HEALTH

แพทย์โรคปอดผนึกกำลังเติมเต็มลมหายใจให้ผู้ป่วยโรคพังผืดในปอด

สมาคมอุรเวชช์ แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับคณะทำงานโรคปอดอินเตอร์สติเชียลและโรคปอดจากการทำงานและสิ่งแวดล้อม (ILD assembly) จัดกิจกรรมเติมเต็มลมหายใจ สัมนาสดบนเฟซบุ๊กเพจรู้ไว้ไอแอลดี เพื่อให้ความรู้โรคพังผืดในปอด หรือ Fibrotic-ILD (Fibrotic-Interstitial Lung Disease) โรคหายากที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19  ทั้งด้านการคัดกรองวินิจฉัยโรคและการรักษาติดตามอาการของผู้ป่วยโควิด-19 ที่ปอดถูกทำลายอย่างรุนแรง ซึ่งอาจลุกลามกลายเป็นโรคพังผืดในปอด เสี่ยงต่อการเสียชีวิตสูงหากไม่ได้รับรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มต้น

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า “โรคพังผืดในปอด หรือ Fibrotic-ILD (Fibrotic-Interstitial Lung Disease) เป็นกลุ่มโรคหายากที่เกิดการอักเสบตรงเนื้อเยื่อในปอด เดิมมีความท้าทายในการคัดกรองวินิจฉัยโรคอยู่แล้ว เนื่องจากอาการคล้ายโรคปอดและระบบหายใจอื่นๆ ที่แพทย์คุ้นเคย เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) ในเพศชาย ภาวะหัวใจล้มเหลวในเพศหญิง  วัณโรค มะเร็งปอด โรคหัวใจ แต่การระบาดของไวรัสโคโรนา 2019  ยิ่งทวีความท้าทายให้กับแพทย์และผู้ป่วยเนื่องจากมีอาการคล้ายโรคโควิด-19 ทั้งอาการหอบเหนื่อย ไอแห้ง และการอักเสบที่ปอด ผู้ป่วยจึงควรเข้าใจโรคเพื่อช่วยให้แพทย์วินิจฉัยได้แม่ยำยิ่งขึ้น โดยอาการที่บ่งชี้ว่าอาจเข้าข่ายเป็นโรคพังผืดในปอด ได้แก่ มีอาการไอ หรือ หอบเหนื่อยมานานกว่า 2 เดือน โดยหาสาเหตุอื่นไม่พบ และไม่เคยสูบบุหรี่ ส่วนแพทย์หากสงสัยและส่งวินิจฉัยเพื่อเติมหากมีผลเอกเรย์ปอดที่ผิดปกติ ฟังเสียงหายใจผิดปกติที่ชายปอดทั้ง 2 ข้าง คล้ายเสียงลอกแถบตีนตุ๊กแก และออกซิเจนปลายนิ้วต่ำเมื่ออกกำลัง

โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อสุขภาพโดยรวมต่อคนไทย รวมทั้งผลกระทบต่อคนไข้ที่เป็นโรคพังผืดในปอดที่เข้ารับการรักษาต่อเนื่อง ทั้งการเข้ารับยา ทำกายภาพบำบัด การเข้าถึงการรักษาด้วยออกซิเจนที่ทำได้จำกัด ไม่สามารถตรวจที่โรงพยาบาลตามนัด ถูกเลื่อนหรือส่งยาทางไปรษณีย์ ออกซิเจนขาดแคลน ในขณะเดียวกันโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบผู้ป่วยที่อยู่เข้าข่ายจะเป็นโรคนี้ ทำให้ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยที่ช้าเกินไป เช่น การเอกซ์เรย์ปอด การตรวจสมรรถภาพปอด และการตรวจชิ้นเนื้อ นั้นช้าลง ทำให้ผลการรักษาอาจออกมาได้ไม่ดี

อีกด้านหนึ่ง ปอดเป็นอวัยวะสำคัญที่จะถูกโจมตีโดยโรคโควิด-19  ในผู้ป่วยทั้งหมดจะมี 30-50% ที่เกิดปอดอักเสบที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยแพทย์ ในจำนวนนี้เมื่อหายดีแล้วอาจจะมีผู้ป่วย 1 ใน หมื่น หรือน้อยกว่านั้นเกิดปอดเป็นพังผืดถาวรใกล้เคียงกับโรคพังผืดในปอด หรือ Fibrotic-ILD ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหาเรื้อรัง รบกวนชีวิตประจำวันของผู้ป่วยและเป็นภาระต่อครอบครัวและสังคม

รศ.นพ.กมล แก้วกิติณรงค์ ประธานคณะอนุกรรมการโรคปอดอินเตอร์สติเชียลและโรคปอดจากการทำงานและสิ่งแวดล้อม

รศ.นพ.กมล แก้วกิติณรงค์ ประธานคณะอนุกรรมการโรคปอดอินเตอร์สติเชียลและโรคปอดจากการทำงานและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า “โรคพังผืดในปอดพบได้บ่อย ในประเทศตะวันตกมีความชุกของโรคอยู่ที่ 90-100 คน ต่อ 100,000 ประชากรต่อปี ในประเทศไทยยังไม่มีข้อมูลที่เป็นทางการ แต่จากการรวบรวมของสมาคมฯ ในโครงการ IPF Registry ซึ่งเป็นโรคพังผืดในปอดชนิดไม่ทราบสาเหตุ เก็บรวบรวมผู้ป่วยได้กว่า 131 คน สิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดการอักเสบในปอดเกิดจากปัจจัยภายนอก คือการหายใจรับทั้งสารมลพิษอินทรีย์ สารมลพิษอนินทรีย์ และปัจจัยภายใน เช่น ภาวะภูมิต้านทานเนื้อเยื่อตัวเอง (autoimmune dysfunction) ทำให้เกิดการอักเสบในปอด และอาจจะไม่ทราบสาเหตุ แพทย์จะใช้ประวัติการตรวจร่างกายร่วมกับเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ชนิดความละเอียดสูง (HRCT) โดยอาจพิจารณาร่วมกับการประเมินทางผลปฏิบัติการอื่นๆ ร่วมด้วย ทั้งนี้ โรคพังผืดในปอดมีโอกาสเพิ่มความรุนแรงเป็นโรคพังผืดในปอดชนิดลุกลาม หรือ PF-ILD (Progressive Phenotype ILD) เกิดพังผืดหรือแผลเป็นบริเวณถุงลมและหลอดลมฝอย ทำให้ออกซิเจนผ่านไปที่ปอดและกระแสเลือดยากขึ้น ผู้ป่วยจะหายใจหอบเหนื่อย ทำให้อวัยวะขาดออกซิเจนและทำงานไม่เต็มที่ แผลเป็นที่ปอดจะไม่หายกลับมาเป็นเนื้อปอดปกติ ดังนั้น หลังจากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคพังผืดในปอดแล้ว ผู้ป่วยต้องไปตามแพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเฝ้าระวังการลุกลามของโรคอย่างใกล้ชิด

ในช่วงที่โรคโควิด-19 ระบาดส่งผลต่อการรักษา จึงได้เปิดตัวไลน์ออฟฟิเชี่ยลแอคเคานต์ “ปอดโปร่ง” (O2LUNG) เพื่อช่วยติดตามการรักษา ผู้ป่วยสามารถบันทึกอาการแต่ผิดปกติและส่งให้แพทย์ได้โดยไม่ต้องมาโรงพยาบาล ขณะที่แพทย์สามารถเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ได้ด้วย” 

รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธ์ อุปนายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า โรคพังผืดในปอดที่มีอาการลุกลามมีความรุนแรงมากกว่ามะเร็งหลายอย่าง ผู้ป่วยจะมีการสูญเสียการทำงานของปอดอย่างต่อเนื่อง ทุกทรมาน หายใจลำบาก และเสียชีวิตเมื่อปอดทำงานต่อไม่ได้ หรือภาวะหายใจวาย เทียบกับอัตรารอดชีวิตภายใน 5 ปี มะเร็งปอดเฉลี่ยอยู่ 20% โรคพังผืดในปอดไม่ทราบสาเหตุ 35% มะเร็งลำไส้ 60% มะเร็งเต้านม 85% และมะเร็งต่อมลูกหมาก 87% นอกจากนี้ โรคพังผืดในปอดวินิจฉัยไม่ง่ายและมักได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคอื่นอยู่นาน และหากได้รับการรักษาที่เหมาะสมช้า ทำให้อัตราการรอดชีวิตน้อยลง เช่น ได้รับการรักษาช้า 1 ปี มีอัตราการเสียชีวิต 8% รักษาล่าช้า 1-2 ปี มีอัตราเสียชีวิต 18% รักษาล่าช้า 2-4 ปี มีอัตราเสียชีวิต 27% และรักษาช้ากว่า 4 ปี มีอัตราเสียชีวิต 32%   

ในปัจจุบันมียาต้านพังผืดในปอดซึ่งเป็นยาแบบมุ่งเป้า (targeted therapy) ที่ได้รับการรับรองครอบคลุมทั้ง 3 ข้อบ่งชี้ ประกอบด้วย ผังผืดในปอดแบบไม่ทราบสาเหตุ พังผืดในปอดจากโรคหนังแข็ง และพังผืดในปอดชนิดลุกลาม ซึ่งสามารถที่จะชะลอการลุกลามของโรค ลดการกำเริบแบบเฉียบพลัน และลดอัตตราการเสียชีวิตได้อีกด้วย โดยมีการรักษาชนิดอื่นๆควบคู่ เช่นการบำบัดด้วยออกซิเจน การฟื้นฟูสมรรถภาพปอด เพื่อให้ผู้ป่วยมีอาการและคุณภาพชีวิตที่ดี วิธีป้องกันโรคพังผืดในปอดที่ดีที่สุดคือใส่หน้ากากหรือเครื่องป้องกันหากต้องอยู่ในสภาวะเสี่ยง และหลีกเลี่ยงอย่าให้ปอดติดเชื้อ”

รศ.นพ.ฉันชาย สิทธิพันธ์ อุปนายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

คุณอนุวัฒน์ โนรีวงศ์ ผู้ป่วยโรคพังผืดในปอด อายุ 78 ปี  กล่าวว่า “โรคพังผืดในปอดมีอาการเหนื่อยมาก สำลักบ่อย ไอต่อเนื่องรุนแรงจนไม่สามารถพูดหรือช่วยเหลือตัวเองได้เลย แม้จะใช้เวลารักษานานแต่อาการกลับแย่ลงเพราะหาสาเหตุไม่ได้และมีอาการคล้ายโรคอื่นๆ กว่าจะได้รับการรักษาที่เหมาะสมนั้นต้องทรมานหลายปี ผมเองรู้สึกโชคดีที่ลูกสาวได้หาข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตและสังเกตอาการโรคจึงได้ปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง นพ. อมรพันธุ์ วงศ์กาญจนา ทำให้ผมรอดชีวิตอยู่ได้ จึงอยากฝากไปยังผู้ป่วยโดยเฉพาะในช่วงที่โควิด-19 ระบาดอยู่ขณะนี้ลองสังเกตอาการโรคให้มากยิ่งขึ้น และปรึกษาแพทย์หากสงสัยว่าเป็นโรคนี้”

Related Posts

Send this to a friend