กรมอนามัย เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วม ภาคอีสานอย่างใกล้ชิด
วันนี้ (27 ก.ย. 66) นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เฝ้าระวังและประเมินสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่เสี่ยงภัย ในพื้นที่ภาคอีสาน โดยเฉพาะจังหวัดอุดรธานี อุบลราชธานี และยโสธร ที่ประสบภัยน้ำท่วม พร้อมมอบศูนย์อนามัย คอยช่วยเหลือในกรณีฉุกเฉิน และสนับสนุนการจัดการด้านสุขาภิบาล สุขอนามัยและอนามัยสิ่งแวดล้อม ร่วมกับหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ เช่น วัสดุ อุปกรณ์ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม รองรับสถานการณ์น้ำท่วม ชุดสาธิตการจัดการสุขาภิบาล และอนามัยสิ่งแวดล้อม หรือชุดเราสะอาด (V-Clean) ชุดตรวจประเมิน และจัดการการปนเปื้อนเชื้อโรคในอาหารและน้ำ เป็นต้น
พร้อมกันนี้ขอให้ประชาชน ในพื้นที่เสี่ยงเกิดน้ำท่วม ติดตามสถานการณ์น้ำท่วม ผ่านช่องทางสื่อสารต่างๆ อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งดูแลสุขภาพตนเอง และสมาชิกในครอบครัว โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็กและผู้สูงอายุ เป็นกลุ่มวัยที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ
นายแพทย์สุวรรณชัย เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ปลายฝนต้นหนาว ทำให้มีฝนตกหนัก ลมกรรโชกแรก และบางพื้นที่มีดินโคลนถล่ม ส่งผลให้จังหวัดอุดรธานี อุบลราชธานี และยโสธรประสบภัยน้ำท่วม ซึ่งมีการตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราว เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยในพื้นที่แล้ว เบื้องต้นกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข จึงได้มอบหมายกองอนามัยฉุกเฉิน ประเมินสถานการณ์และความเสี่ยง ร่วมกับสำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม สำนักสุขาภิบาลอาหารและน้ำ และศูนย์อนามัยที่ในพื้นที่ เพื่อติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
พร้อมทั้งเข้าช่วยเหลือและสนับสนุนภารกิจ การจัดการด้านสุขาภิบาล สุขอนามัย และอนามัยสิ่งแวดล้อม ร่วมกับหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ เช่น วัสดุ อุปกรณ์ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม รองรับสถานการณ์น้ำท่วม ชุดสาธิตการจัดการสุขาภิบาล และอนามัยสิ่งแวดล้อม หรือชุดเราสะอาด (V-Clean) ชุดตรวจประเมินและจัดการ การปนเปื้อนเชื้อโรคในอาหารและน้ำ เป็นต้น
สำหรับประชาชนเพื่อสุขอนามัยที่ดี และความปลอดภัย ขอให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงเกิดน้ำท่วม ติดตามสถานการณ์น้ำท่วม ผ่านช่องทางสื่อสารต่างๆ อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งดูแลสุขภาพตนเองและสมาชิกในครอบครัว โดยเฉพาะกลุ่มเด็กเล็กและผู้สูงอายุ เป็นกลุ่มวัยที่ต้องดูแลเป็นพิเศษ ผู้ปกครองหรือผู้ดูแล จึงต้องเพิ่มความระมัดระวัง ไม่ปล่อยให้เด็กเล่นน้ำหรืออยู่ใกล้น้ำ เพราะอาจเกิดอุบัติเหตุจมน้ำได้ และไม่ปล่อยให้ผู้สูงอายุอยู่ตามลำพัง หากมีน้ำท่วมในพื้นที่ให้จัดเตรียมสิ่งของขึ้นที่สูง เตรียมยาและอาหารแห้งสิ่งของจำเป็น เตรียมกระสอบทรายสำหรับอุดปิดทางน้ำไหล เรียนรู้เส้นทางอพยพในพื้นที่ ห้ามขับรถเข้าไปในพื้นที่น้ำท่วมหรือน้ำหลาก หลีกเลี่ยงการเดินลุยน้ำท่วมขัง และดูแลสุขภาพให้แข็งแรงอยู่เสมอ เพื่อรับมือกับสถานการณ์
ด้านนายแพทย์กฤษฎา ศิริชัยสิทธิ์ ผู้อำนวยการศูนย์อนามัยที่ 8 อุดรธานี กล่าวว่า ทีมปฏิบัติการฯ ของหน่วยงาน ได้ลงพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อประเมินสถานการณ์ และให้ความช่วยเหลือแล้ว โดยในศูนย์อพยพดำเนินการภายใต้หลัก 3S คือ
1.Survey สำรวจเตรียมการจัดกระบวนการเฝ้าระวัง
2.Surveillance กำหนดผังงานและจัดการระบบที่ดี
3.System ส่งทีมภารกิจปฏิบัติการด้านส่งเสริมสุขภาพ และอนามัยสิ่งแวดล้อมของศูนย์อนามัย
จะช่วยสนับสนุนการสำรวจ ประเมินด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม และจัดพื้นที่พักอาศัยผู้ประสบภัยที่ไม่แออัด มีการระบายอากาศที่ดี การจัดการห้องน้ำ ห้องส้วมทั้งส้วมที่มีในศูนย์อพยพ ที่มีโครงสร้าง หรือส้วมเคลื่อนที่ที่หน่วยงานจัดเตรียมไว้กรณี ไม่มีโครงสร้างอาคารรองรับ และต้องมีความสะอาดเพียงพอกับผู้เข้าอาศัย มีความปลอดภัยได้มาตรฐาน มีการจัดบริการถังขยะแบ่งแยกประเภทเพียงพอ มีระบบการรวบรวม จัดเก็บ และขนส่งไปกำจัดที่ดี สำหรับอาหาร ถือเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องให้ประชาชนได้กินอาหารที่สะอาด มีการปรุงประกอบอาหาร และการจัดการสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมที่ได้มาตรฐาน เพื่อป้องกันเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์แมลง และการระบาดของโรคต่างๆ