สบยช.ชวน ลด ละ เลิก การสูบบุหรี่ทุกชนิด เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก เสี่ยงได้รับนิโคตินทำให้สมองติดยา
วันนี้ (30 พ.ค. 66) นายแพทย์มานัส โพธาภรณ์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เผยแพร่ข้อมูล สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) ออกคำเตือนภัยบุหรี่ทุกชนิด เนื่องจากมีสารนิโคติน หรือสารเสพติดที่ทำให้สมองติดยา ทำลายสุขภาพทั้งตัวผู้สูบและคนรอบข้าง และเป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคเรื้อรัง ในหลายระบบของร่างกาย รวมถึงโรคถุงลมโป่งพอง พร้อมกันนี้ชวนนักสูบ ลด ละ เลิก การสูบบุหรี่ทุกชนิด เพื่อสุขภาพของตนเองและคนใกล้ชิด เนื่องในวันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปี เป็นวันงดสูบบุหรี่โลก
นายแพทย์มานัส กล่าวว่า “วันที่ 31 พฤษภาคม ของทุกปีถูกกำหนดให้เป็นวันงดสูบบุหรี่โลก โดยในปี 2566 ประเทศไทย ได้กำหนดประเด็นรณรงค์ไว้ว่า “บุหรี่ไฟฟ้ามีสารพิษ เสพติด อันตราย” ซึ่งในช่วงที่ผ่านมามีการเผยแพร่ความเข้าใจ ที่ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า ผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการสูบบุหรี่ไฟฟ้า สามารถช่วยเลิกบุหรี่ได้ หรือ บุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวน แต่ในความเป็นจริงแล้วทั้งบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่มวน มีสารนิโคตินเหมือนกัน ซึ่งนิโคตินเป็นสารที่ทำให้เกิดการเสพติด และทำให้เกิดโรคสมองติดยาแบบเดียวกับ ที่เกิดในเฮโรอีนและยาบ้าได้”
“นอกจากสารนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้า ยังมีสารปรุงแต่งกลิ่นรส ซึ่งทำให้ผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าเสพติดได้เช่นกัน การสูบบุหรี่ไฟฟ้าจึงไม่ได้ช่วยให้เลิกสูบบุหรี่มวนได้ แต่ผู้สูบจะเปลี่ยนจากการติดบุหรี่มวนมาติดบุหรี่ไฟฟ้าแทน และการสูบบุหรี่ไฟฟ้าก็ไม่ได้อันตรายน้อยกว่าการสูบบุหรี่มวน เพราะการสูบบุหรี่ไฟฟ้ามีผลข้างเคียงได้เร็ว รวมถึงส่งผลต่อร่างกายทั้งหลอดเลือด สมอง หัวใจ ระบบการหายใจ เช่น หอบหืด ภูมิแพ้ จากการทดลองในหนู ที่หายใจเอาไอน้ำบุหรี่ไฟฟ้าเข้าสู่ปอด พบว่า เยื่อบุหลอดลมและถุงลมปอดเกิดการอักเสบ และเกิดการเปลี่ยนแปลงเช่นเดียว กับปอดของหนูที่ได้รับควันบุหรี่ธรรมดา ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงระยะแรกที่พบในโรคถุงลมโป่งพอง”
ด้าน นายแพทย์สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า “บุหรี่ทุกชนิดเป็นภัยเงียบที่ส่งผลกระทบต่อผู้สูบ รวมไปถึงคนรอบข้าง เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคเรื้อรัง ในหลายระบบของร่างกาย เช่น โรคถุงลมโป่งพอง โรคมะเร็งปอด มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ โรคหัวใจและหลอดเลือด เสื่อมสมรรถภาพทางเพศ เป็นต้น สบยช.มีภารกิจหลักในการบำบัดรักษา และฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดทุกประเภท รวมถึงสุราและบุหรี่ เห็นความสำคัญของปัญหาการสูบบุหรี่ จึงจัดโครงการสัปดาห์รณรงค์วันงดสูบบุหรี่โลกประจำปี 2566 ขึ้น เพื่อร่วมรณรงค์ ส่งเสริม กระตุ้นให้ผู้เข้ารับบริการ ประชาชนทั่วไป”
“ตลอดจนบุคลากรของ สบยช.ตระหนักถึงโทษพิษภัยของบุหรี่ และมุ่งหวังให้เกิดการ ลด ละ เลิกการสูบบุหรี่ทุกชนิด โดยมีกิจกรรมให้ความรู้เรื่องโทษพิษภัยของบุหรี่ โดยทีมสหวิชาชีพ คัดกรองและให้คำปรึกษาเพื่อเลิกบุหรี่ แจกน้ำยาอมอดบุหรี่ พร้อมคำแนะนำแก่ผู้สนใจเลิกบุหรี่ การประกวดคำขวัญและจัดทำแผ่นพับของผู้ป่วย ซึ่งมีกำหนดจัดกิจกรรมระหว่างวันที่ 29 พฤษภาคม- 2 มิถุนายน 2566 ณ บริเวณชั้น 1 ตึกอำนวยการ สบยช.”
“ทั้งนี้ขอเชิญชวนผู้ที่ต้องการเลิกสูบบุหรี่ ใช้โอกาสนี้เป็นจุดเริ่มต้นในการตั้งใจ ลด ละ เลิกการสูบบุหรี่ทุกชนิด เพื่อสุขภาพของตนเองและคนใกล้ชิด ซึ่งหากประสบปัญหาเกี่ยวกับการเลิกบุหรี่ สามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่ สายด่วนบำบัดยาเสพติด 1165 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.pmnidat.go.th หรือสถาบันบำบัดรักษา และฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) กรมการแพทย์ จังหวัดปทุมธานีและโรงพยาบาลธัญญารักษ์ ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์แม่ฮ่องสอน โรงพยาบาลธัญญารักษ์ขอนแก่น โรงพยาบาลธัญญารักษ์อุดรธานี โรงพยาบาลธัญญารักษ์สงขลา และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ปัตตานี หรือ ศูนย์บริการช่วยเลิกบุหรี่ ทางโทรศัพท์แห่งชาติ 1600”