HEALTH

กรมควบคุมโรค เปิดศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ ระดมกำลังสกัดโรคไข้เลือดออก

วันนี้ (26 พ.ค. 66) นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เผยการพยากรณ์ตามหลักระบาดวิทยา คาดว่าผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกในปีนี้ อาจมีการระบาดอีกครั้ง ซึ่งพบผู้ป่วยเพิ่มขึ้นมากกว่าปี 2565 เมื่อเทียบในช่วงเวลาเดียวกัน ถึง 5.4 เท่า และพบผู้เสียชีวิตด้วยโรคไข้เลือดออกยืนยันแล้วถึง 13 ราย พื้นที่ระบาด 5 จังหวัดแรกที่พบผู้ป่วยสูงสุดคือ น่าน ตราด ชุมพร จันทบุรี และตาก พร้อมกันนี้แนะประชาชนกำจัดยุงลายอย่างถูกวิธี โดยเน้นที่ต้นเหตุของปัญหา คือการจัดการสิ่งแวดล้อม และกำจัดลูกน้ำไม่ให้ยุงเกิด พร้อมทั้งป้องกันไม่ให้ยุงกัด และหากมีอาการป่วยไข้ ไม่ควรซื้อยาลดไข้ในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) มารับประทานเอง ทำให้เสี่ยงต่อการเสียชีวิตมากขึ้น และรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว

ทั้งนี้เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2566 ผ่านมา นายแพทย์ดิเรก ขำแป้น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ได้เป็นประธานเปิดศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ (EOC) กรมควบคุมโรค โดยนายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ในฐานะผู้บัญชาการเหตุการณ์ ได้มอบข้อสั่งการเพื่อเร่งรณรงค์ป้องกัน ควบคุมโรคอย่างเร่งด่วน ดำเนินการร่วมกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ซึ่งเป็นผู้ดูแลกำกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) กว่าล้านคน จะช่วยเป็นแรงผลักดันให้ประชาชน ร่วมมือกันกำจัดลูกน้ำยุงลาย ให้หมดไปจากพื้นที่ตนเอง

นายแพทย์ธเรศ กล่าวว่า “ขณะนี้ประเทศไทยพบรายงาน ผู้ป่วยโรคติดต่อนำโดยยุงลายเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะโรคไข้เลือดออก ข้อมูลจากรายงานในปี 2566 ตั้งแต่ต้นปีจนถึงสัปดาห์ที่ 19 ของปี พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกสะสม 15,399 ราย ซึ่งมากกว่าปี 2565 เมื่อเทียบในช่วงเวลาเดียวกัน พบผู้ป่วย 2,942 ราย มากกว่าถึง 5.4 เท่า อีกทั้งยังพบผู้ป่วยเสียชีวิต ด้วยโรคไข้เลือดออกยืนยันแล้วถึง 13 ราย พื้นที่ระบาด 5 จังหวัดแรกที่พบผู้ป่วยสูงสุดคือ น่าน ตราด ชุมพร จันทบุรี และตาก ซึ่งกรมควบคุมโรคได้ให้ความสำคัญ กับเรื่องดังกล่าวที่ไม่ใช่เหตุการณ์ปกติ และเข้าเกณฑ์ที่จะต้องเปิดศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ของกรมควบคุมโรค จะมีอธิบดีกรมควบคุมโรคเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ และดำเนินการไปพร้อมกับหน่วยงานเครือข่ายในพื้นที่ระบาด เพื่อระดมสรรพกำลังและทรัพยากรจากส่วนอื่นๆ เข้ามาจัดการป้องกันควบคุมโรค ให้เกิดประสิทธิผลให้ได้มากที่สุด”

“จากข้อมูลการสำรวจดัชนีลูกน้ำยุงลาย ของกองโรคติดต่อนำโดยแมลง ที่สำรวจลูกน้ำยุงลายในภาชนะน้ำขังตามสถานที่ต่างๆ พบว่าวัดยังเป็นสถานที่ที่พบลูกน้ำสูงสุด (ร้อยละ 64.6) รองลงมาคือ โรงเรียน (ร้อยละ 55.1) สถานที่ราชการและโรงงานพบมากเป็นลำดับถัดมา ความสำคัญคือวัดเป็นสถานที่มีประชาชนเข้ามาทำบุญมากมาย อาจเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดโรคเป็นอย่างมาก และโรงเรียนคือสถานที่ที่มีกลุ่มเสี่ยง คือเด็กนักเรียนกลุ่มวัย 5 ปีขึ้นไป ซึ่งจากสถิติเป็นกลุ่มที่มีรายงานการป่วยมากที่สุด

นายแพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า “ช่วงนี้คือช่วงฤดูฝนที่กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศการเข้าฤดูฝน อย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ 22 พฤษภาคม 2566 และมีข่าวพายุลมฝนเกิดขึ้นเป็นระยะ ซึ่งทุกปี จะเป็นช่วงที่มีการระบาดของโรคไข้เลือดออกสูงสุด สืบเนื่องจากน้ำฝนที่ตกลงมา จะไปเพิ่มปริมาณแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในสถานที่ต่างๆ มากขึ้น การป้องกันควบคุมโรคให้ประสบผลสำเร็จ จะต้องมีมาตรการทั้งในมิติของคน เชื้อโรค ยุงพาหะ และต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยใช้หลายๆวิธีการร่วมกัน เช่น การลดแหล่งเพาะพันธุ์โดยการจัดการสิ่งแวดล้อม การกำจัดลูกน้ำยุง การป้องกันไม่ให้ยุงกัด การใช้สารเคมีในการกำจัดยุง โดยเฉพาะในกรณีเกิดการระบาดของโรค และฝากถึงประชาชนว่าหากมีอาการป่วย หรือสงสัยว่าป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก ต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัย และรับการรักษาที่ถูกต้อง ไม่ซื้อยารับประทานเองโดยเฉพาะยา ในกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟนไดโครฟีแนก แอสไพริน รวมถึงยาชุด ซึ่งมีผลทำให้เลือดออกในทางเดินอาหารได้ง่าย และยากต่อการรักษา ทำให้เสี่ยงต่อการเสียชีวิต”

ขณะที่ นายแพทย์รัฐพงษ์ บุรีวงษ์ ผู้อำนวยการกองควบคุมโรค และภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กล่าวว่า “การเปิดศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ มีวัตถุประสงค์หลักคือ เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกของประเทศไทย ให้ไม่เกินค่ามัธยฐานย้อนหลัง 5 ปี ภายในเดือนมิถุนายนและตลอดช่วงฤดูฝน (มิ.ย.-ส.ค.) และลดอัตราป่วยตายให้ไม่เกินร้อยละ 0.10 ในปี 2566 โดยใช้กลยุทธ์การติดตามกำกับและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ในทุกจังหวัดของประเทศไทย สอบสวนแหล่งแพร่โรคและควบคุมโรคในจังหวัด ที่มีการระบาดของโรคไข้เลือดออก สื่อสารความเสี่ยงและประชาสัมพันธ์เรื่องโรคไข้เลือดออก ด้วยสื่อที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย กำหนดให้มีภารกิจด้านต่างๆ คาดหวังให้มีการขับเคลื่อนระบบ การจัดการทั้งด้านบนและในฐานพื้นที่ระบาด ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค 1422”

Related Posts

Send this to a friend