สธ. เดินหน้ารับฟังความเห็น 6 ด้าน พัฒนาระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิ เตรียมเสนอที่ประชุมฃครั้งต่อไป
วันนี้ (21 มิ.ย. 66) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการระบบสุขภาพปฐมภูมิ ครั้งที่ 1/2566 โดยมี นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี
นายอนุทิน กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขออก พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ.2562 เพื่อขับเคลื่อนการให้บริการสุขภาพปฐมภูมิที่มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ มาตรฐาน และเป็นธรรม ต้องอาศัยความร่วมมือของภาคีเครือข่ายระหว่างภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาชน สอดคล้องกับเป้าหมายที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดคือ “ประชาชนแข็งแรง เศรษฐกิจไทยเข้มแข็ง ประเทศไทยแข็งแรง” นำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในระบบการให้บริการ เช่น Telemedicine และ Telehealth ทำให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลสุขภาพของตัวเอง โดยจัดตั้งสำนักสนับสนุนระบบสุขภาพปฐมภูมิ (สสป.) เป็นหน่วยงานหลักในการประสานภาพรวมกับทุกภาคส่วน
นายอนุทิน กล่าวต่อว่า ที่ประชุมมีการพิจารณาแนวทางการรับฟังความคิดเห็นตาม พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ.2562 ซึ่งกำหนดให้มีการรับฟังความคิดเห็นจากผู้รับบริการ หน่วยบริการปฐมภูมิ เครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิ และผู้เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาการจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิและระบบสุขภาพปฐมภูมิให้มีคุณภาพและมาตรฐานสูงขึ้น
คณะกรรมการระบบสุขภาพปฐมภูมิ มีมติให้ออกประกาศเรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการรับฟังความคิดเห็นจากผู้รับบริการ หน่วยบริการปฐมภูมิ เครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิ และผู้เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิ และระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2564 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 64 โดยเห็นชอบในหลักการของ (ร่าง) เค้าโครงการรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องกับการจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิตามมาตรา 32 แห่ง พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ. 2562 และมอบหมายให้ สสป.รรับฟังความคิดเห็น พร้อมจัดทำสรุปผลต่อคณะกรรมการฯ ในการประชุมครั้งต่อไป
สำหรับวิธีการเก็บข้อมูล จะใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนทั่วไปและผู้รับบริการสุขภาพปฐมภูมิ ช่วงเดือนกรกฎาคม 2566 นี้ ในประเด็นความพึงพอใจต่อการจัดบริการสุขภาพปฐมภูมิ 6 ด้าน ได้แก่
1.ด้านเจ้าหน้าที่หรือบุคลากรที่ให้บริการ (แพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว และคณะผู้ให้บริการสุขภาพปฐมภูมิ)
2.ด้านกระบวนการหรือขั้นตอนการให้บริการสุขภาพปฐมภูมิ
3.ด้านช่องทางการติดต่อสื่อสาร
4.ด้านสถานที่ อุปกรณ์ และสิ่งอำนวยความสะดวก
5.ด้านระบบสารสนเทศ
6.ด้านคุณภาพบริการสุขภาพปฐมภูมิ