แพทย์ แนะ รับมือ “ซิลิโคนเถื่อน” ตรวจสอบให้ดี ผิดปกติผ่าตัดเปลี่ยน
นพ.ธนัญชัย อัศดามงคล แพทย์เฉพาะทางด้านศัลยกรรมตกแต่ง ผู้อำนวยการศูนย์ศัลยกรรมความงาม โรงพยาบาลบางมด ได้ออกมาแสดงความห่วงใย พร้อมแนะนำวิธีตรวจสอบ ซิลิโคนเสริมจมูกหรือเสริมคางในเพจ Dr. Thananchai หลังจากกรณีที่ตำรวจ กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค จับมือ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา บุกทลายโรงสีร้างใน อ.ศรีประจันต์ จ.สุพรรณบุรี ลักลอบผลิตซิลิโคนเถื่อน ส่งคลินิกเสริมความงามทั่วประเทศ เรื่องดังกล่าวสร้างความกังวลใจให้กับประชาชน ที่เข้ารับการทำศัลยกรรมกับคลินิกที่มีการเปิดเผยรายชื่อ ออกมาเป็นจำนวนมาก และตั้งคำถามว่าแล้วจะทราบได้อย่างไรว่า ซิลิโคนที่ตัวเองเสริมเข้าไป เป็นซิลิโคนเถื่อนหรือปลอม
นพ. ธนัญชัย กล่าวว่า “กรณีนี้ว่าไม่แนะนำให้เฝ้าสังเกตอาการ เพราะเราไม่ทราบได้เลยว่า สารที่ใส่เข้าไปในร่างกาย จะมีผลเสียกับร่างกายในระยะยาวหรือไม่ และสิ่งที่ให้ความสำคัญกว่านั้น คือวัสดุนั้นจะก่อให้เกิดมะเร็งในอนาคตได้หรือไม่ เพราะในเมื่อวัสดุนั้น ไม่มีการวิจัยใดๆ และผลิตจากโรงงานเถื่อนไม่ผ่าน อย. เราจึงไม่ควรเสี่ยงใช้การเฝ้าสังเกตอาการ สำหรับคำแนะนำคือให้ ”เปลี่ยน” ผ่าตัดเอาออกและใส่ซิลิโคนใหม่ ที่มีมาตรฐานทางการแพทย์ ผ่าน อย.เท่านั้น เพื่อความปลอดภัยกับตัวท่านเองในระยะยาว”
โดยเมื่อไม่กี่ปีมานี้ FDA ได้มีการขอเรียกคืน ถุงซิลิโคนเสริมหน้าอก จากบริษัทแห่งหนึ่งในหลายๆรุ่น สาเหตุเพราะตรวจพบในภายหลังว่า มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิด ALCL (มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดหนึ่ง ที่สัมพันธ์กับถุงซิลิโคนหน้าอก) ในระดับที่มากกว่าซิลิโคนอื่นๆ ซึ่งในกรณีดังกล่าว ถุงซิลิโคนผ่านการรับรองของ FDAตั้งแต่แรก แต่มาตรวจพบจากการวิจัยในช่วงหลัง คำแนะนำของ FDA ทั่วโลกจึงทำได้ชัดเจน เพราะมีการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้อง รุ่นที่ไม่เกี่ยวข้อง ก็ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยน ใช้การสังเกตอาการไปได้ ส่วนคนที่มีปัญหาใช้ซิลิโคนรุ่นที่เสี่ยง ก็ทยอยมาเปลี่ยนตามความเหมาะสม อันนี้เป็นตัวอย่างวัสดุที่ผ่าน อย. แล้ว นอกจากจะมีความปลอดภัย ณ วันที่ตรวจสอบผ่านแล้ว ในระยะยาวยังมีการวิจัยต่อเนื่อง และมีการแจ้งเตือนหากพบความเสี่ยงในภายหลัง เพื่อความปลอดภัยสูงสุดของผู้บริโภคด้วย
“เมื่อกลับมาเปรียบเทียบกับข่าวในปัจจุบัน เป็นการจับโรงงานเถื่อน ในการผลิตซิลิโคนเสริมจมูก คาง กรณีนี้เป็นโรงงานเถื่อน และวัสดุไม่ผ่าน อย.ยิ่งตอกย้ำว่าเราจึงไม่ควรเสี่ยง จะใช้วิธีสังเกตอาการเลยเพราะขนาดของที่ผ่าน อย.ถูกต้องแล้ว ในอนาคตยังมีโอกาสเกิดโรคใหม่ ที่ไม่คาดคิดได้ ดังเช่น ALCL แล้วถ้าของที่ไม่ผ่าน อย.มันจะเสี่ยงมากขนาดไหน จึงอยากให้องค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำซิลิโคนที่ปลอมเหล่านี้ ไปตรวจพิสูจน์โดยละเอียด ว่าเป็นสารประเภทใด มีอันตรายต่อร่างกายหรือไม่ ?มากน้อยเพียงใด? และมีคำแนะนำอย่างเป็นทางการ สำหรับผู้ที่เสริมไปแล้วว่า ควรเปลี่ยน หรือ ให้เฝ้าสังเกตอาการ เพราะมีผู้ที่ได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก แต่หากยังไม่มีคำชี้แจงใดๆที่ชัดเจน ตามหลักการแพทย์ ถือเรื่องความปลอดภัยเป็นสำคัญ ของที่ไม่ได้มาตรฐาน ไม่รู้ผลลัพธ์ในระยะยาว ไม่ควรเสี่ยงที่จะให้อยู่ในร่างกายของเรา”