HEALTH

แอสตร้าเซนเนก้า เผยคนไทย เสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังปีละ 4 แสนราย

แอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย เปิดเผยว่า แม้อัตราการเสียชีวิตจากโรคติดต่อกำลังลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังกลับเพิ่มสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดกว่า 41 ล้านคน ในแต่ละปี โดยกว่า 17 ล้านคน เสียชีวิตก่อนอายุ 70 ปี ขณะเดียวกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรังคร่าชีวิตคนไทยประมาณ 400,000 รายในแต่ละปี หรือคิดเป็น 74% ของการเสียชีวิตทั้งหมด

โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ Non-Communicable Diseases (NCDs) เป็นโรคที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อโรค และไม่ได้ติดต่อจากคนสู่คนโดยการสัมผัสหรือการหายใจ แต่เป็นโรคที่เกิดจากการใช้ชีวิตประจำวันที่ไม่เหมาะสม อาจมีสาเหตุจากพฤติกรรม เช่น กินอาหารไม่ถูกต้องตามโภชนาการ ความเป็นอยู่ที่ไม่เหมาะสม ก่อให้เกิดปัญหาการนอนหลับ และเกิดความเครียด การออกกำลังกายหรือการมีกิจกรรมทางกายภาพในชีวิตประจำวันไม่เพียงพอ เป็นต้น ทั้งนี้ กลุ่มโรค NCDs ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคอ้วน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคถุงลมโป่งพอง โรคมะเร็ง และโรคไตเรื้อรัง

สำหรับโรคหัวใจและหลอดเลือดนั้น เป็นโรคที่ถือว่าเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิต คิดเป็นจำนวน 17.9 ล้านคนต่อปี รองลงมาคือโรคมะเร็ง 9.3 ล้านคน โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง 4.1 ล้านคน และโรคเบาหวาน รวมถึงโรคไตที่เกิดจากโรคเบาหวานถึง 2 ล้านคน

ด้วยสภาวะดังกล่าว ส่งผลให้องค์การอนามัยโลก ตั้งเป้าหมายที่จะลดอัตราผู้เสียชีวิตก่อนวัยอันควร เนื่องมาจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังให้ได้จำนวน 1 ใน 3 ภายในปี 2030 โดยวิธีการลดอัตราการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคอาหาร การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ การตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม แอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย มุ้งเน้นที่จะดูแลผู้ป่วยในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง 4 กลุ่มโรคหลัก ได้แก่ กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด ไต และเมแทบอลิซึม กลุ่มโรคมะเร็งวิทยา กลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ ระบบภูมิคุ้มกัน วัคซีน และภูมิคุ้มกันบำบัด และกลุ่มโรคหายาก โดยจัดทำโครงการต่าง ๆ เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคและปัญหาสุขภาพ ส่งเสริมการป้องกันโรคผ่านการตรวจคัดกรอง นำไปสู่กระบวนการวินิจฉัยในระยะเริ่มต้น ทั้งนี้โครงการที่ได้เริ่มจัดทำแล้ว ประกอบไปด้วย

1.Lung Ambition Alliance ศึกษาวิวัฒนาการของโรค เพื่อพัฒนาเทคนิค ดูแลรักษาโรคมะเร็งปอด นำร่องการตรวจคัดกรองเบื้องต้นด้วย AI เสริมกับภาพถ่ายเอกซเรย์ทรวงอก โดยที่ประเทศไทยดำเนินการที่โรงพยาบาลบ้านแพ้ว ซึ่งผลการดำเนินงานตั้งแต่ปี 2565 พบว่ามีผู้ตรวจคัดกรอง 7,318 คน พบความผิดปกติโดยรวมร้อยละ 29.5 พบรอยโรคที่สงสัยก้อนในปอด 586 ราย คิดเป็นร้อยละ 8 และพบรอยโรคที่สงสัยก้อนในปอดที่มีโอกาสสูง คิดเป็นร้อยละ 0.3

2.SEARCH โครงการตรวจคัดกรองภาวะไตเสื่อมในผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง เพิ่มโอกาสการตรวจพบภาวะไตเสื่อมตั้งแต่ระยะเริ่มต้น สามารถให้การดูแลรักษาเพื่อชะลอการเสื่อมของไตได้ทันท่วงที

3.Healthy Lung สร้างเสริมความตระหนักรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง รวมถึงพัฒนาบุคลากรทางการแพทย์ให้มีองค์ความรู้ที่ทันสมัย รเข้าถึงการตรวจวินิจฉัยและการรักษาของผู้ป่วย พร้อมทั้งนำนวัตกรรมมาร่วมพัฒนาศักยภาพของหน่วยบริการสุขภาพให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล

4.Young Health Programme เป็นโครงการส่งเสริมสุขภาพเยาวชน โดยมุ่งเน้นการพัฒนาผู้นำเยาวชนต้นแบบในชุมชนให้มีทักษะความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพเพื่อป้องกันปัญหาโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือ NCDs ในระยะยาว และอาศัยพลังของกลุ่มเพื่อนในการเผยแพร่องค์ความรู้ ต่อยอดสู่การปฏิบัติเพื่อการมีสุขภาพกายและใจที่แข็งแรง

Related Posts

Send this to a friend