‘ราชวิถี’ สร้างอวัยวะจำลองด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ ช่วยวินิจฉัยและวางแผนการผ่าตัด
โรงพยาบาลราชวิถี ใช้นวัตกรรมเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ สร้างอวัยวะจำลอง ช่วยวินิจฉัยและวางแผนการผ่าตัด ลดความเสี่ยงหรือข้อผิดพลาดในการรักษา
วันนี้ (25 ก.พ. 68) นายแพทย์สกานต์ บุนนาค รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า นวัตกรรมเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ มีประโยชน์ต่อผู้ป่วยอย่างมาก มีส่วนช่วยในการเตรียมตัวก่อนการผ่าตัด ผู้ป่วยสามารถเห็นภาพจำลองของอวัยวะหรือกรณีที่จะมีการผ่าตัด สามารถแบ่งปันข้อมูลและขั้นตอนต่าง ๆ ของการรักษาให้ผู้ป่วยได้เข้าใจการรักษาออกแบบการรักษาที่เฉพาะเจาะจงกับผู้ป่วยแต่ละราย ได้ผลลัพท์ที่แม่นยำเหมาะสมกับผู้ป่วย ลดความเสี่ยงหรือข้อผิดพลาดในการผ่าตัด
นายแพทย์จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า โรงพยาบาลราชวิถีเริ่มนำนวัตกรรมเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ มาใช้สนับสนุนการรักษาและการวินิจฉัย รวมถึงเป็นสื่อการเรียนการสอนสำหรับนักศึกษาแพทย์ และแพทย์ประจำบ้าน สามารถช่วยให้แพทย์มีเครื่องมือที่เหมาะสมในการศึกษา มีการพิมพ์อวัยวะจำลองชิ้นส่วนของร่างกาย หรือต้นแบบเครื่องมือทางการแพทย์ อุปกรณ์ช่วยในการผ่าตัด ช่วยให้แพทย์ออกแบบเครื่องมือและวางแผนการรักษาได้ดียิ่งขึ้น เหมาะสมกับร่างกายของผู้ป่วยแต่ละราย
แพทย์หญิงศศิกานต์ ภูมิคอนสาร นายแพทย์ชำนาญการ ศูนย์การแพทย์เฉพาะทางด้าน โสต ศอ นาสิก โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า นวัตกรรมเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ เป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่ไม่เพียงช่วยให้แพทย์ทำงานได้สะดวกขึ้น แต่ยังเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ที่ต้องการอวัยวะเทียมที่เหมาะสมกับร่างกายของตนเอง นับเป็นก้าวสำคัญของวงการแพทย์ไทยที่ช่วยลดความเสี่ยงทางการแพทย์ ทำให้การรักษาผู้ป่วยมีประสิทธิภาพสูงขึ้น
ปัจจุบันโรงพยาบาลราชวิถีนำนวัตกรรมเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ มาใช้ในหลากหลายสาขาการแพทย์ เช่น แผนกทันตกรรม ใช้พิมพ์อุปกรณ์ในช่องปาก รักษาผู้ป่วยเพดานโหว่ 375 ราย แผนกโสต ศอ นาสิก ใช้ศัลยกรรมตกแต่ง เตรียมการผ่าตัดด้านมะเร็งกระดูกใบหน้าและขากรรไกร รวมถึงการผ่าตัดเลื่อนกระดูกขากรรไกรในผู้ป่วยหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น และผู้ป่วยที่มีกระดูกใบหน้าแตกหักจากอุบัติเหตุรุนแรง 75 ราย รวมถึงแผนกศัลยกรรมหัวใจและทรวงอก แผนกศัลยศาสตร์ตกแต่ง แผนกออร์โธปิดิกส์ เป็นต้น ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2565 ถึงปัจจุบันไป นำเทคโนโลยีนี้ใช้รักษาแล้วกว่า 568 ราย