กรมสุขภาพจิต จัดกิจกรรม ‘วันไบโพลาร์โลก 2565’ ชูประเด็น ใกล้ไกลไบโพลาร์อุ่นใจ ด้วยจิตเวชทางไกล
วันนี้ (30 มี.ค. 65) กรมสุขภาพจิต จัดกิจกรรมวันไบโพลาร์โลก เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดกับผู้ป่วยไบโพลาร์สนับสนุนให้สังคมมีความเข้าใจในโรคไบโพลาร์มากขึ้น ไม่รู้สึกอคติหรือแบ่งแยกผู้ป่วยออกจากสังคม พร้อมพัฒนากลไกการบริการเพื่อผู้ป่วยจิตเวชเพื่อรองรับสถานการณ์โควิด-19 เพราะถึงแม้ต้องรักษาระยะห่างทางกาย แต่การรักษาด้วยระบบจิตเวชทางไกลจะทำให้ผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ใกล้กันได้เสมอ
ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า วันที่ 30 มีนาคมของทุกปี ถือเป็นอีกวันที่สำคัญของงานสุขภาพจิตไทย โดยกรมสุขภาพจิต ได้จัดกิจกรรมวันไบโพลาร์โลกมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นให้สังคมตระหนักถึงโรคไบโพลาร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในโรคทางอารมณ์ที่หากไม่ได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง จะส่งผลต่อการใช้ชีวิตของผู้ป่วยอย่างมาก ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ทั่วโลกซึ่งส่งผลต่อวิถีชีวิตของคนในสังคมรวมไปถึงผู้ป่วยจิตเวชเป็นอย่างมาก ทั้งความเครียดที่มีมากขึ้นและความลำบากในการมาติดตามการรักษาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผู้ป่วยไบโพลาร์ และครอบครัวของผู้ป่วยนั้นก็ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมากระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายสนับสนุนหน่วยบริการด้านสุขภาพจิตจะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาบริการให้มีความก้าวหน้าทันสมัยสามารถให้บริการจิตเวชทางไกลได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อผู้ป่วยไบโพลาร์ เพื่อได้รับการบำบัดรักษาอย่างต่อเนื่องและฟื้นฟูกลับมาเป็นกำลังหลักของสังคมต่อไปได้
แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ผลกระทบที่พบในผู้ป่วยไบโพลาร์ที่สำคัญ ประกอบด้วย การไม่สามารถใช้ชีวิต และไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีปัญหาความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิด รวมไปถึงการทำร้ายตัวเอง และปัญหาการฆ่าตัวตาย
สถานการณ์ของผู้ป่วยโรคไบโพลาร์ของประเทศไทยในปี 2564 มีจำนวน 38,681 คน โดยเมื่อเทียบกับปี 2563 พบว่า ลดลงร้อยละ 3 ซึ่งถึงแม้จำนวนผู้ป่วยจะลดลงแต่การเข้าถึงบริการกลับมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ซึ่งจากที่เคยสามารถเข้าถึงบริการในปี 2563 จำนวน 163,658 ครั้ง ในปี 2564 สามารถเข้าถึงบริการได้ถึง 164,170 ครั้งทีเดียว
สำหรับรูปแบบการให้บริการตรวจรักษาทางไกลที่ครอบคลุมทุกสาขาวิชาชีพ ประกอบด้วย การให้คำปรึกษาตรวจวินิจฉัยโดยจิตแพทย์ บริการให้คำปรึกษาเรื่องยาจิตเวชทางไกล โดยเภสัชกร บริการให้คำปรึกษาทางสุขภาพจิตและจิตเวช จิตบำบัดทางไกลโดยนักจิตวิทยาคลินิก บริการเยี่ยมบ้านทางไกลและบริการสังคมสงเคราะห์ทางไกลโดยนักสังคมสงเคราะห์ บริการให้การฟื้นฟูสมรรถภาพโดยทีมฟื้นฟูสมรรถภาพและกรมสุขภาพจิตจะดำเนินการพัฒนาระบบบริการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ผู้ป่วยไบโพลาร์และครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
นางมารีน คินยาร์ด สตูยาโนวิช ผู้จัดการใหญ่ ซาโนฟี่ ประเทศไทยและมาเลเซีย กล่าวว่า ซาโนฟี่ รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งและขอขอบคุณสำหรับโอกาสที่ได้ร่วมสนับสนุนกรมสุขภาพจิต และสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย รวมถึงเครือข่ายพันธมิตร ในการจัดงาน World Bipolar Day 2022 ในครั้งนี้ เพื่อสร้างความรับรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคไบโพลาร์ และซาโนฟี่พร้อมสนับสนุนการใช้ ‘ระบบจิตเวชทางไกล’ ที่นับเป็นก้าวสำคัญของวงการแพทย์ ในการรักษาผู้ป่วยไบโพลาร์และผู้ป่วยโรคจิตเวชอื่นๆ เทคโนโลยีดิจิทัลทางการแพทย์ (Digital Health) เป็นเรื่องที่ซาโนฟี่ให้ความสำคัญและขับเคลื่อนมาโดยตลอด เพราะนับเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษา สามารถติดตามผลได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้การดูแลผู้ป่วยทางไกลเกิดขึ้นอย่างเต็มรูปแบบและมีประสิทธิภาพ อีกทั้งเทคโนโลยียังเป็นตัวเร่งที่ทำให้เกิดความเท่าเทียมในระบบการดูแลสุขภาพอีกด้วย ซึ่งสอดคล้องกับความมุ่งมั่นของซาโนฟี่ในการขับเคลื่อนเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาได้อย่างเท่าเทียมและยั่งยืนเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
กรมสุขภาพจิตอยากฝากถึงประชาชนทุกท่านว่าผู้ป่วยโรคไบโพลาร์นั้นถือว่าเป็นบุคคลที่มีความสามารถที่ไม่ได้ด้อยไปกว่าคนอื่น เพราะฉะนั้นการที่ทุกคนมองผู้ป่วยไบโพลาร์ไม่ต่างจากผู้ป่วยโรคอื่นๆ ที่สามารถรักษาได้ ซึ่งหากทุกคนสนับสนุนให้เข้าสู่กระบวนการรักษาก็จะช่วยให้คนที่เป็นไบโพลาร์สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขเช่นเดียวกับคนทั่วไป และสามารถกลับมาเป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติได้ต่อไป