HEALTH

กรมอนามัย ชี้ ‘ตู้กาแฟกัญชา’ เป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ต้องขออนุญาตท้องถิ่น

นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย ล่าสุดออกคำเตือนประชาชน เกี่ยวกับตู้กาแฟรวมถึงตู้ขายเครื่องดื่มอัตโนมัติ ที่มีส่วนผสมของกัญชา ถือเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ต้องขออนุญาตราชการส่วนท้องถิ่นก่อนดำเนินการ และต้องไม่ขัดต่อกฎหมายอื่นๆ พร้อมย้ำว่าผู้ประกอบกิจการ ควรติดป้ายสัญลักษณ์ หรือแสดงข้อความเตือนให้ชัดเจน และแสดงข้อแนะนำความปลอดภัย ในการบริโภคเครื่องดื่มที่มีกัญชาเป็นส่วนผสม เช่น ผู้ที่แพ้กัญชา บุคคลที่มีอายุต่ำกว่ายี่สิบปี ทั้งนี้สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร ควรงดเว้นรับประทาน

นายแพทย์อรรถพล กล่าวว่า “ปัจจุบันเริ่มมีตู้กาแฟกัญชา และตู้ขายเครื่องดื่มอัตโนมัติที่มีส่วนผสมของกัญชา วางจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าหรือบริเวณต่างๆนั้น ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ระบุว่าตู้กดเครื่องดื่มแบบหยอดเหรียญอัตโนมัติ มีลักษณะการทำงานของตู้คือมีการผสมผงเครื่องดื่มชนิดต่างๆ อาทิ ชา กาแฟ กัญชา กับน้ำร้อนภายในตู้ และผลิตออกมาเป็นเครื่องดื่มร้อนใส่แก้วกระดาษ หรือภาชนะอื่นใดที่ติดตั้งพร้อมในตู้ กรณีนี้เข้าข่ายเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ. 2558 ประเภทที่ 3 (17) การผลิต สะสม หรือแบ่งบรรจุ น้ำอัดลม น้ำหวาน น้ำโซดา น้ำจากพืช ผัก ผลไม้ เครื่องดื่มชนิดต่างๆ ตามมติคณะอนุกรรมการบริหาร และขับเคลื่อนการบังคับใช้กฎหมายว่าด้วยการสาธารณสุข การประชุมครั้งที่ 10-1/2564 เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งได้พิจารณาข้อหารือกรณีการประกอบกิจการ ตู้กาแฟหยอดเหรียญอัตโนมัติ หากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใดได้ ออกข้อบัญญัติท้องถิ่นควบคุมกิจการ ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพประเภทดังกล่าวไว้

“ผู้ใดจะดำเนินกิจการประเภทดังกล่าว ในลักษณะที่เป็นการค้า ต้องได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานท้องถิ่นนั้นก่อนประกอบกิจการ ตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ยกเว้นเป็นการดำเนินกิจการ ในสถานที่จำหน่ายอาหาร การเร่ขาย การขายในตลาด และการผลิตเพื่อบริโภคในครัวเรือน ทั้งนี้หากฝ่าฝืนประกอบกิจการ ที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยไม่ได้รับใบอนุญาต มีโทษตามมาตรา 71 จำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

“รวมทั้งตู้จำหน่ายเครื่องดื่มแบบหยอดเหรียญอัตโนมัติ ที่บรรจุหรือสะสมเครื่องดื่ม ที่มีส่วนผสมของกัญชาในขวด หรือภาชนะบรรจุที่ปิดสนิทไว้จำหน่าย ก็เข้าข่ายเป็นกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ประเภทที่ 3 (17) การสะสม เครื่องดื่มชนิดต่างๆบรรจุกระป๋อง ขวดหรือภาชนะอื่นใด เช่นเดียวกัน ซึ่งทั้ง 2 กรณี ราชการส่วนท้องถิ่น ต้องตรวจสอบและพิจารณาอนุญาต โดยต้องไม่ขัดต่อกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย เนื่องจากกฎกระทรวงควบคุม สถานประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ พ.ศ. 2560 ข้อ 5 กำหนดให้ผู้ดำเนินกิจการ ในสถานประกอบกิจการประเภท ที่ราชการส่วนท้องถิ่น ได้ออกข้อบัญญัติท้องถิ่นกำหนด ให้เป็นกิจการที่ต้องควบคุม และมีผลใช้บังคับในท้องถิ่นนั้นแล้ว ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องด้วย”

โดยเฉพาะกรณีการประกอบกิจการ ติดตั้งตู้กดเครื่องดื่มแบบหยอดเหรียญอัตโนมัติ ที่มีการจำหน่ายเครื่องดื่มประเภทกัญชา จะต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมายอื่น ที่เกี่ยวข้องด้วย อาทิ กฎหมายว่าด้วยอาหาร และประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง สมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ. 2565 ซึ่งกำหนดให้กัญชา (เฉพาะส่วนของช่อดอก) เป็นสมุนไพรควบคุม ผู้ใดจะจำหน่ายสมุนไพรควบคุมต้องได้รับใบอนุญาต ตามความในมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครอง และส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542

“ทั้งนี้มาตรการกฎหมาย เป็นมาตรการหนึ่งที่จะควบคุมดูแล แต่ที่สำคัญคือการสร้างความร่วมมือทุกภาคส่วน โดยมุ่งเน้นสร้างความรอบรู้ให้กับประชาชน เพื่อให้สามารถตัดสินใจเลือกบริโภคอาหารที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ และมีส่วนร่วมเฝ้าระวังร่วมกับภาครัฐ และในส่วนผู้ประกอบกิจการก็ต้องสร้างความตระหนักต่อสังคม ในการที่จะระมัดระวังการจำหน่ายเครื่องดื่ม ที่มีส่วนผสมของกัญชาในเด็กหรือสตรีมีครรภ์ ”

Related Posts

Send this to a friend