ภาคประชาสังคมคัดค้าน-กังวล พ.ร.บ.อุ้มหาย เลื่อนไร้กำหนด
ภาคประชาสังคมคัดค้าน-กังวล พ.ร.บ.อุ้มหาย เลื่อนไร้กำหนด แม้หนึ่งวันก็สำคัญ คาดไม่ใช่ไม่พร้อม แต่กลัวทำงานแบบเก่าไม่ได้แล้ว
วันนี้ (12 ม.ค. 66) นางสมศรี หาญอนันทสุข รองประธานกรรมการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม อนุกรรมาธิการศึกษาการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน ในคณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรมและสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์กับ The Reporters ถึงกรณีที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ส่งหนังสือเรียนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ขอเสนอความเห็นให้ขยายเวลาบังคับใช้ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหาย
นางสมศรี เปิดเผยถึงการประชุมคณะอนุกรรมาธิการฯ เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 65 มีการเชิญทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาชี้แจง ซึ่งในตอนนั้น พลตำรวจเอก สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รอง ผบ.ตร.) ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่ได้บอกว่าทางตำรวจไม่พร้อม และทุกฝ่ายได้พูดว่ากำลังอยู่ระหว่างการเตรียมการ
แต่จากหนังสือของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กลับพบเหตุผลของความไม่พร้อมด้านงบประมาณ ทั้งๆ ที่ในที่ประชุมก็มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่เสนอไปว่า มีความยินดีที่จะเร่งรัดพิจารณาและหางบประมาณให้ เพื่อใช้ในการซื้ออุปกรณ์โดยเฉพาะกล้องบันทึกภาพติดตัว (Body Camera) แต่เมื่อวานนี้กลับได้ทราบข่าวว่าทางตำรวจไม่พร้อม ก็สร้างความตกใจเป็นอย่างมาก
ความจริงแล้วหากมีอุปสรรคในการอนุมัติงบ ก็สามารถแก้ปัญหาด้วยการเช่าได้ ซึ่งในการเช่านั้นไม่ได้เช่าให้กับตำรวจทุกคน แต่มีเพียงอย่างน้อยหนี่งชุดใน สน. หรือ สภ. สำหรับตำรวจที่ออกปฏิบัติหน้าที่เท่านั้น ดังนั้น จึงอยากจะฝากให้พิจารณาทบทวนอีกครั้งว่างบประมาณที่คำนวณไว้ว่าจะจัดซื้อถึง 3 พันกว่าล้านบาทนั้น จำเป็นต้องใช้ถึงเพียงนั้นหรือไม่
นางสมศรี ยังยกเหตุการณ์ก่อนหน้านี้ ที่ทางสำนักงานข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UN OHCHR) ได้แสดงความยินดีเกี่ยวกับการตรา พ.ร.บ.ซ้อมทรมาน-อุ้มหาย ขณะเดียวกัน ภาคประชาสังคมก็พร้อมที่จะอบรมประชาชนแล้ว เพราะประชาชนต้องรู้ว่าจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรในกฎหมายใหม่ เช่นเดียวกันกับที่เจ้าหน้าที่ต้องมีการอบรม
นางสมศรี กล่าวว่า เมื่อเรื่องทั้งหมดกลายเป็นแบบนี้ ภาคประชาสังคมก็คงจะต้องคัดค้าน เนื่องจากความไม่พร้อม ไม่ใช่ข้ออ้าง พ.ร.บ.ซ้อมทรมาน-อุ้มหาย ได้ผ่านมติของทั้งสองสภาอย่างเป็นเอกฉันท์ และมีเวลามาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 ดังนั้น คงไม่ใช่เรื่องของความไม่พร้อม แต่เป็นเรื่องของความกลัวที่ว่าจะทำงานกันแบบเก่าไม่ได้แล้ว
อีกทั้งการเลื่อนในครั้งนี้จะเลื่อนไปถึงเมื่อไรก็ไม่ได้ระบุแน่ชัด จึงสร้างความกังวลให้กับภาคประชาสังคมพอสมควร ทำให้ทางองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนต้องออกแถลงการณ์ว่าไม่เห็นด้วย และขอให้ทางภาคประชาชนให้ความสนใจกับเรื่องนี้
ท้ายสุดนี้ ขอยืนยันว่าภาคประชาสังคมไม่เห็นด้วยกับการเลื่อน พ.ร.บ. ซ้อมทรมาน-อุ้มหาย ในครั้งนี้ ดังนั้นขอให้คำนึงและเอาประชาชนเป็นศูนย์กลาง เพื่อที่ประชาชนจะได้ไม่ถูกรีดไถ ซ้อมทรมาน หรือถูกอุ้มหายอีก แม้หนึ่งวันก็สำคัญ ในขณะเดียวกันก็ทำเพื่อป้องกันไม่ให้ตำรวจโดนกล่าวหาในเรื่องที่ไม่เป็นความจริง จึงยืนยันว่า พ.ร.บ. นี้ทำเพื่อทุกฝ่ายอย่างแท้จริง