กสศ. เผยเด็กกลุ่มเปราะบางเผชิญปัญหารอบด้าน ชี้ครอบครัวเป็นปัจจัยสำคัญ ช่วยเด็กพ้นภาวะวิกฤตการศึกษา

กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เผย ร้อยละ 40 ของครัวเรือนกลุ่มเปราะบาง 1.8 ล้านคน กำลังเผชิญปัญหาชีวิตรอบด้าน ต้องมีระบบคุ้มครองทางสังคมเพื่อเด็กและครัวเรือนกลุ่มเปราะบาง และส่วนกลางต้องสนับสนุนให้กลไกพื้นที่เข้มแข็ง พร้อมมีมาตรการให้พ่อแม่ผู้ปกครองของนักเรียนยากจน สามารถพึ่งพาตนเองได้ ไม่ใช่มาตรการสงเคราะห์เงินช่วยเหลือเพียงอย่างเดียว
ดร.ไกรยส ภัทราวาท ผู้จัดการ กสศ. กล่าวว่า จากแนวโน้มสถานการณ์ของครัวเรือนกลุ่มเปราะบาง 1.8 ล้านคน พบว่า กว่าร้อยละ 40 ของนักเรียนผู้รับทุนเสมอภาคและทุนปัจจัยพื้นฐานนักเรียนยากจนเป็นกลุ่มเปราะบาง เนื่องจากพ่อแม่แยกทางกัน ต้องอยู่กับญาติ ผู้สูงอายุ ผู้ว่างงาน หรือผู้พิการ การจัดสรรทุนเพื่อแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของนักเรียนที่ครัวเรือนมีความเปราะบางเพียงลำพัง จึงไม่เพียงพอต่อการแก้ไขปัญหา ต้องต่อยอดการชี้เป้าหมายนักเรียนทุนที่ต้องการความช่วยเหลือเพิ่มเติม นำไปสู่ความช่วยเหลือด้านสวัสดิการ และทรัพยากรจาก ชุมชนท้องถิ่น และหน่วยงานด้านสุขภาพ สังคม และครอบครัว เข้ามาดูแลเด็กเยาวชน และครัวเรือนเปราะบางที่ที่ซับซ้อนมากกว่าเรื่องความยากจนอย่างเร่งด่วน
จากการวิจัยของศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตการศึกษา กสศ. ซึ่งศึกษาจาก 848 กรณี พบว่า เด็กในกลุ่มวิกฤตการศึกษาจำนวนร้อยละ 73 มีปัญหาซับซ้อนมากกว่า 1 ปัญหา โยงใยมาที่ครอบครัว ทั้งด้านเศรษฐกิจ สุขภาพกายจิตใจ สวัสดิภาพความปลอดภัย ครัวเรือนเหล่านี้ตกอยู่ในภาวะสิ้นหวัง มองไม่เห็นโอกาสที่จะหลุดพ้นจากวิกฤตทางการเงิน การว่างงาน ครอบครัว ฯลฯ การให้เงินอุดหนุนช่วยเหลืออย่างเดียว ไม่สามารถช่วยให้เด็กพ้นวิกฤตได้ ต้องสนับสนุนให้ครอบครัวมีความสามารถในการอุปการะเลี้ยงดูเด็กได้ด้วย
“จากการทำงานที่ผ่านมา ของศูนย์ช่วยเหลือเด็กและเยาวชนในภาวะวิกฤตการศึกษา กสศ. พบว่าเด็กที่สามารถพ้นวิกฤตได้เป็นเพราะการมีส่วนร่วมของชุมชน ท้องถิ่น ในการปกป้องคุ้มครองดูแลเด็ก การสนับสนุนให้พ่อแม่สามารถมีอาชีพ จนหลุดออกจากกับดักความยากจนข้ามรุ่นได้สำเร็จ และการศึกษาที่ยืดหยุ่นตอบโจทย์เด็กและครัวเรือนสอดคล้องกับข้อจำกัดในชีวิตของเด็กและเยาวชนแต่ละคน” ดร.ไกรยส กล่าว
ดร.ไกรยส ชี้ว่า ปัญหาครอบครัวโยงใยทุกมิติ ทั้งวังวนความยากจนข้ามรุ่น การหย่าร้าง ภาวะสิ้นหวังในชีวิต และการใช้ชีวิตเร่ร่อนของพ่อแม่ การใช้ความรุนแรง การถูกทอดทิ้ง รวมทั้งคุณภาพของสภาพแวดล้อมรอบตัวเด็ก เช่น การพนัน ยาเสพติด การใช้ความรุนแรงมีอิทธิพลต่อความเสี่ยงด้านพฤติกรรมและการศึกษาของเด็กโดยตรง ดังนั้นจำเป็นต้องมีมาตรการเชิงรุก ในสองส่วน ประกอบด้วย
1.พัฒนาระบบคุ้มครองทางสังคมเพื่อเด็กและเยาวชน เชื่อมโยงทุกหน่วยงานในระดับชุมชน ท้องถิ่น ให้ทำงานร่วมกันเพื่อปกป้อง ดูแล คุ้มครอง เด็กและเยาวชนในทุกมิติ ทั้งสุขภาพกาย ใจ ครอบครัว สังคม และการศึกษา โดยเฉพาะจากสถานการณ์ที่มีความเสี่ยงต่อสวัสดิภาพความปลอดภัย ซึ่งส่วนกลางต้องสนับสนุนให้กลไกพื้นที่เข้มแข็ง
2.มีมาตรการให้พ่อแม่ผู้ปกครองของนักเรียนยากจน สามารถพึ่งพาตัวเองได้ ไม่ใช่มาตรการสงเคราะห์เงินช่วยเหลือเพียงอย่างเดียวแต่ไม่สามารถแก้ปมปัญหาที่แท้จริงได้
ที่ผ่านมา กสศ. ร่วมมือกับกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และมูลนิธิศูนย์วิจัยและติดตามความเป็นธรรมทางสุขภาพ พัฒนาระบบ “อพม.Smart” เพื่อแจ้งเหตุช่วยเหลือเด็กเยาวชนผู้ด้อยโอกาสที่ประสบปัญหาทางสังคม นอกจากนี้ กสศ. ยังร่วมกับ สพฐ. และกรมสุขภาพจิต พัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือ นักเรียน Online หรือ ระบบ OBEC for Care สนับสนุนให้เกิดกลไกการดูแลช่วยเหลือนักเรียนที่สอดคล้องกับความต้องการเป็นรายบุคคล เริ่มทดลองนำร่องในสถานศึกษาสังกัด สพฐ. ครอบคลุม 28 เขตพื้นที่การศึกษา มีสถานศึกษาเข้าร่วมโครงการ 1,050 แห่ง