สธ.รับมือโรคไต เชิงรุกและรับแบบฉบับ “ผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง”

โรคไตเป็นโรคที่เป็นแล้วเป็นเลย ไม่หายขาด คนไทยป่วยเป็นโรคไตเป็นอันดับต้นๆ ในอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นคนรวยหรือคนจน ก็สามารถเป็นโรคไตได้หากไม่ระมัดระวังเรื่องอาหารการกิน โดยเฉพาะความเค็มในอาหาร ที่ในบางครั้งคนที่มีรายได้น้อยยากที่จะมีตัวเลือกในการกินมากนัก แม้ว่ารู้ทั้งรู้อยู่ก็ตาม อย่างเช่น อาหารใส่เครื่องปรุงรสจัดเกินไป ขนมขบเคี้ยว บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป รวมไปถึงโรคอื่นๆ ที่เป็นลูกโซ่เช่น เบาหวาน ความดัน ฯลฯ
ผู้ป่วยที่มีอาการไตวายเรื้อรัง หากเป็นผู้ป่วยที่มีเงิน หรือร่ำรวยก็สามารถจ่ายค่ารักษาในโรงพยาบาลที่ตัวเองมั่นใจ และไว้ใจได้อย่างไม่ลำบากนัก บางคนอาจรับบริจาคไต ปลูกถ่ายไต หรือซื้อเครื่องฟอกไตเทียมไว้ที่บ้าน แต่ถ้าเป็นระดับรากหญ้า ชาวบ้านที่หาเช้ากินค่ำ การลางานไปรักษาตัวอยู่บ่อยๆ ก็ต้องกระทบต่อรายได้ และประสิทธิภาพการทำงานอย่างแน่นอน
แม้ว่าผู้ป่วยจะล้างไตผ่านทางช่องท้อง ซึ่งเป็นวิธีล้างไตที่ผู้ป่วยจะได้รับการฝังสายท่อล้างไตแบบถาวรเข้าไปในช่องท้องผู้ป่วย ซึ่งก็เป็นเรื่องยากลำบากสักหน่อยหากต้องทำงานควบคู่ไปด้วย ที่ต้องลุกเดินหรือเกร็งหน้าท้อง หากล้างเองที่บ้านก็ต้องระวังเรื่องการติดเชื้อ เพราะไม่อย่างนั้นอาจมีภาวะแทรกซ้อนได้
สำหรับผู้ที่ไม่ต้องการ หรือไม่สามารถล้างไตผ่านช่องท้องได้ เดิมต้องจ่ายการฟอกเลือดเองหากลองคำนวนค่าใช้จ่ายคร่าวๆ แล้วอาจจะทำให้เป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (แบบชั่วคราว) เพิ่มมาอีกโรคก็ได้ เพราะแต่เดิมผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ใช้สิทธิบัตรทอง จะต้องมีค่าใช้จ่ายต่อครั้งในการฟอกเลือดราว 1,500 บาท และต้องทำประมาณ 2- 3 ครั้ง ต่อสัปดาห์ เท่ากับหนึ่งสัปดาห์ต้องมีค่าใช้จ่ายราวๆ 3,000 – 4,500 บาท
หากลองย้อนกลับมาคิดในส่วนของรายได้ที่ได้รับละ หากรับค่าจ้างในเรทรายได้ขั้นต่ำด้วยแล้ว บอกเลยว่าไม่พอจ่ายแน่นอน ไหนจะยังค่าเดินทาง ค่าครองชีพอื่นๆ อีกมากมาย ทำให้ผู้ป่วยบางรายไม่สามารถเข้ารับการรักษาที่ต่อเนื่องได้ ส่งผลถึงสภาพจิตใจเพิ่มขี้นไปอีก มีผู้ป่วยบางรายถึงกับต้องหยุดการรักษาไปเลย ซึ่งเสี่ยงต่อการเสียชีวิต
สิทธิบัตรทอง ในปัจจุบันครอบคลุมการล้างไตทั้งแบบล้างผ่านหน้าท้อง และการล้างไตด้วยการฟอกเลือดได้โดยไม่ต้องจ่ายเงินเอง หรือฟรี!!! คนไข้สามารถร่วมตัดสินใจเลือกวิธีการล้างไตกับแพทย์ เริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการช่วยพยุงผู้ป่วยไตวายเรื้อรังในยุคที่ทั่วโลกเกิดวิกฤตเงินเฟ้อ ค่าครองชีพพุ่งสูงขึ้นได้อย่างดีเลยทีเดียว
เกิดความยืดหยุ่นและเป็นทางเลือกสำหรับผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย โดยคำนึงถึงความจําเป็นและคุณภาพบริการที่ผู้ป่วยจะได้รับ ให้ผู้ป่วยสามารถร่วมตัดสินใจเลือกวิธีการล้างไตกับแพทย์โดยคํานึงถึงรายได้ ความหนัก/เบาของโรค ปัจจัยด้านการทำงาน และความเหมาะสมเพื่อเป็นการป้องกันเชิงรุกด้านสุขภาพของประชาชนให้ห่างไกลจากโรคไตวายเรื้อรัง
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เปิดไฟเขียวให้ทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ทำโครงการเพื่อลดจำนวนผู้ป่วยโรคไตรายใหม่ โดยเดินหน้า “มาตรการเพิ่มประสิทธิภาพและลดค่าใช้บริการไตวายเรื้อรัง” ด้วยนโยบาย “ทศวรรษมาตรการการชะลอไตเสื่อม เพื่อลดผู้ป่วยโรคไตรายใหม่” ซึ่งมอบหมายหน่วยบริการสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ทุกระดับ จัดบริการคลินิกโรคไตเรื้อรัง (CKD Clinic) แบบบูรณาการ
โดยขอรับสนับสนุนงบประมาณจาก กปท. ตลอดจนมอบหมายให้ สปสช.จัดทำตัวอย่างโครงการเพื่อให้หน่วยบริการดำเนินการขอรับงบประมาณจาก กปท. ตลอดจนประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ร่วมการสนับสนุน
ทั้งนี้ กลไกและกิจกรรมเพื่อชะลอไตเสื่อมตามมาตรการป้องกันและชะลอจำนวนผู้ป่วยโรคไตรายใหม่ จะประกอบด้วย
- คณะกรรมการนโยบายพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับพื้นที่ จะช่วยกันสนับสนุนการขับเคลื่อนนโยบายในพื้นที่ที่ดูแล
- สธ.ขับเคลื่อนนโยบายให้หน่วยบริการทุกระดับจัดบริการ CKD clinic Model ในชุมชน แบบมัลติฟังก์ชั่น โดยทีม แพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักกายภาพบำบัด และโภชนากร ช่วยกัน
- โรงพยาบาลชุมชน โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ท้องถิ่น และองค์กรเอกชน สามารถเสนอโครงการเพื่อรับการสนับสนุนงบประมาณจาก กปท. โดยในโครงการจะมีกิจกรรมการค้นหาผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงที่ไตจะเสื่อม เช่น ผู้ป่วยเบาหวาน ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ผู้ที่ใช้ยารักษาโรคเป็นเวลานาน การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมบริโภค การเยี่ยมบ้านเพื่อให้ความรู้ในการดูแลสุขภาพ ลดพฤติกรรมเสี่ยง และส่งเสริมการออกกำลังกาย ฯลฯ
จะเห็นได้ว่าการที่ สธ.ยื่นมือเข้ามาอุ้มผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังที่ใช้บัตรทอง ให้สามารถมีทางเลือกในการรับการรักษาได้อย่างถ้วนหน้านับเป็นการตั้งรับที่ดี ขณะที่เชิงรุกก็ไม่ขาด เพื่อสุขภาพที่ดีขึ้นของประชาชน ถ้ามองอย่างกลาง ๆ นี่เป็นวิธีการที่ดีเลยทีเดียว เรียกได้ว่า “รักษาแต่ไม่ลืมป้องกัน”