรรค

นายบุญเสริมกล่าวว่า เครือข่ายฯได้รวมตัวมาตั้งแต่ พ.ศ 2545 โดยมีมูลนิธิชุมชนไท และภาคีความร่วมมือ สนับสนุนให้กลุ่มคนไทยพลัดถิ่น  ในจังหวัดระนองและประจวบคีรีขันธ์  ทำกิจกรรมร่วมกัน  เพื่อให้เกิดความเข้มแข็ง  รวมทั้งหาแนวทางในการแก้ปัญหาร่วมกัน อาทิ  การสำรวจข้อมูล  การจัดตั้งกลุ่มออมทรัพย์  การฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรม   การพัฒนาแกนนำเครือข่ายฯ  

รวมทั้งสื่อสารออกสู่สาธารณะ  โดยในการดำเนินงานมีนักพัฒนาที่ลงพื้นที่เพื่อเสริมความเข้มแข็ง ให้คำปรึกษาอย่างใกล้ชิดซึ่งเมื่อปี  2552  ได้เสนอร่าง พระราชบัญญัติสัญชาติ ฉบับที่ 5 แต่ติดค้างอยู่ในสภาฯ เป็นเวลานานนับปี  กลุ่มคนไทยพลัดถิ่นจึงเดินรณรงค์สาธารณะ “จากด่านสิงขรถึงรัฐสภา”  ใช้เวลา 14 วัน มีประชาชนสองข้างทางให้กำลังใจ  รวมทั้งสื่อมวลชนเกือบทุกสำนักทำข่าวต่อเนื่อง จนกระทั่งได้กฏหมายว่าด้วยการคืนสัญชาติไทยฉบับนี้มาบังคับใช้ตั้งแต่ 2555

นายบุญเสริมกล่าวว่า ในปีนี้ครบรอบ 20 ปีเครือข่ายการแก้ปัญหาคืนสัญชาติคนไทย และครบรอบ 10 ปี พ.ร.บ.สัญชาติ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2555 ผลของการประกาศใช้กฎหมายมีคนไทยพลัดถิ่นที่ได้รับการรับรองตามกฎหมายนี้  ประมาณ 10,462 คน จากกลุ่มเป้าหมายที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมการปกครองประมาณ 18,000 คน ทั่วประเทศ  

เนื่องจากมีข้อจำกัดในการปฏิบัติงานของผู้ที่เกี่ยวข้อง  ทั้งยังไม่มีความเข้าใจกฎหมายชัดเจน และมีปัญหาทัศนะคติและอื่นๆ  นอกจากนี้ยังมีคนไทยพลัดถิ่นที่ยังเข้าไม่ถึงสิทธิตาม พ.ร.บ.สัญชาติ เนื่องจากเป็นกลุ่มตกสำรวจ กลุ่มพลัดหลงทางทะเบียน กลุ่มถูกจำหน่าย ฯ กลุ่มมุสลิมมะริด อีก ประมาณ 27,757 คน ความล่าช้าจึงส่งผล ต่อสิทธิและสุขภาวะ อย่างมาก

นายภควินทร์ แสงคง ที่ปรึกษาเครือข่ายคนไทยพลัดถิ่น กล่าวว่า สาเหตุที่การคืนสัญชาติให้คนไทยพลัดถิ่นไม่เป็นไปตามเป้าหมายเนื่องจากพนักงานเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นที่ทำงานด้านนี้ มีจำนวนน้อย เครื่องมือต่างๆไม่พร้อมและไม่มีงบประมาณ ในส่วนของประชาชนเจ้าของปัญหายังมีความไม่เข้าใจต่อระเบียบปฎิบัติ เช่นเดียวกับผู้นำองค์การส่วนท้องถิ่น เช่น ผู้ใหญ่บ้านไม่เข้าใจประเด็นเรื่องคนไทยพลัดถิ่น ทำให้เกิดความล่าช้า ปัญหาที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือการใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่มากเกินไป เช่น การไปยื่นคำขอ นายทะเบียนปฎิบัติไม่เหมือนกัน บางแห่งบอกว่าต้องมีหนังสือตรวจโรค บางแห่งบอกว่าต้องไปทำประวัติอาชญากรรม กลายเป็นภาระให้ชาวบ้าน

ที่ปรึกษาเครือข่ายคนพทยพลัดถิ่น กล่าวว่าเสนอให้หลายฝ่ายทำงานร่วมกัน และได้มีการลงนามความร่วมมือระหว่าง กรมการปกครอง คณะนวตกรรมและนิติศาสตร์มหาวิทยาลัยรังสิต คณะนิติมหาวิทยาลัยทักษิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ(กสม.) มูลนิธิชุมชนไทและตัวแทนเครือข่าย โดยได้มีการฝึกอบรมบุคลากรเพื่อช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ในการทำงาน แต่ปรากฏว่าบุคลากรที่ผ่านการฝึกอบรมจากกรมการปกครองเหล่านี้กลับถูกปฎิเสธจากหน่วยงานราชการเสียเอง โดยอ้างว่าคนไม่ใช่เจ้าหน้าที่ ทำให้กระบวนการการคืนสัญชาติยิ่งล่าช้าเพราะเขาไม่เชื่อในข้อมูลที่เก็บจากบุคลากรที่ผ่านการอบรมทำ เช่นฝ่ายทะเบียนของอำเภอบางสะพานและอำเภอทับสะแก จ.ประจวบฯ ไม่ยอมรับข้อมูลเลย ขณะที่ฝ่ายทะเบียนในอำเมือง จ.ประจวบฯเอาด้วยทำให้แก้ปัญหาได้ 80-90%

“ทางออกในการเร่งคืนสัญชาติให้คนไทยพลัดถิ่น เราเสนอว่าการลงนามความร่วมมือยังใช้ได้ เพียงแต่การย้ายปลัดฝ่ายทะเบียนบ่อยครั้ง ทำให้เกิดปัญหาเพราะปลัดคนใหม่ต้องมาเริ่มต้นใหม่ ดังนั้นควรมีการกำหนดกรอบเวลาในการทำงานร่วมกันให้จบ นอกจากนี้ตัวปลัดที่รับผิดชอบควรเข้าใจและอยู่ในพื้นที่ต่อเนื่อง” นายภควินทร์ กล่าว

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะมีการอพยพของกลุ่มคนไทยพลัดถิ่นเข้ามาเพิ่มหรือไม่ นายภควินทร์กล่าวว่า มีบ้างแต่น้อยมาก เพราะก่อนหน้านี้อพยพมาเยอะมากแล้ว และคนที่เหลือส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัยผูกพันกับพื้นที่ ตนเห็นว่ารัฐควรตั้งหน่วยงานขึ้นมาศึกษาเรื่องไทยพลัดถิ่นเพื่อเป็นแนวทางในการช่วยเหลือเยียวยาร่วมกันเช่น ด้านการรักษาพยาบาล การศึกษา ด้านพื้นที่ทางความเชื่อและวัด รวมทั้งเรื่องเศรษฐกิจ

“เมื่อยอมรับว่าเขาเป็นคนไทย และมีการการแก้ไขกฏหมายเพื่อคืนสัญชาติให้พวกเขาแล้ว เราควรสนับสนุนให้เขาได้ดำรงวิถีชีวิตเช่นที่พวกเขาต้องการ แม้ดินแดนนั้นตกเป็นของพม่าแล้วก็ตาม เพราะอย่างไรเราก็เอาแผ่นดินกลับคืนไม่ได้ ถ้าใครจะกลับมาก็กลับแผ่นดินแม่ก็ขอให้กลับมาอย่างมีศักดิ์ศรี รัฐควรมีนโยบายพิเศษสำหรับคนกลุ่มนี้” ที่ปรึกษาเครือข่ายคนไทยพลัดถิ่น กล่าว

ด้าน รศ.ดร.กาญจนา  บุญส่ง  หัวหน้าศูนย์วิจัยสิงขร-มะริดศึกษาและดร.เอื้อมพร  โตภาณุรักษ์กุล เลขานุการศูนย์วิจัยสิงขร-มะริดศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี จ.เพชรุบรี ร่วมกันให้สัมภาษณ์ว่าจากการลงพื้นที่หมู่บ้านคนไทยพลัดถิ่นในฝั่งพม่าโดยเฉพาะหมู่บ้านสิงขร พบว่าคนไทยกลุ่มนี้มีความเป็นอยู่เหมือนชนบทในประเทศไทยเมื่อ 60 ปีก่อนคือมีความเป็นอยู่ที่พึ่งพาธรรมชาติ ขณะที่ที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำมาหากินยังไม่ได้รับการพัฒนาทางกายภาพ ถนนในหมู่บ้านมีไม่ทั่วถึงและไม่มีไฟฟ้าใช้ และการเรียนการสอนภาษาไทยต้องอาศัยวัดในการถ่ายทอด ขณะนี้วัฒนธรรมประเพณีซึ่งมีลักษณะเดียวกับคนไทยในภาคใต้บางอย่างเลือนหายไป

นักวิชาการจากศูนย์วิจัยสิงขร-มะริดศึกษากล่าวว่า ในด้านคุณภาพชีวิตเกี่ยวกับสุขอนามัยนั้น คนไทยพลัดถิ่นยังไม่มียารักษาโรคเหมือนในประเทศไทย และในพื้นที่ยังมียุงชุกชุมมาก โดยมีวัดไทยเป็นที่พึ่งซึ่งถือว่าเป็นสถาบันเดียวที่ยังอยู่และเป็นกำลังใจให้คนไทยพลัดถิ่นได้ยึดเหนี่ยวจิตใจ แต่ขณะนี้สภาพวัดเริ่มร้างมากขึ้นเนื่องจากมีคนไทยบวชน้อยลง

รศ.ดร.กาญจนาและดร.เอื้อมพร กล่าวว่า ในส่วนของมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี ได้เข้าไปส่งเสริมการจัดการเรียนการสอนภาษาไทยให้คนไทยกลุ่มนี้โดยสนับสนุนหนังสือสำหรับการอ่านและการเขียนภาษาไทยในระดับประถมศึกษา นอกจากนี้ได้สนับสนุนห้องสมุดรวมใจสำหรับการศึกษาหาความรู้

“เราคิดว่ารัฐบาลควรยกระดับให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูคนไทยกลุ่มนี้ในระดับนโยบาย ควรมีความร่วมมือระหว่างประเทศไทยและพม่าในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทยพลัดถิ่น และรัฐไทยควรมีนโยบายเยียวยาคนไทยพลัดถิ่นที่เสียโอกาสมาอย่างยาวนานให้การรับโอกาสด้านการศึกษาในประเทศไทย” นักวิชาการจากศูนย์วิจัยสิงขร-มะริด กล่าว

อนึ่ง คนไทยพลัดถิ่น คือ กลุ่มคนไทยที่อาศัยอยู่ในเขตวมะริด ทวาย ตะนาวศรี  ซึ่งเดิมเป็นเขตแดนไทยแต่เมื่อกว่า 100 ปีก่อนอังกฤษได้ทำการปักปันเขตแดนระหว่างไทยกับพม่าใหม่  ทำให้ดินแดนแถบนั้นกลายเป็นของพม่า แต่ชุมชนคนไทยจำนวนมากไม่ได้โยกย้ายกลับมาประเทศไทย 

ขณะที่รัฐบาลพม่าก็ไม่ได้ยอมรับให้เป็นพลเมืองพม่า และออกบัตรระบุว่า “ เป็นคนไทย ” คนกลุ่มนี้ยังมีวิถีชีวิตประเพณีวัฒนธรรมและภาษาแบบคนไทยปักษ์ใต้ จนเมื่อประมาณ 40 ปีที่แล้ว ในช่วงระยะที่รัฐบาลพม่าทำสงครามกับกลุ่มชาติพันธุ์ คนไทยกลุ่มนี้ได้รับผลกระทบอย่างหนักจึงโยกย้ายถิ่นฐานเข้ามาอยู่กับญาติพี่น้องในประเทศไทย บริเวณจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง พังงา และบางส่วนอาศัยในจังหวัดตาก  

แต่ทว่าคนกลุ่มนี้ไม่ได้การรับรองว่าเป็นคนไทย ทำให้ไม่ได้รับสิทธิตามพลเมืองไทยและถูกเอารัดเอาเปรียบ จนกระทั่งได้มีการแก้ไข พระราชบัญญัติสัญชาติฉบับที่ 5 เพื่อเปิดช่องทางให้คนกลุ่มนี้ได้คืนสัญชาติไทย แต่จนถึงขณะนี้การทำงานของกรมการปกครองเป็นไปอย่างเชื่องช้า โดยคาดว่ามีกลุ่มคนไทยพลัดถิ่นในประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 28,000 คน

Related Posts

Send this to a friend