กรมการแพทย์ เตือน ‘มะเร็งต่อมลูกหมาก’
ภัยร้ายที่ผู้ชายไม่ควรมองข้าม ผู้ป่วยมีอาการปัสสาวะผิดปกติ แนะผู้สูงอายุ-ประวัติพันธุกรรมเสี่ยง ตรวจเป็นประจำทุกปี ย้ำ หากพบเร็วรักษาหายขาดได้
วันนี้ (28 ส.ค. 67) นายแพทย์สกานต์ บุนนาค รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ต่อมลูกหมาก เป็นอวัยวะของผู้ชาย ทำหน้าที่เป็นหูรูดควบคุมการปัสสาวะและสร้างน้ำเลี้ยงตัวอสุจิ บางคนเข้าใจผิดว่าเป็นอัณฑะ มะเร็งต่อมลูกหมากเกิดจากการเจริญเติบโตและแบ่งตัวที่ผิดปกติของเซลล์ต่อมลูกหมากจนกลายเป็นก้อนมะเร็ง พบในเพศชายที่สูงอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป สาเหตุการเกิดโรคยังไม่ทราบแน่ชัด ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญคือ อายุ และพันธุกรรม
เรืออากาศเอกนายแพทย์สมชาย ธนะสิทธิชัย ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า มะเร็งต่อมลูกหมากระยะแรกผู้ป่วยมักไม่แสดงอาการผิดปกติ แต่เมื่อเซลล์มะเร็งขยายตัวเริ่มลุกลามมากขึ้นจนเกิดการกดเบียดท่อปัสสาวะจะทำให้การปัสสาวะผิดปกติ อาการจะคล้ายกับโรคต่อมลูกหมากโตที่พบได้บ่อยในชายสูงอายุ เช่น ปัสสาวะไม่ออก หรือปัสสาวะลำบาก ปัสสาวะไม่พุ่ง หรือหยุด เป็นช่วง ๆ ปัสสาวะบ่อยกลั้นลำบาก มีอาการปวดแสบขัดเวลาปัสสาวะ หรือปัสสาวะมีเลือดปน หากมีอาการควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม
การตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากตั้งแต่ยังไม่มีอาการ หรือเริ่มมีอาการเพียงเล็กน้อย จะช่วยเพิ่มโอกาสตรวจพบมะเร็งต่อมลูกหมากตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ซึ่งสามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยแนะนำให้ผู้ชายตั้งแต่อายุ 50–75 ปี เข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากเป็นประจำทุกปี
นายแพทย์พร้อมวงศ์ งามวุฒิวงศ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยศาสตร์มะเร็งทางเดินปัสสาวะ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า วิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมาก ทำได้ด้วยวิธีคลำต่อมลูกหมากทางทวารหนักเพื่อหารอยโรคที่เกิดขึ้นร่วมกับการตรวจระดับสารคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากในเลือด (serum PSA) โดยค่าปกติควรน้อยกว่า 4 นก./มล. ถ้าค่า serum PSA อยู่ระหว่าง 4 นก./มล. แต่ไม่เกิน 10 นก./มล. สามารถพบผู้ป่วยมะเร็งได้ประมาณ 1 ใน 3 แต่ถ้ามากกว่า 10 นก./มล. จะสามารถพบผู้ป่วยได้มากขึ้นถึง 2 ใน 3
ทั้งนี้ ความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากจะเพิ่มขึ้นตามค่า serum PSA ที่สูงขึ้น การตรวจร่างกายและการตรวจ serum PSA ที่ผิดปกติ ยังไม่เพียงพอที่จะวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากได้ อาจใช้วิธีการเจาะเก็บชิ้นเนื้อต่อมลูกหมากทางทวารหนักเป็นขั้นตอนถัดไปเพื่อนำชิ้นเนื้อไปตรวจหาว่าเป็นลักษณะของเนื้อมะเร็งหรือไม่ โดยเจาะชิ้นเนื้อแบบสุ่ม (Random TRUS prostate biopsy) ใช้เครื่องมือขนาดประมาณนิ้วโป้งเข้าไปทางทวารหนัก และเจาะเก็บชิ้นเนื้อจำนวน 10-12 ชิ้น นำไปตรวจหาเชลล์มะเร็ง
ปัจจุบันมีทางเลือกในการตรวจวินิจฉัยด้วยการทำเอ็กซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าบริเวณต่อมลูกหมาก (multiparametric MRI prostate) ถ้าพบมีบริเวณที่น่าสงสัยจะนำภาพเอ็กซเรย์ดังกล่าวเป็นแผนภาพนำทางในการเจาะชิ้นเนื้อต่อมลูกหมาก (MRI fusion-targeted prostate biopsy) จะช่วยลดจำนวนชิ้นเนื้อที่ต้องเจาะเก็บ ลดการเจาะชิ้นเนื้อในรายที่ความเสี่ยงต่ำและเพิ่มโอกาสที่จะเจอมะเร็งต่อมลูกหมากที่มีนัยสำคัญมากยิ่งขึ้น
การรักษามะเร็งต่อมลูกหมากขึ้นอยู่กับระยะและความรุนแรงของตัวโรค พิจารณาร่วมกับอายุ และสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย เริ่มตั้งแต่การตรวจติดตามหรือเฝ้าระวังเชิงรุกในผู้ป่วยสูงอายุ หรืออยู่ในกลุ่มที่มะเร็งมีความสามารถในการลุกลามต่ำจนถึงการผ่าตัดนำต่อมลูกหมากออก (Radical prostatectomy) การใช้ยาลดฮอร์โมนเพศชาย การฉายแสง การฝังแร่ การให้ยาเคมีบำบัด การผ่าตัดตัดอัณฑะ รวมถึงการให้ภูมิคุ้มกันบำบัด (immunotherapy)
ปัจจุบันมีการรณรงค์ตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากในเพศชายกลุ่มเสี่ยงหรือมีอาการ โดยใช้วิธีการเจาะหาสารคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมากในเลือด (serum PSA) ทำให้ตรวจพบเจอผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมากได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสการรักษาให้ตัวโรคหายขาดได้ แต่ทั้งนี้การดูแลสุขภาพโดยทั่วไปให้แข็งแรง งดสูบบุหรี่ งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงการบริโภคเนื้อสัตว์ติดมันที่ไหม้เกรียม ออกกำลังกายสม่ำเสมอ จะช่วยให้ห่างไกลโรคมะเร็งร้าย มีสุขภาพร่างกายและจิตใจที่สมบูรณ์แข็งแรง