HEALTH

กรมอนามัย เตือน ประชาชนในพื้นที่ นนทบุรี-ปทุมธานี-กทม.เตรียมพร้อมรับมือแผ่นดินไหว

วันนี้ (21 มิ.ย. 66) นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย ออกคำเตือน ประชาชนในพื้นที่เสี่ยง ในจังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี และกรุงเทพมหานคร เตรียมพร้อมรับมือแผ่นดินไหว รอยเลื่อนสกาย อย่างปลอดภัย เพื่อลดเสี่ยงผลกระทบต่อสุขภาพ อาทิ การได้รับบาดเจ็บ และเสียชีวิตจากการพังทลายของอาคาร สิ่งปลูกสร้าง เสาไฟฟ้า และป้ายโฆษณาต่างๆ และเกิดความเสียหายต่อระบบสาธารณูปโภค เช่น ระบบประปา ระบบไฟฟ้า ระบบสื่อสาร เป็นต้น

นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวว่า “เนื่องจากข้อมูลรายงานการเกิดสถานการณ์ภัยพิบัติ จากแผ่นดินไหวของกองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2566 พบเหตุแผ่นดินไหว โดยมีจุดศูนย์กลางบริเวณนอกชายฝั่งทางตอนใต้ ของประเทศเมียนมา ขนาดความรุนแรง 6.0 และความลึก 10 กิโลเมตร ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงเทพมหานคร ประมาณ 500 กิโลเมตร ส่งผลให้ประชาชนในจังหวัดนนทบุรี ปทุมธานี และกรุงเทพมหานคร รับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือน และรู้สึกสั่นไหวในหลายพื้นที่”

“ผลกระทบจากแผ่นดินไหว หากมีความรุนแรงอาจส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงได้รับบาดเจ็บ และเสียชีวิตจากการพังทลายของอาคาร สิ่งปลูกสร้าง เสาไฟฟ้า และป้ายโฆษณาต่างๆ และเกิดความเสียหายต่อระบบสาธารณูปโภค เช่น ระบบประปา ระบบไฟฟ้า ระบบสื่อสาร เป็นต้น บางพื้นที่อาจมีไฟฟ้าลัดวงจรและเกิดอัคคีภัย ทำให้ประชาชนบาดเจ็บหรือเสียชีวิต และอาจส่งผลต่อภาวะจิตใจของประชาชนที่ประสบเหตุได้”

“สำหรับการเตรียมพร้อม และเอาตัวรอดจากเหตุแผ่นดินไหวอย่างปลอดภัย กรมอนามัยแนะแนวปฏิบัติด้านส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม การป้องกันและลดผลกระทบ ต่อสุขภาพกรณีเกิดแผ่นดินไหว เพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพประชาชน ดังนี้”

1.ติดตาม รับฟังข่าวสารจากหน่วยงานภาครัฐ แจ้งเตือนเหตุแผ่นดินไหวในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง และเมื่อเกิดเหตุให้ตั้งสติ อย่าตื่นตระหนก และเตรียมพร้อมอพยพอยู่เสมอ

2.กรณีอาศัยอยู่ภายในบ้านให้หมอบลง ที่พื้นใต้โครงสร้างอาคารแข็งแรง ป้องกันสิ่งของจากเพดานหรือที่สูงหล่นใส่

3.กรณีเปิดแก๊สประกอบปรุงอาหาร ให้หยุดการทำกิจกรรมดังกล่าว และปิดแก๊สโดยทันที

4.กรณีอยู่ในอาคารสูง คอนโด อพาร์ทเม้นต์ ให้เตรียมอพยพ หากมีความรุนแรงต่อเนื่อง ให้รีบออกจากอาคารทันที โดยใช้ทางหนีไฟ ห้ามใช้ลิฟท์โดยสารเด็ดขาด เมื่อพ้นจากอาคารให้ออกไปให้ห่างจากตัวอาคารให้มากที่สุด และต้องคำนึงถึงบุคคลในบ้าน ที่เป็นกลุ่มเปราะบาง กลุ่มเสี่ยงทางสุขภาพควรเตรียมหาทาง พาออกจากพื้นที่โดยเร่งด่วน
5.ออกห่างจากหน้าต่าง และประตู โดยเฉพาะกระจก ป้องกันอันตราย และลดความเสี่ยงการบาดเจ็บ หรือเสียชีวิตจากกรณีตัวโครงสร้าง ที่ถูกทำลายจากแผ่นดินไหวรุนแรง

6.กรณีที่อยู่นอกตัวอาคารอยู่แล้ว ห้ามเข้าไปในอาคาร และสังเกตจุดที่ยืนหลบภัย ต้องไม่มีสิ่งปลูกสร้างสูง ป้ายโฆษณา ต้นไม้ เสาไฟฟ้า โดยรอบ เพื่อป้องกันการถล่มหรืออุบัติเหตุได้

7.เตรียมเก็บสิ่งของที่จำเป็นให้พร้อม สามารถหยิบออกมาได้ทันทีเมื่อเกิดเหตุ เช่น ยาสามัญประจำบ้าน ยารักษาอาการประจำตัว ไฟฉาย โทรศัพท์มือถือที่ชาร์ตแบตเตอรี่ เต็มอยู่เสมอ โดยเฉพาะน้ำดื่มต้องมีติดตัวไว้ตลอดเวลา

“ทั้งนี้ ขอให้ประชาชนเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ การเกิดแผ่นดินไหวอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ ให้ดูแลและเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ให้สังเกต ทำความคุ้นเคยทางออกฉุกเฉิน หรือทางหนีไฟที่ใกล้ตัวที่สุด หากเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวจะได้สามารถหนีออกมาได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัย ลดความเสี่ยงการสูญเสีย บาดเจ็บ และเสียชีวิต”

Related Posts

Send this to a friend