HUMANITY

ไทยเตรียมเสนอรายงานทบทวนสถานการณ์ สิทธิมนุษยชนในไทย

ไทยเตรียมเสนอรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนไทย เน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ที่เชื่อมโยงกับหลักการประชาธิปไตย สันติภาพและสิทธิมนุษยชน

วันนี้ (4 ส.ค. 64) นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ไทยเตรียมเสนอรายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของไทย (Universal Periodic Review: URP) รอบที่ 3 ต่อคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติในช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม นี้

โดยระบุประเด็นสิทธิมนุษยชนที่ไทยให้ความสำคัญ คือ การพัฒนาที่ยั่งยืนภายใต้หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นแนวทางและหัวใจสำคัญของการทำงานของไทย เพราะรัฐบาลเห็นว่า ความยั่งยืนเกิดขึ้นได้เมื่อภาคประชาสังคม ภาคเอกชน อาสาสมัคร ผู้หญิงและเด็ก และภาคส่วนอื่น ๆ ได้รับการส่งเสริมและมีส่วนร่วมอย่างมีความหมายในสังคมและการปกครอง 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19  พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลยังเชื่อมั่นว่า ความยั่งยืนจะเกิดขึ้นเมื่อมีการฟื้นตัวของสังคมและเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงกับหลักการประชาธิปไตย สันติภาพและสิทธิมนุษยชน ด้วย

ทั้งนี้  โฆษกรัฐบาลเปิดเผยการดำเนินของรัฐบาลที่เน้นการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนรวมทั้งทิศทางในอนาคต ได้แก่  การคุ้มครองสิทธิในการพัฒนาและการขจัดความยากจน ทั้งทางสังคมและการเข้าถึงสาธารณูปโภค ซึ่งช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมารัฐบาลยังได้มีมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนที่ได้รับผลกระทบ อาทิ โครงการ “คนละครึ่ง” โครงการ “เราชนะ” เป็นต้น  สิทธิด้านสุขภาพ รัฐบาลส่งเสริมนโยบายหลักประกันสุขภาพรวมทั้งกำหนดเป้าหมายฉีดวัคซีนให้กับคนไทยอย่างน้อยร้อยละ 70 ภายในปี 64  รัฐบาลรับประกันการศึกษาสำหรับนักเรียนไทยรวมทั้งกลุ่มชาติพันธุ์ ผู้อพยพ แรงงานโยกย้ายถิ่นฐาน บุตรหลานแรงงานต่างด้าว รวมทั้งผู้พิการจะได้รับการศึกษาตามแผนการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ ฉบับที่ 3  ซึ่งเป็นการคุ้มครองสิทธิทางการศึกษา

รวมทั้งคุ้มครองสิทธิแรงงานทุกคนโดยไม่แบ่งแยกชาติพันธุ์ เชื้อชาติ หรือ สถานะอื่น ๆ เพิ่มสิทธิประโยชน์ลูกจ้างในกรณีว่างงาน   ขณะเดียวกัน ได้มีการทบทวนปรับปรุง พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์  พ.ศ. 2551 โดยบรรจุนิยามและคำชี้แจง “แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ” และ “การบังคับใช้แรงงานหรือบริการ” ที่ชัดเจนยิ่งขั้น เพิ่มมาตรการให้ความช่วยเหลือและคุ้มครองสวัสดิภาพ ของเหยื่อที่ถูกบังคับใช้แรงงาน เป็นต้น

รัฐบาลกำหนดให้กระบวนการยุติธรรมเป็น 1 ใน 11 ด้านการปฏิรูปประเทศ รวมทั้งพัฒนากลไกช่วยเหลือประชาชน อาทิ การจัดให้มีทนายความประจำสถานีตำรวจ การพัฒนาระบบการยื่นเอกสารและส่งคำคู่ความเอกสารผ่านระบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการคุ้มครองสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง โดยรัฐบาลเคารพและคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกและเสรีภาพของสื่อมวลชนอย่างสร้างสรรค์โดยไม่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ

นอกจากนี้ ยังดำเนินเกี่ยวกับสิทธิของกลุ่มเฉพาะ เช่น “เด็ก” มีกฎหมาย คุ้มครองเด็กจากสื่อออนไลน์  “สตรี” ส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศในสถานที่ทำงาน จัดทำร่าง พ.ร.บ คุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์  จัดทำร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต เพื่อให้กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศสามารถจดทะเบียนคู่ชีวิตได้ รวมทั้งจัดทำร่าง พ.ร.บ. ป้องกันและการบังคับบุคคลให้สูญหาย ซึ่งขณะนี้ อยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภา

“ในการประชุม ครม. ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีสั่งการหน่วยงานเร่งรัดผลักดันประเด็นสำคัญที่ยังคั่งค้างตามรายงาน URP รอบที่ 3 ที่ ครม. ให้ความเห็นชอบ เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนที่ครอบคลุมทุกด้าน รวมทั้งให้สนับสนุนแพลตฟอร์มการสื่อสารที่เปิดกว้าง และให้เข้าถึงข้อมูลได้มากขึ้น เพื่อประโยชน์ของประชาชนและรักษาสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก รวมทั้งสร้างความตระหนักรู้ให้กับหน่วยงานภาครัฐและประชาชนเกี่ยวกับความสำคัญของการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของสังคมด้วย” นายอนุชา ฯ กล่าว

Related Posts

Send this to a friend