ชาติพันธุ์-ชนเผ่าประเทศไทย เรียกร้อง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิฯ
ชาติพันธุ์-ชนเผ่าประเทศไทย ร่วมกับ P-Move เข้าสภาฯ แจงเจตนารมณ์-สาระ ร่าง พ.ร.บ.คุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ที่เสนอโดยภาคประชาชน พร้อมส่งกำลังใจให้พี่น้องชาวจะนะที่ปกป้องทรัพยากรในท้องถิ่นตนเอง
วันนี้ (8 ธ.ค. 64) เวลา 09:30 น. ที่ห้องรับเรื่องร้องทุกข์ อาคารรัฐสภา กลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย ร่วมกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (ชปส./ P-Move) ยื่นหนังสือเสนอกฎหมายร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง พ.ศ. … ที่เสนอโดยประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้เข้าชื่อจำนวน 16,599 คน พร้อมเข้าชี้แจงเจตนารมณ์เนื้อหาสาระสำคัญของกฎหมายร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว ต่อคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฏร
นายเกียงไกร ชีช่วง เครือข่ายกะเหรี่ยงเพื่อวัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม อธิบายความสำคัญของร่างกฎหมายที่มาเสนอว่า ร่างนี้หลอมรวมทั้งแนวคิดภาครัฐ และเรื่องของภาคประชาชนที่มีประสบการณ์กับพี่น้องชาติพันธุ์ชนเผ่ามาอย่างยาวนาน รวมทั้งมีหลักการสากลอย่างการให้ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ คุ้มครอง ปกป้อง เยียวยา ส่งเสริมศักยภาพ และทำให้กฎหมายศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งจะช่วยรัฐราชการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนได้ ด้วยโครงสร้างกลไกมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น และแก้ปัญหาจากบริบทความแตกต่างในสังคมพหุวัฒนธรรมได้อย่างตรงจุด
“ยืนยันอีกครั้งว่า พ.ร.บ. หรือกฎหมายในลักษณะนี้ มีลักษณะเพื่อปกป้องและส่งเสริม ไม่ใช่ปกครองเพื่อแยกปกครองตนเองนะครับ แต่เป็นการช่วยรัฐลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม แก้ปัญหาสังคม ผมคิดว่าถึงเวลาแล้ว ที่ผ่านมาเป็นแค่มติ ครม. มันสะดุด ไปไม่สุด กฎหมายของภาคประชาชนจะมีกลไกการมีส่วนร่วมจริง ๆ และมีรายละเอียดที่โจทย์มากขึ้น”
สำหรับผลประโยชน์ที่จะได้รับจากร่างกฎหมายนี้ นายเกียงไกร เห็นว่ามีอยู่เบื้องต้น 3 ประการ คือ
- การปกป้อง เพราะคดีป่าไม้ที่ดิน คดีทรัพยากร พี่น้องเราก็โดนเยอะ ประโยชน์คือพี่น้องจะเข้าสู่คดีนี้น้อยลง ความสบายใจอยู่บ้านอยู่ช่องทำมาหากินก็จะคลายกังวลเรื่องตรงนี้
- การส่งเสริม เมื่อพื้นที่ไหนมีบริบท วัฒนธรรม องค์ความรู้โดดเด่น สามารถส่งเสริมไปในมิติของการจัดการชุมชน การท่องเที่ยวชุมชน การส่งเสริมความมั่นคงทางอาหาร การศึกษา ซึ่งรัฐแค่สนับสนุนตามกลไกงบประมาณ แล้วพื้นที่ก็เป็นคนจัดการ ให้ถูกที่ถูกทางมากขึ้น
- ประเทศเราไปลงนามข้อตกลงสากลอย่างน้อย 7 เรื่อง มิติหนึ่งก็คือพี่น้องชนเผ่า ซึ่งมีสถิติว่าเข้าไม่ถึงสิทธิต่าง ๆ จึงคิดว่าถึงเวลาที่ต้องมีกฎหมาย อย่างน้อยให้เข้าสภาฯ ไปได้ก่อน แล้วจะพิจารณากันก็เป็นไปตามกระบวนการประชาธิปไตย
“ที่เราเข้ามาวันนี้ต้องการแสดงและส่งกำลังใจให้พี่น้องชาวจะนะด้วย เพราะการปกป้องพื้นที่ของเขาเป็นสิทธิอันชอบธรรมเลย และเมื่อรัฐได้ลงนามสัญญาไปแล้ว แต่ไม่คืบหน้าแก้ปัญหาเลย พี่น้องชาวจะนะก็คงยืนยันหลักการนี้ที่รัฐไม่แก้ปัญหาเลย ชาวบ้านไม่ได้ประโยชน์อะไรจากการทำลายทรัพยากรธรรมชาติเลย และการชุมนุมเพื่อปกป้องทรัพยากรต้องทำลาย รัฐอ้างโควิดแล้วสลายการชุมนุมเป็นการละเมิดสิทธิมากกว่า ถ้ากังวลโควิดก็ไปอำนวยความสะดวกดีกว่า วันนี้ถือว่ารัฐประจานตัวเอง ประชาชนไม่เข้าถึงสิทธิและศักดิ์ศรีบ้านเมืองทรัพยากรตนเอง ซึ่งทรัพยากรนี้ก็เป็นของคนทั้งประเทศด้วย” นางเกียงไกร กล่าวเสริมในกรณีการเรียกร้องของชาวจะนะ
คณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์และผู้มีความหลากหลายทางเพศ สภาผู้แทนราษฏรกล่าวว่า “คณะกรรมาธิการของเราทำอยู่แล้ว เสนอร่างเข้าไปแล้ว มันอาจจะคล้ายคลึงกัน อาจจะปลีกย่อยบ้าง ในฐานะที่เป็นคนไทยเหมือนกัน แล้วไปเห็นสภาพชีวิตความเป็นอยู่ สวัสดิการต่าง ๆ ไม่มีเลย ความเป็นมนุษย์แตกต่างกันเหลือเกิน เพราะฉะนั้น เรายินดีรับร่างกฎหมายไปประกอบกัน สอดคล้องกัน แผ่นดินขวานทองเรานี้ทองจริงไหม คนทั้ง 56 ชนเผ่าต้องได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 70 ที่ตราไว้ ซึ่งยังไม่ได้เลย ยินดีผลักดันเรื่องนี้ และเป็นกำลังใจสู้ไปด้วยกัน”