HUMANITY

แรงงานกัมพูชาตกค้างในป่าชายแดนอรัญฯ นานนับปี สถานกงสุลเร่งช่วยเหลือ

แรงงานกัมพูชาตกค้างอยู่ในป่าชายแดนอรัญฯนานนับปี-กลับภูมิลำเนาไม่ได้หลังปิดด่านป้องกันแพร่ระบาดของโควิด อยู่ในเพิงเล็กๆ อดอยากหนัก สถานกงสุลเร่งช่วยเหลือ

วันนี้ (15 ส.ค. 64) ผู้สื่อข่าวพร้อมเจ้าหน้าที่ มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน หรือ LPN ได้ลงพื้นที่ป่าชุมชน ตำบลป่าไร่ อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ภายหลังรับทราบว่ามีแรงงานกัมพูชากลุ่มหนึ่งกำลังประสบความลำบากและต้องหลบอยู่ในป่าตั้งแต่เดือน กรกฎาคม 2563 หลังจากถูกเลิกจ้างเพราะไม่สามารถเดินทางกลับภูมิลำเนาในประเทศกัมพูชาได้เพราะการด่านปิดและไม่ได้รับข้อมูลข่าวสารใดๆ

ทั้งนี้จากการสำรวจพบว่า แรงงานกลุ่มนี้มีด้วยกัน 14 คน ประกอบด้วยผู้ใหญ่ 10 คนและเด็ก 4 คน อาศัยอยู่ในเพิงพัก 4 หลังขนาดกว้าง-ยาว 1×1 เมตร ทำด้วยเศษผ้า  เศษไม้ และถุงกระสอบ ให้พอกันแดดกันฝนและหลับนอนชั่วคราว โดยทั้งหมดเป็นเครือญาติกันมีถิ่นฐานบ้านเกิดที่หมู่บ้านปริกุ๊บ ตำบลปอยเปตจังหวัดบันเตียเมนเจย ซึ่งอพยพมาขายแรงงานตามฤดูกาล และไม่สามารถสื่อสารเป็นภาษาไทยได้

นายเกรียงศักดิ์  บุญแย้ม ผู้ประสานงานเครือข่ายช่วยเหลือแรงงาน กล่าวว่า แรงงานกัมพูชากลุ่มนี้มีฐานะยากจน โดยอาชีพเดิมเป็นชาวนา เข้ามารับจ้างทั่วไปทำทุกอย่างที่ทำได้ พองานเริ่มมีน้อยจึงเดินทางมาที่จังหวัดสระแก้วซึ่งเป็นชายแดนติดบ้านเกิด และต้องผ่านด่านจุดผ่อนปรนในอรัญประเทศ แต่การแพร่ระบาดของโควิดจึงกลับไม่ได้เพราะด่านปิด จึงเลือกปลูกเพิงพักอยู่ที่นี่จนถึงวันนี้ 

“พวกอยู่ที่นี่กันมาเกิน 1ปีแล้ว ปัญหาของเขาคือ พูดไทยแทบไม่ได้เลย มีหัวหน้าครอบครัว ชื่อ จันเตย วัย46 ปีเท่านั้น ที่พอพูดได้บ้าง ที่ผ่านมา แรงงานกัมพูชากลุ่มนี้แทบไม่ได้รับของบริจาคเพราะอยู่ในป่าหน่วยงานรัฐก็เข้าไม่ถึง บวกกับตัวแรงงานเองก็ออกไปไม่ถึงรัฐด้วย พวกเขาเลยลำบากมาก เหมือนอยู่ในอีกโลกหนึ่ง” นายเกรียงศักดิ์ กล่าว

นายเกรียงศักดิ์กล่าวว่า ตอนนี้ผู้หญิงต้องช่วยกันดูแลลูก  ส่วนผู้ชายออกไปรับจ้างข้างนอก ซึ่งคนไทยในละแวกนี้ต่างรู้สึกสงสาร หากพอมีงานจะว่าจ้างให้ทำ เช่น ทำไร่มันสำปะหลัง ก่อสร้าง แต่ระยะหลังๆ เมื่อสถานการณ์โควิดระบาดหนัก  คนไทยเองก็ไม่ไหวเหมือนกัน  ทำให้งานมีน้อย พวกเขาเลยไม่มีเงินซื้อข้าวปลาอาหาร และต้องอยู่กันแบบอดๆ อยากๆ

นายเกรียงศักดิ์กล่าวว่า เคยมีการประสานไปถึงหน่วยงานรัฐเพื่อขอความช่วยเหลือ แต่พวกเขาเป็นคนกลุ่มเล็กๆ และจัดอยู่ในกลุ่มแรงงานที่เข้ามาตามฤดูกาล ไม่มีพาสปอร์ต หรือไม่ได้เข้ามาตามข้อตกลงความร่วมมือ( MOU) แต่ใช้หนังสือผ่านแดน ดังนั้น คำตอบที่ได้จากหน่วยงานรัฐจึงมีเพียงให้รอก่อน 

“ขนาดแรงงานที่มาแบบ MOU  หรือคนที่มาแบบพาสปอร์ต เวลานี้ถ้ามีความประสงค์กลับประเทศ  ยังกลับไม่ได้เลยหน่วยงานรัฐยังแก้ปัญหาตรงนี้ไม่จบ  ทำให้แรงงานประเภทที่มาแบบตามฤดูกาลที่จัดว่ามีน้อยและยังติดอยู่ตามชายแดน  ยิ่งห่างไกลการได้กลับบ้าน ” นายเกรียงศักดิ์ กล่าว และว่า “ที่ผ่านมากงสุลใหญ่กัมพูชาในไทยได้มีการประกาศอยู่เรื่อยๆ ว่าใครอยากกลับบ้านเกิด ให้มาแจ้งเรื่อง แต่แรงงานกลุ่มนี้ เหมือนอยู่ในโลกอีกใบหนึ่งที่ถูกปิดไว้ด้วยป่า  จึงไม่ทราบประกาศดังกล่าวทำให้ต้องติดค้างไม่ได้กลับบ้านมาเป็นปี”

นายเสรี เนต กงสุลใหญ่ราชอาณาจักรกัมพูชา ประจำจังหวัดสระเเก้ว กล่าวว่า สถานกงสุลฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจ และได้การประสานส่งแรงงานกัมพูชากลับภูมิอยู่ตลอด โดยขอความอนุเคราะห์จากทางการไทยให้โควตาแรงงานได้กลับบ้าน แต่เนื่องจากการดำเนินการเรื่องนี้ ต้องจำเป็นต้องผ่านหลายฝ่าย และเป็นการตัดสินใจร่วมกันระหว่าง 2 ประเทศ ดังนั้นการส่งกลับแรงงานจึงต้องใช้เวลา

“นับตั้งแต่ช่วงต้นเดือนสิงหาคมเป็นต้นมา  มีแรงงานจากพื้นที่ชั้นในของประเทศไทย ทั้งจากกรุงเทพฯสมุทรสาคร และชลบุรี หลั่งไหลเข้ามาขอกลับภูมิลำเนาเป็นจำนวนมาก บางส่วนติดค้างตามป่าชายแดนตามเขตผ่อนปรนพิเศษ เช่น เขตอำเภอตาพระยา ทางกงสุลฯจึงจำเป็นต้องเร่งดำเนินการเรื่องนี้ก่อนเพราะผู้ประสบปัญหามีจำนวนมาก” นายเสรี เนต กล่าว

ด้านนายสมัคร ทัพทานี ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน หรือ LPN ซึ่งได้ลงพื้นที่ช่วยเหลือแรงงานในจังหวัดสระแก้ว กล่าวว่าอยากเห็นการร่วมมือที่ดีระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลกัมพูชาในการแก้ปัญหาโควิด19 ในจังหวัดสระแก้ว  ทั้งเรื่องวัคซีน เรื่องช่วยเหลือแรงงานที่ยังตกหล่นตามชายแดนจุดต่างๆ เช่น ในป่า 

“สำหรับแรงงานตามฤดูกาลกลุ่มนี้ น่าเห็นใจมาห พอชายแดนปิดด่าน พวกเขามักเป็นกลุ่มแรกๆ ที่เข้าไม่ถึงข้อมูลข่าวสาร ด้วยความที่การเข้ามาของเขา เข้ามาถูกต้องชั่วคราว ผ่านระบบบอร์เดอพาส ทางกระทรวงแรงงาน หรือทุกๆ หน่วยงาน ก็ควรหาทางลงไปช่วยพวกเขาตามหลักมนุษยธรรม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแจกข้าวของเบื้องต้นในระหว่างที่เขายังติดอยู่ หรือนำเขาเข้าระบบเพื่อส่งกลับด้วยในกรณีมีความประสงค์จะกลับบ้าน” นายสมัคร กล่าว

นายสมัครกล่าวว่า นอกจากนี้ควรให้คนพวกนี้ได้มีโอกาสรับวัคซีน ยา หน้ากากอนามัย ในช่วงเวลาที่มีการระบาดของโควิด เพราะในอนาคต หากไม่มีแรงงานเข้ามารับจ้างตามฤดูกาลอันเป็นเรื่องผ่อนปรนตามระเบียบของจังหวัดชายแดน  เจ้าของไร่ รายเล็กที่เป็นคนไทยจะลำบาก ส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปถึงระบบเศรษฐกิจระดับชุมชนได้

ขอบคุณภาพจาก Thiti Pleetong

Related Posts

Send this to a friend

Thailand Web Stat