HEALTH

รู้จักมะเร็งเต้านมและวิธีรับมือกับภัยอันตรายที่คร่าชีวิตผู้หญิงไทย

มะเร็งเป็นสาเหตุการตายอันดับ 1 ของประเทศไทย มีแนวโน้มอัตราการเกิดโรคสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และโรคมะเร็งเต้านมก็เป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตในผู้ป่วยมะเร็งที่เป็นเพศหญิงมากที่สุดถึงร้อยละ 31.4 โดยมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเต้านมเป็นจำนวนมาก ล่าสุดแฟนสาวของนักร้องชื่อดัง ปู แบล็คเฮด หรือคุณ “นุ๊กซี่- อัญพัชญ์ วัฒนาตันติรัตน์” ได้จากไปด้วยโรคมะเร็งเต้านมเมื่อคืนวันที่ 26 มี.ค. 65 ที่ผ่านมา

        นุ๊กซี่ได้รับการวินิจฉัยว่าป่วยเป็นโรคมะเร็งเต้านมในช่วงต้นปี 2564 โดยอาการของ นุ๊กซี่ เจ้าตัวได้เล่าเรื่องราวว่าเธอนั้นมีอาการเลือดไหลผสมกับน้ำเหลืองไหลออกมาระหว่างตอนนอน เธอจึงเริ่มสังเกตอาการและปรึกษาแพทย์ เธอคลำเต้านมและพบก้อนเนื้อขนาด 2 ซม. และภายในไม่กี่เดือนขนาดของก้อนเนื้อก็ใหญ่ขึ้นถึง 5 ซม. และหน้าอกข้างนั้นก็มีขนาดใหญ่กว่าปกติ หลังจากนั้นเธอจึงเข้ารับการตรวจด้วยแมมโมแกรม อัลตราซาวด์ และการเจาะชิ้นเนื้อ หลังจากตรวจพบว่าเป็นระยะที่ 2-3 และได้เข้ารับการผ่าตัดครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 มี.ค. 64 โดยนุ๊กซี่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งและมีค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูง นุ๊กซี่ได้บอกเล่าเรื่องราวอาการก่อนตรวจพบมะเร็งทางช่อง YouTube ชื่อ “#บันทึกมะเร็งของนุ๊กซี่ EP1” จนเมื่อช่วงต้นปี 2565 นุ๊กซี่ ตรวจพบว่าเชื้อมะเร็งกระจายขึ้นสมอง ต้องรักษาด้วยการฉายแสง

อาการของโรคมะเร็งเต้านม

        ในระยะแรกจะไม่แสดงอาการใดๆ มักพบโดยการคลำก้อนเนื้อในเต้านม หรือบริเวณรักแร้ และสามารถสังเกตได้จากขนาดของเต้านมที่เปลี่ยนไป เช่น หัวนมบุ๋ม เป็นแผล อาจมีน้ำเหลืองหรือของเหลวคล้ายเลือดไหลออกมาจากบริเวณหัวนม บางรายอาจเป็นผื่นบริเวณหัวนม

สาเหตุของมะเร็งเต้านม

       ยังไม่พบสาเหตุของมะเร็งเต้านมที่แน่ชัด แต่พบปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคได้เช่น พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันที่ไม่เหมาะสม เช่น รับประทานอาหารไขมันสูง ไม่ออกกำลังกาย และดื่มสุรา ส่วนปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น การมีอายุที่มากขึ้นซึ่งเกิดจากความบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกันและความผิดปกติทางพันธุ์กรรม

การตรวจมะเร็งเต้านม มี 3 วิธี ได้แก่

1. การตรวจด้วยวิธีแมมโมแกรม (Mammogram) เป็นการตรวจทางรังสีชนิดพิเศษคล้ายการตรวจเอกซเรย์มีประสิทธิภาพในการตรวจหามะเร็งเต้านมตั้งแต่ระยะแรก รักษาได้ผลดีและมีประสิทธิภาพ ช่วยลดอัตราการเสียชีวิตของผู้หญิงจากการเป็นมะเร็งเต้านม

2. การตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตนเอง ด้วย 3 ท่าง่าย ๆ (3นิ้ว 3 สัมผัส) 

ท่าที่ 1 ยืนหน้ากระจกปล่อยแขนไว้ข้างลำตัวตามสบาย ดูรูปร่าง ขนาดเต้านม ระดับหัวนม และสีผิวของเต้านมทั้งสองข้าง ยกแขนสองข้างขึ้นเหนือศีรษะ ดูขนาด รูปร่าง และความผิดปกติของเต้านม วางมือสองข้างบนสะโพกแล้วกดน้ำหนักลง หรือเกร็งหน้าอกและดูความผิดปกติของเต้านม โน้มตัวไปข้างหน้าเพื่อให้ดูสิ่งผิดปกติของเต้านมทั้งสองข้างได้ชัดเจนขึ้น

ท่าที่ 2 นอนราบนอนหงายในท่าที่สบาย อาจใช้หมอนใบเล็กสอดใต้ไหล่ข้างที่จะตรวจ ยกมือข้างที่จะตรวจไว้เหนือศีรษะ และใช้สามนิ้วของมืออีกข้างตรวจคลำให้ทั่วเต้านม แต่ห้ามบีบเนื้อเต้านม เพราะการบีบอาจทำให้เข้าใจผิดได้เมื่อรู้สึกว่าสัมผัสเจอก้อน ทั้งที่ไม่ใช่ก้อนมะเร็งบีบหัวนมโดยใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้บีบเบาๆ ดูว่ามีสารคัดหลั่งไหลออกมาหรือไม่

ท่าที่ 3 ขณะอาบน้ำตรวจขณะที่กำลังตัวเปียกหรือฟอกสบู่ เพราะผิวหนังลื่น ตรวจได้ง่าย ยกแขนข้างที่จะตรวจไว้เหนือศีรษะ ใช้นิ้วมืออีกข้างคลำแบบเดียวกับการตรวจในท่านอนราบ ตรวจบริเวณรักแร้เพื่อดูความผิดปกติ และบีบหัวนมเพื่อดูสารคัดหลั่ง

3. การตรวจด้วยการเจาะชิ้นเนื้อ ทันทีที่ตรวจพบความผิดปกติที่สงสัยว่าอาจเป็นมะเร็งเต้านม ทำได้ 2 วิธี คือ 1) ใช้เข็มเจาะชิ้นเนื้อ

2) การผ่าตัดเพื่อเก็บตัวอย่างชิ้นเนื้อ เพื่อพิสูจน์ทางพยาธิวิทยา หาสาเหตุและการรักษา

การรักษาทำได้ด้วยวิธีการ ดังนี้

1. การผ่าตัด เป็นจุดเริ่มต้นของการรักษามะเร็งเต้านม โดยต้องมีการวางแผนอย่างละเอียดในทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นการเลือกว่าจะผ่าตัดวิธีไหนเหมาะสมกว่ากันระหว่างการผ่าตัดแบบตัดออกทั้งหมด และการผ่าตัดแบบสงวนเต้า ทั้งยังต้องเสริมสร้างเต้านมขึ้นมาทันทีพร้อมกันไปเลยหรือไม่ ทั้งยังต้องพิจารณาเรื่องการผ่าตัดในส่วนของต่อมน้ำเหลืองด้วยว่าต้องผ่าตัดออกมาด้วยหรือไม่หรือจะต้องตรวจต่อมน้ำเหลือง

2. การฉายแสง หลังการผ่าตัดสงวนเต้ามีความจำเป็นต้องฉายแสง ในกรณีก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่ หรือมีการกระจายของเซลล์มะเร็งไปที่ต่อมน้ำเหลือง

3. การใช้ยาเคมีบำบัดและยาต้านฮอร์โมน หลังการผ่าตัด หากก้อนมะเร็งมีขนาดโตกว่า 1 ซม. หรือมีการกระจายของเซลล์มะเร็งไปที่ต่อมน้ำเหลือง

การป้องกันมะเร็งเต้านม

1. ควรตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำทุกเดือน โดยเริ่มตรวจตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป และเมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไปเข้ารับการตรวจเอกซเรย์ทุกปี

2. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์และครบ 5 หมู่ เน้นรับประทานผักและผลไม้ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง อาหารหมักดอง อาหารเนื้อสัตว์รมควัน ปิ้ง ย่าง ทอดจนไหม้เกรียม

3. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

4. ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์

5. ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

6. ลดความเครียดโดยการทำงานอดิเรกที่ตนเองชอบ

7. หลีกเลี่ยงการใช้ยาคุมกำเนิดระยะยาว

สิทธิการรักษามะเร็งเต้านมโรงพยาบาลรัฐ

  1. สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ “สิทธิ 30 บาท” หรือ “สิทธิบัตรทอง”

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเปิดให้คนไข้มะเร็งสิทธิบัตรทองสามารถเข้ารับการรักษาโรคมะเร็งกับสถานพยาบาลในเขตพื้นที่ให้บริการสุขภาพได้ตามโครงการ Cancer Anywhere 2022 โดยมีเงื่อนไขเพียงต้องเป็นคนไข้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หรือสิทธิบัตรทองและได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งแล้ว

  • สิทธิสวัสดิการการรักษาพยาบาลของราชการ

คุ้มครองบริการรักษาพยาบาลให้กับข้าราชการและบุคคลในครอบครัว ได้แก่ บิดา มารดา คู่สมรส และบุตรที่ถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อเจ็บป่วยสามารถเข้ารับบริการรักษาพยาบาลได้ที่โรงพยาบาลของรัฐ

  • สิทธิประกันสังคม

คุ้มครองบริการรักษาพยาบาลให้กับเจ้าของสิทธิ(ผู้ประกันตน) สามารถเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลที่เลือกลงทะเบียนไว้ ตรวจสอบสิทธิประกันสังคม ได้ที่ https://www.sso.go.th/wpr/main/login

ค่ารักษามะเร็งเต้านม

ตัวอย่างค่ารักษามะเร็งจากโรงพยาบาลจุฬาฯ พบว่าค่ารักษามะเร็งเต้านมมีราคาประมาณ 84,500 ยาท โดยเป็นค่าใช้จ่ายในการฉายรังสีมากกว่า 20 ครั้ง ส่วนค่าใชจ่ายโรงพยาบาลเอกชนอาจมีราคาสูงกว่าโรงพยาบาลรัฐ 2-7 เท่า

เรียบเรียง ญาดาภา แซ่ลิ้ม

อ้างอิง

www.chulacancer.net/services-list-page.php?id=514

www.dms.go.th/Content/Select_Landding_page?contentId=32540

thaicancersociety.com/rights-to-health-care/

#บันทึกมะเร็งของนุ๊กซี่ EP1

Related Posts

Send this to a friend

Thailand Web Stat