คณะกรรมการสิทธิฯ หารืออธิบดีกรมราชทัณฑ์ ประเด็นสิทธิผู้ต้องขัง-จนท.ช่วงโควิด-19
วันนี้ (11 มิ.ย. 64) ที่กรมราชทัณฑ์ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ หรือ กสม. นำโดย น.ส.พรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นางปรีดา คงแป้น กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ผศ.สุชาติ เศรษฐมาลินี กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ น.ส.ศยามล ไกยูรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ น.ส.ปิติกาญจน์ สิทธิเดช กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ และนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เดินทางเข้าพบและประชุมหารือร่วมกับ นายอายุตม์ สินธพันธ์ุ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เกี่ยวกับประเด็นสิทธิมนุษยชนของผู้ต้องขังและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
น.ส.พรประไพ กาญจนรินทร์ ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า การเดินทางมาในวันนี้เพื่อเป็นการร่วมกันรับทราบข้อมูลจากกรมราชทัณฑ์ เพื่อนำไปสื่อสารให้กับประชาชนโดยทั่วไปได้รับทราบ ว่าการบริหารของกรมราชทัณฑ์ตอบสนองต่อความห่วงใยของประชาชนอย่างไร เพื่อให้ทราบกระบวนการทำงานที่ครบถ้วน อีกทั้งยังเป็นการส่งเสียงและสนับสนุนการทำงานของกรมราชทัณฑ์ ถือเป็นการรับทราบข้อมูลอย่างครบถ้วน ซึ่งเป็นข้อมูลที่กรมราชทัณฑ์อาจจะไม่ได้มีโอกาสได้ออกข่าว โดยการทำงานของกรมราชทัณฑ์นั้น เป็นการทำงานภายใต้ข้อจำกัดทั้งเรื่องทรัพยากร สถานที่ จำนวนนักโทษที่มีมากกว่าอาคารสถานที่ หรือการรองรับประมาณ 1 ใน 3 ทำให้เห็นภาพที่ชัดเจนว่าภายใต้ข้อจำกัดเหล่านี้ กรมราชทัณฑ์สามารถบริหารจัดการได้อย่างมีคุณภาพ จึงต้องให้กำลังใจให้การทำงานในส่วนนี้มีประสิทธิภาพต่อไป
อย่างไรก็ตาม สำหรับประเด็นที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนมีความเป็นห่วงเพิ่มเติมนั้น น.ส.พรประไพ ระบุว่าคือเรื่องของการบริหารจัดการในระยะยาว ว่าจะสามารถลดปริมาณผู้ต้องขังได้ด้วยวิธีการอย่างไรบ้าง หรือมีกระบวนการยุติธรรมบางอย่างที่จะใช้ลงโทษทางเลือกจะทำได้อย่างไร จึงต้องมีการหารือกันต่อไป
ด้าน นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า สถานการณ์ที่ค่อนข้างแออัดและอัตราการติดเชื้อโควิด-19 ที่สูงในช่วงที่ผ่านมามีความน่าเป็นห่วง จึงต้องการมาดูเกี่ยวกับสิทธิของผู้ต้องขังในการได้รับวัคซีนและการดูแลรักษา ซึ่งคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ ได้รับข้อมูลว่าที่ผ่านมาการดำเนินการสามารถลดจำนวนผู้ติดเชื้อได้จำนวนมาก พร้อมการสอบถามเกี่ยวกับประเด็นสิทธิของผู้ต้องขังโดยรวม และในโอกาสต่อไปอาจไปดูในแง่ของกลุ่มผู้ต้องขังที่มีความเปราะบางอื่นๆ ต่อไป
ขณะที่ นายอายุตม์ สินธพันธ์ุ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า กรมราชทัณฑ์ได้รับความอนุเคราะห์จากกระทรวงสาธารณสุขและกรมควบคุมโรคในการช่วยเหลือเรื่องวัคซีนแก่ผู้ต้องขัง ในช่วงแรกได้รับประมาณ 40,000 โดส สำหรับการกระจายวัคซีนจะจัดส่งไปให้แก่พื้นที่สีแดงเป็นอันดับแรกในเรือนจำ 38 แห่ง ที่เหลือกระจายไปตามเรือนจำเขตต่างๆ ซึ่งยังไม่ครบทุกเขต ต้องเลือกเรือนจำที่มีความแออัดและผู้ต้องขังหนาแน่นเป็นอันดับแรกก่อน เช่นเรือนจำกลางระยอง เรือนจำกลางสมุทรปราการ เป็นต้น ด้านการกระจายวัคซีนนั้นกรมควบคุมโรคได้ทยอยส่งวัคซีนมาให้แก่กรมราชทัณฑ์ตามที่กรมราชทัณฑ์ได้เสนอขอไปจำนวนกว่า 3 แสนคน ส่วนเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ขณะนี้ฉีดวัคซีนไปแล้ว 12,000 กว่าคน เหลืออีกจำนวนไม่มากก็จะครบในการฉีดให้เจ้าหน้าที่
นายอายุตม์ ยังกล่าวด้วยว่า ตอนนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ในเรือนจำค่อนข้างดีขึ้น ซึ่งเรือนจำสีแดงที่ยังมีผู้ติดเชื้อมีอยู่ประมาณ 12 แห่ง จากเรือนจำ 143 แห่ง ขณะเดียวกันกรมราชทัณฑ์ได้ตั้งศูนย์เพื่อประชุมตรวจสอบตัวเลขกันทุกวัน ว่ามีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ รวมทั้งจำนวนผู้ต้องขังที่หายแล้วด้วย กรณีผู้ต้องขังที่เสียชีวิตกรมราชทัณฑ์ตั้งเป้าให้มีตัวเลขส่วนนี้ให้น้อยที่สุด เมื่อตรวจค้นแล้วพบว่ามีผู้ต้องขังติดเชื้อ จะคัดออกมาเอกซเรย์ปอดว่ามีเชื้อหรือไม่ หากมีเชื้อจะให้ยาฟาวิพิราเวียร์ เพื่อลดการสูญเสีย และจัดกลุ่มผู้ต้องขังเป็นสีแดง สีเหลือง และสีเขียว เพื่อให้เห็นจำนวนตัวเลขที่มีความชัดเจน ส่วนผู้ต้องขังเข้าใหม่ทางกรมราชทัณฑ์ได้จัดสรรสถานที่ข้างนอก โดยใช้เรือนจำชั่วคราวที่ตั้งขึ้นมา ซึ่งในเขตกรุงเทพฯ ได้มีการตั้งเรือนจำชั่วคราวรังสิต รับผู้ต้องขังเข้าใหม่จากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ สถานบำบัดกลางคดียาเสพติด และทัณฑสถานหญิงกลาง ส่วนเรือนจำเขตพื้นที่ธนบุรีจะไปติดต่อเรือนจำชั่วคราวที่จังหวัดนครปฐม เพื่อรับผู้ต้องขังเข้าใหม่ไม่ให้มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ผู้ต้องขังในกลุ่มสีเหลืองและสีแดง จะมีการแยกออกมาที่โรงพยาบาลทัณฑสถานราชทัณฑ์ ถนนงามวงศ์วานและเรือนจำกลางบางขวาง ที่มีโรงพยาบาลอยู่แล้ว ส่วนสีเขียวใช้โรงพยาบาลสนามแต่ละเรือนจำ กรณีกลุ่มผู้ต้องขังที่กำลังจะได้รับการปล่อยตัวจะมีการตรวจสอบอีกครั้งว่ามีเชื้อหรือไม่ หากครบกำหนดปล่อยจะมีสถานที่กักตัวรองรับหน้าเรือนจำคลองเปรมประมาณ 14 วัน หากไม่มีเชื้อจะประสานให้ญาติมารับกลับ ถ้าตรวจและพบว่ามีเชื้อจะประสานกระทรวงสาธารณสุขให้รับไปโรงพยาบาลสนามด้านนอกต่อไป
นายอายุตม์ ยังกล่าวถึง ประเด็นบุคลากรทางการแพทย์ว่า ขณะนี้มีบุคลากรทางการแพทย์ที่ไม่ได้สัดส่วนตามมาตรฐาน ซึ่งทางกรมราชทัณฑ์แก้ปัญหาโดยการคัดสรรพยาบาลที่อยู่ในเรือนจำสีขาว หมายถึงโรงพยาบาลที่ไม่มีผู้ติดเชื้อให้เข้ามาช่วยที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์ เพื่อดูแลผู้ป่วยและยังได้รับความอนุเคราะห์จากกองทัพบกที่ส่งแพทย์และพยาบาลมาช่วยสนับสนุน สำหรับเรือนจำที่เป็นสีแดงในเขตกรุงเทพฯ ด้วย