HEALTH

เตือน ภาวะข้อเข่าเสื่อมในผู้สูงอายุ เสี่ยงกระทบต่อการเคลื่อนไหว แนะ ควบคุมน้ำหนักป้องกันโรคอ้วน

นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เตือน ภาวะข้อเข่าเสื่อม เป็นปัญหาสำคัญที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ และพบมากในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย โดยเฉพาะผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก อ้วน และมีการใช้ข้อเข่าอย่างหนัก ทั้งนี้ภาวะข้อเข่าเสื่อม จะส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหว และทำให้ข้อเข่าบวม ผิดรูป ขาโก่ง รวมถึงปวดเข่า และส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ดังนั้นความรู้ความเข้าใจ ภาวะข้อเข่าเสื่อมจึงเป็นสิ่งจำเป็น ที่ทำให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี และดำรงชีวิตได้ใกล้เคียงปกติ

นายแพทย์วีรวุฒิ กล่าวว่า “โรคข้อเข่าเสื่อมเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ พบมากในวัยกลางคนและผู้สูงอายุ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้ที่มีภาวะข้อเข่า เสื่อมมาก ถ้าไม่ได้รับการรักษาหรือปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสม โรคจะดำเนินไปเรื่อยๆ เป็นภาวะที่กระดูกอ่อนผิวข้อนั้น มีการเสื่อมและถูกทำลายร่วม กับการลดลงของน้ำไขข้อ ซึ่งทำให้ส่วนปลายของกระดูกข้อเข่า มีการเสียดสีกันโดยตรง เกิดการงอกของกระดูกบริเวณขอบโดยรอบ ของข้อเข่าที่เกิดการเสื่อม ส่งผลให้มีอาการปวด อักเสบ และสูญเสียการเคลื่อนไหวของข้อต่อตามมา สาเหตุของการเกิดภาวะข้อเข่าเสื่อมที่แท้จริงยังไม่ทราบแน่ชัด แต่จะพบว่าผู้ที่มีปัจจัยความเสี่ยงสูง คือ อายุมากโดยเฉพาะช่วงอายุ 50-75 ปี พบเพศหญิงได้มากกว่าเพศชาย อ้วน น้ำหนักตัวมาก มีการใช้งานของข้อเข่าอย่างหนัก และเคยได้รับบาดเจ็บของข้อเข่ามาก่อน”

นายแพทย์ธนินทร์ เวชชาภินันท์ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กล่าวว่า “อาการที่สำคัญของ ข้อเข่าเสื่อม คือ ปวดตื้อๆ บริเวณรอบๆข้อเข่า มีปวดมากขึ้นเมื่อใช้งานในทางงอ หรือลงน้ำหนัก ข้อเข่าฝืดตึง โดยเฉพาะช่วงเช้า มีเสียงดังกรอบแกรบขณะเคลื่อนไหว และข้อเข่าบวม ผิดรูป ขาโก่ง วิธีการรักษาและดูแลป้องกัน โดยการรักษาทางยา เช่น พาราเซตามอล ยาแก้ปวด เพื่อบรรเทาอาการ หรือยากลุ่มกลูโคซามีน-ซัลเฟต เพื่อการสร้างน้ำไขข้อ การรักษาโดยการใช้เครื่องมือทางกายภาพ เช่น แผ่นความร้อนอัลตราซาวด์และกระตุ้นไฟฟ้า การออกกำลังกาย เพื่อเพิ่มความแข็งแรงกล้ามเนื้อรอบๆข้อ การใช้อุปกรณ์พยุงข้อเข่า เพื่อลดอาการปวดและเพิ่มความมั่นคงของข้อ ช่วยลดความเสี่ยงของการหกล้ม ผู้ป่วยบางรายอาจต้องใช้เครื่องช่วยเดิน เช่น ไม้เท้า หรือ Walker รวมถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ท่าทาง การใช้ชีวิตประจำวันและสภาพแวดล้อม ควบคุมน้ำหนักตัวไว้ในระดับที่เหมาะสม กรณีผู้ป่วยที่เป็นมาระยะเวลานาน และอาการรุนแรงจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด”

“ทางสถาบันประสาทวิทยา เปิดให้บริการคลินิกสูงอายุคุณภาพ ในวันพุธ ที่ 2 และ 4 ของเดือน และให้บริการคลินิกนอกเวลาราชการ (SMC) ในวันเสาร์สัปดาห์ที่ 2 ของเดือน โดยอายุรแพทย์คลินิกสูงอายุคุณภาพ แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูและนักกายภาพบำบัด เภสัชกร นักจิตวิทยาคลินิก นักโภชนาการ นักเทคนิคการแพทย์ และทีมพยาบาล SMC”

Related Posts

Send this to a friend

Thailand Web Stat