กรมอนามัย จับมือเนสท์เล่ จัด โครงการ 13 สัปดาห์ 13 ภารกิจ พิชิตสุขภาพดี

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด จัดโครงการ 13 สัปดาห์ 13 ภารกิจพิชิตสุขภาพดี พร้อมมอบเกียรติบัตรให้กับ 13 ชุมชนดีเด่น ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมให้คนไทยลงมือปฏิบัติ ตามแนวทางพฤติกรรมสุขภาพดี ครอบคลุม 4 หัวข้อ ได้แก่ ลดหวาน มัน เค็ม เพิ่มกิจกรรมทางกาย กินปริมาณพอเหมาะ และเสริมสารอาหารสำคัญ โดยการทำ 13 ภารกิจสุขภาพใน 13 สัปดาห์ เกิดความสำเร็จในการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกด้านพฤติกรรม ที่สามารถวัดผลได้ใน 130 ชุมชนทั่วประเทศ
นายแพทย์สุวรรณชัย เปิดเผยว่า “ปัจจุบัน พบว่า คนไทยมีอัตราการเสียชีวิต จากกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังเพิ่มมากขึ้น และคิดเป็นสาเหตุการเสียชีวิต ก่อนวัยอันควรถึงร้อยละ 73 ของการเสียชีวิตทั้งหมด โรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่มีผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก คือ โรคเบาหวาน และความดัน ซึ่งมีสาเหตุส่วนใหญ่มาจากพฤติกรรมการดำเนินชีวิต เช่น การออกกำลังกายไม่เพียงพอ การกินอาหารรสจัด หวานจัด เค็มจัด หรืออาหารที่มีไขมันสูงจัด กรมอนามัย โดยกองส่งเสริมความรอบรู้ และสื่อสารสุขภาพ มีพันธกิจในการอภิบาลระบบส่งเสริมสุขภาพ และระบบอนามัยสิ่งแวดล้อม เพื่อประชาชนสุขภาพดี ด้วยแนวคิดความรอบรู้ด้านสุขภาพ ที่ส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึง และใช้ประโยชน์จากข้อมูลข่าวสารและการบริการต่างๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสุขภาพของตนเอง และคนรอบข้าง”
“ดังนั้นการสร้างความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องให้คนไทย ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ให้เหมาะสมผ่านโครงการความร่วมมือต่างๆ จึงเป็นเรื่องที่เราให้ความสำคัญมาโดยตลอด กรมอนามัยจึงได้ร่วมมือกับเนสท์เล่ ขับเคลื่อนโครงการ 13 สัปดาห์ 13 ภารกิจพิชิตสุขภาพดี ในการกระตุ้นและส่งเสริมพฤติกรรมสุขภาพที่ดี ให้คนในชุมชนสามารถนำไปปฏิบัติ ใช้ได้ในชีวิตประจำวันอย่างต่อเนื่อง”
ด้าน นางสาวสลิลลา สีหพันธ์ ผู้อำนวยการบริหารฝ่ายองค์กรสัมพันธ์ บริษัท เนสท์เล่ (ไทย) จำกัด กล่าวว่า “เนสท์เล่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมากว่า 130 ปี และมุ่งมั่นส่งเสริมให้คนไทยมีสุขภาพดีด้วยการดำเนินงานภายใต้ปรัชญา Good food, Good life อาหารที่ดี เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี ด้วยการนำเสนออาหารที่มีโภชนาการเหมาะสม พร้อมกับรสชาติที่อร่อย เพราะเราเชื่อว่าอาหารมีบทบาทสำคัญ ในการดำเนินชีวิตอย่างมีสุขภาพดี การเลือกรับประทานอาหาร และทำกิจกรรมในแต่ละวันให้เหมาะสมกับสุขภาวะ เป็นพื้นฐานของการมีสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืน”
“สำหรับโครงการ 13 สัปดาห์ 13 ภารกิจพิชิตสุขภาพดี เราต้องการสร้างความตระหนัก และส่งเสริมพฤติกรรมสุขภาพดี ทั้งเรื่องการรับประทานอาหาร และการทำกิจกรรมต่างๆ โดยนำความเชี่ยวชาญด้านโภชนาการ เพื่อสุขภาพที่ดีของเรา มาประยุกต์เป็นภารกิจ ที่สามารถปฏิบัติตามทุกวันได้ง่ายๆ ร่วมกับกองส่งเสริมความรอบรู้ และสื่อสารสุขภาพ ของกรมอนามัย และประสานการทำงานกับหน่วยบริการในชุมชน เพื่อส่งเสริมสุขภาพที่ดีให้กับคนไทย เข้าถึงชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ 130 ชุมชนที่เข้าร่วมกิจกรรมของโครงการนี้ ได้รับเคล็ดลับการดูแลสุขภาพ และประสบการณ์ใหม่ในการดูแลตัวเอง รู้วิธีเลือกสินค้าที่มีโภชนาการเหมาะสม โดยสังเกตจากสัญลักษณ์ “ทางเลือกสุขภาพ” ได้ลงมือปฏิบัติตามพฤติกรรมสุขภาพที่ดีเป็นประจำ จนเกิดเป็นพฤติกรรมสุขภาพ ที่นำไปปฏิบัติต่อได้แม้จบโครงการไปแล้ว”
“สำหรับโครงการ 13 สัปดาห์ 13 ภารกิจพิชิตสุขภาพดีในปี 2566 นี้ ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี โดย 80% ของผู้เข้าร่วมโครงการทั้งหมดกว่า 3,900 คน มีการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก ด้านพฤติกรรมเพื่อสุขภาพที่ดีเป็นประจำ เลือกดื่มน้ำเปล่า หรือเครื่องดื่มหวานน้อย จัดให้มีเมนูผักอยู่ในอาหารอย่างน้อยวันละ 2 มื้อ ออกกำลังกายอย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน เลือกดื่มนมหรือเครื่องดื่มที่มีแคลเซียมสูงเป็นประจำ โดยผู้เข้าร่วมโครงการใน 97 ชุมชนจาก 130 ชุมชนมีน้ำหนักลดลงอย่างน้อย 5% หรือรอบเอวลดลงอย่างน้อย 1 นิ้ว”
นางสาวเข็มณิภา วงษ์จินดา ชมรมรวมพลคนต้นแบบ สสจ.สุราษฎร์ธานี หนึ่งในชุมชนที่เข้าร่วมโครงการฯ กล่าวว่า “ประทับใจโครงการนี้มาก เพราะเป็นจุดเริ่มต้นให้สมาชิกในชุมชน ได้เริ่มสร้างพฤติกรรมสุขภาพดีกันอย่างจริงจัง นอกจากจะมีการปรับเปลี่ยน พฤติกรรมสุขภาพส่วนบุคคลแล้ว ยังไปแนะนำให้กับคนในครอบครัว ที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการได้อีกด้วย เช่น ชวนกันออกกำลังกาย หรือการสั่งหวานน้อย ลดพฤติกรรมการกินหวาน มัน เค็ม ต้องขอขอบคุณกองส่งเสริมความรอบรู้และสื่อสารสุขภาพ กรมอนามัย และบริษัทเนสท์เล่ (ไทย) จำกัด ที่จัดโครงการดีๆแบบนี้”
“ถือเป็นกิจกรรมต้นแบบที่ทำให้ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสุขภาพ ไปในทางที่ดีขึ้น สามารถนำไปปฏิบัติต่อปฏิบัติได้จริง และมีเพื่อน มีสังคมในการปฏิบัติ ที่สำคัญมีของรางวัลเป็นแรงจูงใจ สำหรับผู้ที่ปฏิบัติได้ครบภารกิจ และมีผลการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย ไปในทางที่ดีขึ้น และมีอุปกรณ์ส่งเสริมสุขภาพให้กับชุมชน อำนวยความสะดวกให้เจ้าหน้าที่ ทำให้คนในชุมชนได้ทราบสถานะสุขภาพของตนเอง ที่สำคัญโครงการนี้เป็นการตอบโจทย์ การจัดการสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และการสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพ เพื่อการเตรียมความพร้อมวัยทำงาน สู่วัยสูงอายุที่มีสุขภาพดี เป็นความหมายของคำว่า ความรอบรู้ด้านสุขภาพอย่างแท้จริง”