เตือน หน้าฝนพบโรคทางเดินหายใจระบาด ย้ำสวมหน้ากากอนามัย-ล้างมือ ช่วยป้องกันได้

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เตือน ประเทศไทยยังอยู่ในช่วงฤดูฝน ทั้งนี้พบโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ มีแนวโน้มแพร่ระบาดสูง โดยเฉพาะโรคไข้หวัดใหญ่ อัตราป่วยสูงกว่าปีที่แล้ว จากค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปีในช่วงเวลาเดียวกัน โดยข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 16 กันยายน 2566 มีผู้ป่วย 185,216 ราย อัตราป่วย 279.9 ต่อประชากรแสนคน มีรายงานผู้เสียชีวิต 4 ราย พร้อมกันนี้ย้ำแม้สถานการณ์โรคโควิด 19 จะลดลง แต่การสวมหน้ากากอนามัย เมื่อเจ็บป่วยหรืออยู่ในสถานที่แออัด สามารถช่วยป้องกันและลดความเสี่ยง โรคติดเชื้อทางเดินหายใจได้อย่างดี พร้อมกันนี้แนะหมั่นล้างมือบ่อยๆ ช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงการเจ็บป่วยได้
นพ.โอภาส กล่าวว่า หลังจากประเทศไทย ประกาศให้โรคโควิด 19 เป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2565 ประชาชนเลือกสวมหน้ากากอนามัย ได้ตามความสมัครใจ พบว่าแนวโน้มของโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ โดยเฉพาะโรคไข้หวัดใหญ่ เพิ่มสูงขึ้นกว่าหลายปีที่ผ่านมา สะท้อนว่า การสวมหน้ากากอนามัย สามารถช่วยป้องกันและลดความเสี่ยง โรคติดเชื้อทางเดินหายใจได้อย่างดี ทั้งนี้แม้สถานการณ์โรคโควิด 19 ขณะนี้จะพบผู้ป่วยลดลงต่อเนื่อง แต่สถานการณ์โรคไข้หวัดใหญ่ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
โดยข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-16 กันยายน 2566 มีผู้ป่วย 185,216 ราย อัตราป่วย 279.9 ต่อประชากรแสนคน มีรายงานผู้เสียชีวิต 4 ราย อัตราป่วยตายร้อยละ 0.002 เฉพาะสัปดาห์ที่ 10-16 กันยายน มีผู้ป่วยเพิ่มมากกว่า 12,000 ราย ซึ่งสูงกว่าจำนวนผู้ป่วย ในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2565 และค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง ซึ่งได้สั่งการให้ทุกจังหวัด เตรียมพร้อมทีมสอบสวนควบคุมโรค เพื่อรองรับการระบาดแล้ว ตามนโยบายของ นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
ขณะนี้ประเทศไทยยังอยู่ในช่วงของฤดูฝน ซึ่งเป็นฤดูกาลระบาดของโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ ซึ่งโรคหลักๆ ที่ยังต้องเฝ้าระวัง คือ 1.โรคโควิด 19 อาการมักมีไข้ ไอ เจ็บคอ ปวดเมื่อย อ่อนเพลีย อาจมีหายใจลำบาก 2.โรคไข้หวัดใหญ่ ส่วนใหญ่จะมีไข้สูง ปวดกล้ามเนื้อ ไอแห้ง น้ำมูกใส เบื่ออาหาร และ 3.โรค RSV จะมีไข้ ไอจาม มักพบในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี ซึ่งการติดต่อของทั้ง 3 โรคเหมือนกัน คือ การไอ จาม สัมผัสละอองฝอยน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ หรือการใช้สิ่งของร่วมกัน ดังนั้น
สิ่งสำคัญที่สุดคือ เมื่อมีอาการป่วยของโรคทางเดินหายใจ หรือเมื่อต้องเข้าไปอยู่ในสถานที่แออัด ต้องสวมหน้ากากอนามัย ปิดปากและจมูกให้มิดชิดเมื่อไอหรือจาม หลีกเลี่ยงการใกล้ชิดผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอ เช่น ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก รวมถึงล้างมือบ่อยๆ เพื่อช่วยป้องกันและลดความเสี่ยง การติดเชื้อโรคติดต่อทางเดินหายใจเหล่านี้ นอกจากนี้ขอความร่วมมือผู้ปกครอง ดูแลสังเกตอาการบุตรหลานที่เป็นเด็กนักเรียน หากเด็กป่วยมีอาการทางเดินหายใจ แนะนำให้หยุดพักอยู่บ้าน เพื่อดูแลรักษา ติดตามอาการ และไม่ไปแพร่เชื้อต่อที่โรงเรียนหรือศูนย์เด็กเล็ก ส่วนโรงเรียนขอให้จัดระบบการคัดกรองอาการทางเดินหายใจ เช่น ไข้ ไอ น้ำมูก เพื่อแยกเด็กไม่ปะปนกับเด็กอื่นๆ และพิจารณาปิดห้องเรียน เมื่อพบเด็กป่วยหลายๆ รายติดต่อกัน