HEALTH

ร่างกายแข็งแรง-ออกกำลังสม่ำเสมอ ไม่ได้แปลว่าหัวใจจะแข็งแรง หากไม่เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต

หลายคนอาจเคยตั้งคำถามว่าทำไมจึงมีข่าวนักกีฬาเสียชีวิตกะทันหันระหว่าการแข่ง-การฝึกซ้อม ทั้งๆ ที่เขาเหล่านั้นน่าจะมีร่างกายที่แข็งแรงกว่าคนทั่วๆ ไป และเหตุใดผู้ที่มีร่างกายแข็งแรง จึงจากไปแบบปัจจุบันทันด่วนด้วยโรคหัวใจได้ ทั้งๆ ที่ไม่มีสัญญานเตือนมาก่อน

คำตอบ คือ การออกกำลังกายสม่ำเสมอ ไม่ได้เป็นเครื่องการันตีว่าเราจะไม่เป็นโรคหัวใจ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจ และหลอดเลือด ย้ำกับเราว่า ไม่ว่าจะออกกำลังกายมากแค่ไหนหากมีพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่เหมาะสม ก็มีความเสี่ยงจะเป็นโรคหัวใจเช่นเดียวกัน และหลายๆ ครั้งการออกกำลังกายที่มากเกินไป หนักเกินไป ฝืนมากไปกลับเป็นสาเหตุที่ทำให้เป็นโรคหัวใจเสียด้วยซ้ำ

ปัจจุบัน โรคหัวใจและหลอดเลือด เป็น 1 ใน 3 สาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของคนไทย นอกจากโรคมะเร็งและอุบัติเหตุ เนื่องจากโรคหัวใจเรียกได้ว่าเป็นภัยเงียบ ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่รู้ตัวว่าเป็น และไม่เคยเข้ารับการตรวจหรือการรักษามาก่อน ยังไม่นับรวมการที่โรคหัวใจมักเป็นโรคที่ต่อเนื่องมาจากโรคเรื้อรังอื่นๆ อย่างเบาหวาน ความดัน และไขมันในเลือดสูง โดยโรคหัวใจที่คนไทยเป็นมากที่สุด คือโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ และกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง ซึ่งมักเกิดจากการสะสมของไขมันในผนังหลอดเลือด จนเกิดลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดหัวใจเฉียบพลัน ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตาย และมีอัตราการเสียชีวิตสูง โดยในอดีตมักเกิดกับผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป โดยพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง แต่ในปัจจุบันจากพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่เหมาะสม อาหารไขมันสูง ไปจนถึงการทานบุฟเฟ่ต์หรือปิ้งย่างเป็นประจำ ประกอบกับการใช้ชีวิตที่เร่งรีบ มีความเครียดสูง รวมถึงการดื่มแอลกอฮอล์ทำให้มีกลุ่มผู้อายุต่ำกว่า 40 ปี มีโอกาสเป็นโรคหัวใจและหลอดเลือดมากขึ้น

นายแพทย์ไพศาล กอบเกื้อชัยพงษ์

นายแพทย์ไพศาล กอบเกื้อชัยพงษ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคหัวใจและหลอดเลือด ศูนย์หัวใจและหลอดเลือดเซฟฮาร์ท-วัฒนา กล่าวว่า “พฤติกรรมการกินเป็นสิ่งแรกที่ควรปรับให้เหมาะสม เราจะเห็นได้ว่าปัจจุบันเราให้ความสำคัญกับการกินมาก แต่เป็นการให้ความสำคัญกับการกินที่อร่อยไม่ใช่การกินที่ดีต่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นของปิ้งย่าง อาหารรสเค็มจัด หวานจัด ขนม หรือเครื่องดื่มหวานมัน ไปจนถึงการทานบุฟเฟ่ต์ในปริมาณที่มากเกินความต้องการของร่างกาย ควรหันกลับมาเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ทานให้ครบ 5 หมู่ เพียงพอต่อความต้องการ ไม่ทานมากไปหรือน้อยไป และลดอาหารที่มีความเสี่ยงเช่นประเภทปิ้งย่าง หรือประเภทที่มีไขมันสูงๆ ต่อมาควรหันมาออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอและเหมาะสมกับสภาวะร่างกายของแต่ละคน โดยไม่จำเป็นต้องเป็นการออกกำลังกายที่หนัก เน้นที่การออกกำลังกายเบาๆ แต่ต่อเนื่องอย่างน้อยวันละครึ่งชั่วโมง อย่างการเดิน วิ่ง แกว่งแขน เต้นแอโรบิค หรือไทเก๊กก็ได้ เพื่อเพิ่มความแข็งแรงของการทำงานของหัวใจ”

คนไทยมักเข้าใจผิดว่า กินเข้าไปมากๆ เดี๋ยวไปออกกำลังกายหนักๆ เบิร์นเอาเดี๋ยวก็หมด ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ผิดเพราะอาหารที่มีไขมันสูง หรือปริมาณมากเหล่านี้ เมื่อทานเป็นประจำจะไปสะสมเป็นไขมันบนผนังหลอดเลือด ซึ่งการออกกำลังกายไม่สามารถไปสลายไขมันบนผนังหลอดเลือดได้ หรือผู้ที่ออกกำลังกายเป็นประจำ หรือแม้แต่นักกีฬาที่ออกกำลังกายมากๆ ก็จะคิดว่าตนเองร่างกายแข็งแรง แต่บางครั้งร่างกายแข็งแรงแต่หัวใจอ่อนแอก็ได้ หากเรายังมีพฤติกรรมการกินที่ผิดๆ และไลฟ์สไตล์ที่เต็มไปด้วยความเคร่งเครียด จึงเห็นได้ว่ามีผู้เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจเฉียบพลันระหว่างการวิ่ง หรือการออกกำลังเป็นจำนวนมากเช่นกัน

สัญญานของโรคหัวใจ คือ อาการแน่นหน้าอกตรงกลางในลักษณะของการเจ็บจุก บางครั้งอาจมีการเจ็บร้าวไปถึงกราม หรือร้าวไปที่หลังและแขนทั้ง 2 ข้าง ร่วมกับการเหนื่อยหอบ เหงื่อแตกและใจสั่น ซึ่งหากมีอาการครบทั้ง 3 ประการควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัย และตรวจสุขภาพหัวใจโดยด่วน นอกจากนั้นหากมีอาการวูบหรือเป็นลมไปโดยไม่มีสาเหตุ และฟื้นขึ้นมาอย่างรวดเร็ว ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจหัวใจเช่นกัน

นายแพทย์ไพศาล ได้ให้คำแนะนำสำหรับทั้งผู้ที่ยังไม่ป่วย และผู้ป่วยที่ได้ทำการรักษาไปแล้ว เกี่ยวกับการดูแลตัวเองในด้านหลักๆ 3 ด้านได้แก่ การรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ การออกกำลังกายอย่างถูกต้อง และการลดปัจจัยลบต่อร่างกายต่างๆ อาทิ การดื่มเหล้า การสูบบุหรี่ การพักผ่อนไม่เพียงพอ หรือสภาวะความเครียดต่างๆ

สำหรับกรณีที่มีข่าวเป็นระยะๆ ว่ามีผู้เข้าร่วมงานวิ่งเสียชีวิต หรือเกิดปัญหาสุขภาพ นายแพทย์สุขุม กาญจพิมาย ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า กระทรวงสาธารณสุขสนับสนุนให้คนไทยออกกำลังกาย ซึ่งการวิ่งเป็นการออกกำลังกายที่ได้รับความนิยมอย่างมาก อย่างไรก็ดี ผู้ชายที่มีอายุ 40 ปีและผู้หญิงอายุ 50 ปีขึ้นไป ขอให้ไปรับการตรวจสุขภาพประจำทุกปี ประเมินภาวะและความเสี่ยงสุขภาพ หรือโรคต่าง ๆ เพื่อให้ออกกำลังกายได้อย่างเหมาะสม ปลอดภัย โดยเฉพาะนักวิ่งมาราธอนที่ต้องวิ่งต่อเนื่องในระยะทางไกลจะต้องผ่านการฝึกซ้อมอย่างเป็นระบบ ต่อเนื่อง เพื่อให้ร่างกายมีการปรับตัวให้พร้อมกับกิจกรรมทางกายที่มีความเข้มข้นสูงและระยะเวลานาน มีการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี ประเมินร่างกาย และต้องเตรียมร่างกายให้มีความพร้อมก่อนวิ่งทั้งระบบกล้ามเนื้อ ระบบไหลเวียนโลหิตและหายใจ เพื่อป้องกันอาการหน้ามืด หายใจไม่ออก แน่นหน้าอก เจ็บกล้ามเนื้อ รวมถึงหมดสติและหัวใจหยุดเต้นได้ นักวิ่งจึงควรทานอาหารคาร์โบไฮเดรตให้มากขึ้นก่อนวิ่ง 1 วัน พักผ่อนให้เพียงพอ งดดื่มสุรา และเช้าวันวิ่งควรทานอาหารที่ไม่หนัก เช่น นม กล้วย นอกจากนี้ ควรเตรียมตัวและอุปกรณ์ป้องกันแสงแดด เช่น หมวก แว่นตากันแดด ครีมกันแดด

The Reporters ขอให้ทุกท่านปฏิบัติตามคำแนะนำที่ผู้เชี่ยวชาญให้ ดูแลรักษาสุขภาพ ออกกำลังกายให้เหมาะสมกับสุขภาพร่างกายของตนอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และเตรียมตัวให้พร้อมก่อนการเข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ เพื่อสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์

Related Posts

Send this to a friend

Thailand Web Stat