HEALTH

เตือน โรคต้อหิน ภัยเงียบเสี่ยงตาบอดถาวร

หากมีอาการผิดปกติ เช่น ปวดตา ตาแดง ตามัวแบบฉับพลันทันที คลื่นไส้ อาเจียน และปวดหัว รีบพบแพทย์ทันที แนะกลุ่มเสี่ยงที่มีประวัติครอบครัวป่วย ควรตรวจคัดกรองโรค

วันนี้ (29 ส.ค. 66) นายแพทย์ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดี กรมการแพทย์ เตือน โรคต้อหินเป็นสาเหตุหลักอย่างหนึ่ง ของการสูญเสียการมองเห็นแบบถาวร และไม่สามารถรักษาให้หายได้ โดยโรคต้อหินมี 2 แบบคือ ต้อหินมุมเปิดและมุมปิด หากมีอาการผิดปกติ เช่น อาการปวดตา ตาแดง ตามัวแบบฉับพลันทันที ในบางรายมีอาการ คลื่นไส้ อาเจียน และปวดหัวร่วมด้วย รีบพบแพทย์ทันที พร้อมกันนี้แนะนำให้ตรวจคัดกรองในกลุ่มเสี่ยง โรคต้อหิน เช่น ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นต้อหิน ผู้ที่มีประวัติ ความดันตาสูง ใช้ยาสเตียรอยด์ มีอุบัติเหตุทางตามาก่อน มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน เป็นต้น

นายแพทย์ณัฐพงศ์ เปิดเผยว่า “โรคต้อหินเป็นสาเหตุลำดับต้นๆของโลก ที่ทำให้สูญเสียการมองเห็นถาวร เป็นโรคที่มีความเสื่อมของเส้นประสาทตา และมีการสูญเสียสายตาที่มีลักษณะค่อนข้างเฉพาะตัว โดยพบว่าความดันลูกตาที่สูงเป็นปัจจัยเสี่ยง ที่สำคัญในการทำให้เกิดโรคต้อหิน เมื่อเป็นมากๆ หากไม่ทำการรักษา หรือตรวจพบแล้ว แต่ทำการรักษาไม่ต่อเนื่องควบคุมโรคไม่ดี จะสูญเสียการมองเห็นไปในที่สุด”

ด้าน นายแพทย์จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กรมการแพทย์ กล่าวว่า “ต้อหินสัมพันธ์กับความดันตาสูง เมื่อผู้ป่วยมีความดันตาสูง ลูกตาจะแข็ง มีลักษณะเหมือนเป็นลูกหิน คนไทยเรียกว่า ต้อหิน โดยค่าเฉลี่ยความดันลูกตา อยู่ที่ประมาณ 13-14 มิลลิเมตรปรอท ดังนั้น หากมีค่าความดันตา 21 มิลลิเมตรปรอท หรือสูงกว่าก็ถือว่าผิดปกติ ซึ่งในปัจจุบันพบว่า ผู้ป่วยที่มีความดันตาที่ไม่สูง ก็สามารถเป็นโรคต้อหินได้เช่นกัน”

ขณะที่ นายแพทย์บุญส่ง วนิชเวชารุ่งเรือง นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ด้านเวชกรรม สาขาจักษุวิทยา โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า “ต้อหินมี 2 แบบ สำหรับอาการของโรคใหญ่ๆ คือ ต้อหินมุมเปิดและมุมปิด ขึ้นกับว่าเป็นต้อหินชนิดไหน โดยที่เป็นต้อหินมุมปิดเฉียบพลัน ผู้ป่วยจะมาด้วยอาการปวดตา ตาแดง ตามัวแบบฉับพลันทันที ในบางรายมีอาการ คลื่นไส้ อาเจียน และปวดหัวร่วมด้วย ผู้ป่วยกลุ่มนี้มีจำนวนไม่มาก”

“ส่วนกลุ่มที่พบมากมักเป็นต้อหินเรื้อรัง ในกรณีที่เป็นมุมเปิด หรือมุมปิดเรื้อรัง ผู้ป่วยจะไม่มีอาการปวดตา แต่ระยะยาวจะมี ตามัว ลานสายตา ที่แคบลง ผู้ป่วยจะมาพบแพทย์ เมื่อมีอาการมัวมากๆแล้ว ซึ่งเรียกว่าต้อหินประเภทนี้ว่า ภัยเงียบ เพราะผู้ป่วยมาหา ระยะท้ายของโรค การรักษาไม่สามารถทำให้ ลานสายตากลับมาปกติได้ การตรวจพบโรคในระยะแรกจะช่วยป้องกันการสูญเสีย การมองเห็นได้ โดยแนะนำให้ตรวจให้ตรวจคัดกรองในกลุ่มเสี่ยง โรคต้อหิน เช่น ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นต้อหิน ผู้ที่มีประวัติ ความดันตาสูง ใช้ยาสเตียรอยด์ มีอุบัติเหตุทางตามาก่อน มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน เป็นต้น”

Related Posts

Send this to a friend