HEALTH

กรมสุขภาพจิต ห่วงใยผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดขาดการรักษา ย้ำลงพื้นที่ดูแลผู้ป่วยผิดนัด

แพทย์หญิงอัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ล่าสุดเผยข้อมูลว่า ผู้ป่วยจิตเวชที่มารับบริการ ณ หน่วยบริการสังกัดกรมสุขภาพจิต ที่ขาดการรักษาตามนัด เป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยขาดการประเมินอาการและขาดการรับยาต่อเนื่อง ย้ำเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเร่งดูแลติดตามส่งต่อข้อมูลสร้างระบบเชื่อมโยงเครือข่ายชุมชน ญาติผู้ใกล้ชิดตระหนักสังเกตผู้ป่วยและมารักษาตามนัด จะช่วยระงับอาการจิตเวชกำเริบ และลดการก่อเหตุความรุนแรงในสังคมได้

แพทย์หญิงอัมพร กล่าวว่า “โรงพยาบาลจิตเวชและสถาบันในสังกัดกรมสุขภาพจิต ได้ให้บริการดูแลผู้ป่วยจิตเวชและยาสพติดทุกกลุ่มวัย และทุกกลุ่มโรคทางจิตเวช โดยอาการทางจิตเวชเป็นผลจากระบบสารเคมีในสมองผิดปกติ จนมีอาการ ด้านความคิด อารมณ์ พฤติกรรมที่รับรู้ต่างจากความเป็นจริง และผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับยา ที่ออกฤทธ์ปรับการทำงานของสารสื่อประสาท ให้กลับสู่ภาวะปกติและเสถียรโดยเร็วและต่อเนื่อง จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถฟื้นคืนสภาวะจิตใจ ใช้ชีวิตได้อย่างสงบสุขและมีคุณค่าในสังคม ทว่าจากการสำรวจสถานการณ์และฐานข้อมูลของผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติด ในหน่วยบริการกรมสุขภาพจิต ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2563 ถึง 30 กันยายน 2565 พบว่าผู้ป่วยยาเสพติดที่มีอาการทางจิตผิดปกติ 47,957 ราย ขาดรับตรวจตามนัดภายใน 6 เดือนถึงร้อยละ 17.17 ขณะที่ผู้ป่วยโรคจิตเภท 57,754 ราย ขาดการติดตามนัด ร้อยละ 8.34 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเสี่ยง ที่อาจเกิดขึ้นจากการกินยา อาจไม่เหมาะสมหรือไม่ต่อเนื่องได้ เพราะในบางรายเมื่อขาดยาจิตเวช จะทำให้ขาดการควบคุมอารณ์ ขาดสติและในกรณีผู้เสพติด จะหวนกลับใช้ยาเสพติดซ้ำได้ง่าย ซึ่งสัมพันธ์กับการก่อเหตุรุนแรง จนสร้างความตื่นตระหนกให้กับสังคม ทั้งนี้ สถานการณ์การระบาดไวรัส โควิด 19 ที่ผ่านมา ทำให้ญาติดูแลใกล้ชิดได้ยากขึ้น และผู้ป่วยรับการรักษาตามนัดได้ไม่สะดวก อีกทั้งระบบให้บริการบางพื้นที่ อาจมีอุปสรรคในการส่งต่อข้อมูลการดูแลผู้ป่วย และเชื่อมโยงเครือข่ายการติดตามไม่ได้เช่นเดิม”

“กรมสุขภาพจิตตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงเร่งผลักดันนโยบาย การใช้ยาจิตเวชแบบฉีดชนิดออกฤทธิ์ระยะยาว (Long-acting)อย่างน้อย 2 สัปดาห์ถึง 1 เดือน เพื่อคุมอาการในกรณีผู้ป่วยไม่สะดวกรับยากินต่อเนื่อง การดูแลเชิงรุกด้านการตรวจรักษาสุขภาพจิตทางไกล (Telepsychiatry) และรถติดตามดูแลผู้ป่วยจิตเวชในชุมชน รวมทั้งการร่วมผลิตจิตแพทย์ และสหวิชาชีพด้านจิตเวชให้สามารถปฏิบัติงานเชิงรุกครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ อย่างไรก็ตามองค์ประกอบสำคัญ ที่ช่วยให้สถานการณ์การดูแลผู้ป่วยจิตเวช ให้ต่อเนื่องดีขึ้นได้ในขณะนี้ คือการเร่งประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานสาธารณสุข และหน่วยงานต่างๆในพื้นที่ ให้รับทราบและวิเคราะห์ข้อมูลผู้ป่วย จัดทำแนวทางบูรณาการทรัพยากร และบทบาทหน้าที่เพื่อช่วยกันดูแล ติดตามฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติดอย่างเป็นระบบ กระตุ้นครอบครัวผู้ป่วยจิตเวชหมั่นใส่ใจดูแล พร้อมรณรงค์สร้างความเข้าใจแก่ชุมชน และให้โอกาสส่งเสริมอาชีพผู้ป่วยจิตเวช ทำให้ผู้ป่วยมีกำลังใจ คงไว้ซึ่งการรักษาต่อเนื่อง เพื่อใช้ชีวิตร่วมกันกับผู้อื่นและลดปัญหาความรุนแรง”

ด้าน แพทย์หญิงบุญศิริ จันศิริมงคล ผู้อำนวยการสำนักความรอบรู้สุขภาพจิต กล่าวว่า “ญาติและผู้ใกล้ชิดเป็นผู้เสียสละทุ่มเทเวลา ใช้พลังกายและพลังใจ ในการใส่ใจดูแลผู้ป่วยจิตเวชและยาเสพติด ทั้งการกินยาสม่ำเสมอ พบแพทย์ตามนัด รับฟังให้กำลังใจ ไม่กระตุ้นอารมณ์ ทำความเข้าใจยอมรับเพื่อช่วยผู้ป่วยฯปรับอารมณ์ ความคิด พฤติกรรมที่เหมาะสมและร่วมพิทักษ์สิทธิ ผู้ป่วยจิตเวช ซึ่งครอบครัวสามารถสังเกต อาการสัญญานเตือนแสดงความผิดปกติ หรืออาการกำเริบได้ดังนี้คือไม่หลับไม่นอน, เดินไปเดินมา, พูดจาคนเดียว, หงุดหงิดฉุนเฉียว, คิดหวาดระแวง, หูแว่ว เห็นภาพหลอน, ก้าวร้าว, ทำร้ายตัวเองหรือผู้อื่น, แยกตัวออกจากสังคม, อยากฆ่าตัวตาย เป็นต้น

“ในส่วนข้อแนะนำสำหรับผู้ป่วยจิตเวชนั้น ควรดูแลสุขลักษณะ พักผ่อนเพียงพอ ดูหนังหรือเล่นเกมออน์ไลน์ไม่นานเกินไป พยายามทำกิจกรรม ออกกำลังกาย ทำงาน งดเสพสิ่งมึนเมา สารกระตุ้นหรือยาเสพติด และห้ามมีอาวุธหรือวัตถุที่เป็นอาวุธได้ในที่พัก ผู้ป่วยและญาติควรช่วยกันฝึกวินัยการกินยาต่อเนื่อง สังเกตอาการข้างเคียงของยา และมาพบแพทย์ตามนัดหรือทันที หากพบอาการผิดปกติ ส่วนชุมชน เจ้าหน้าที่สาธารณสุข กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อบต.เทศบาล สามารถเป็นหูเป็นตา สอดส่องให้การช่วยเหลือ ผู้ป่วยจิตเวชและครอบครัว หรือปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต1323 สำหรับประชาชนที่พบเจอผู้ที่มีอาการทางจิต ที่อาจก่ออันตรายทั้งต่อตนเองและผู้อื่น โปรดแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ พนักงานฝ่ายปกครอง หรือแจ้งสายด่วนตำรวจ 191 หรือ สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.)สายด่วน1669 หรือมูลนิธิฯกู้ชีพหรือกู้ภัย หรือพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.สุขภาพจิต เพื่อนำผู้ป่วยส่งสถานพยาบาลได้

Related Posts

Send this to a friend

Thailand Web Stat