HEALTH

HEI – ยูนิเซฟ เผย มลพิษทางอากาศคร่าชีวิตผู้คน 8.1 ล้านคนทั่วโลกในปี 2564

ขณะที่เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เสี่ยงต่อการได้รับมลพิษทางอากาศเป็นพิเศษ นำไปสู่การเสียชีวิต-โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง

วันนี้ (19 มิ.ย. 67) Health Effects Institute (HEI) ร่วมมือกับยูนิเซฟ จัดทำรายงานสภาวะอากาศโลกฉบับที่ 5 (State of Global Air -SoGA) ซึ่งพบว่า มลพิษทางอากาศกำลังส่งผลกระทบรุนแรงมากขึ้นต่อสุขภาพของมนุษย์ และได้กลายเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับที่สองต่อการเสียชีวิตของประชากรทั่วโลก ขณะที่ในปี 2564 มลพิษทางอากาศเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของผู้คนถึง 8.1 ล้านคนทั่วโลก และอีกหลายล้านคนต้องเผชิญกับโรคเรื้อรัง ซึ่งส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อระบบสาธารณสุข เศรษฐกิจ และสังคม

รายงานฉบับนี้ยังพบว่า เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มีความเปราะบางต่อมลพิษทางอากาศเป็นพิเศษ โดยส่งผลกระทบต่อสุขภาพในด้านต่าง ๆ เช่น การคลอดก่อนกำหนด น้ำหนักแรกเกิดน้อย โรคหอบหืด และโรคปอด อีกทั้งในปี 2564 มลพิษทางอากาศยังเชื่อมโยงกับการเสียชีวิตของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มากกว่า 700,000 คน กลายเป็นปัจจัยเสี่ยงอันดับที่สองของการเสียชีวิตของเด็กกลุ่มนี้ทั่วโลก โดยการเสียชีวิตของเด็กกลุ่มนี้ประมาณ 500,000 คนเกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศภายในครัวเรือน ซึ่งเกิดจากการทำอาหารภายในบ้านโดยใช้เชื้อเพลิงที่ก่อมลพิษ ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในภูมิภาคแอฟริกาและเอเชีย

รายงาน SoGA วิเคราะห์ข้อมูลจากการศึกษาภาระโรคทั่วโลกตั้งแต่ปี 2564 แสดงให้เห็นว่ามลพิษ เช่น ฝุ่นละอองขนาดเล็กขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5), มลพิษทางอากาศภายในครัวเรือน, โอโซน (O3) และก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) กำลังส่งผลกระทบร้ายแรงต่อสุขภาพของมนุษย์ทั่วโลก และในทุก ๆ วัน มนุษย์เกือบทุกคนบนโลกกำลังหายใจเอามลพิษทางอากาศในระดับที่ไม่ดีต่อสุขภาพเข้าไป

PM 2.5 กำลังกลายเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้คนทั่วโลกกว่า 7.8 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นกว่าร้อยละ 90 ของการเสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศทั่วโลก ทั้งนี้ PM 2.5 เล็กมากจนยังคงอยู่ในปอดและสามารถเข้าสู่กระแสเลือดได้ ส่งผลกระทบต่อระบบอวัยวะต่าง ๆ ตลอดจนเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อในผู้ใหญ่ เช่น โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวาน มะเร็งปอด และโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) รายงานยังระบุว่า PM2.5 เป็นตัวบ่งชี้ที่แม่นยำและชัดเจนที่สุดในการคาดการณ์ปัญหาสุขภาพของประชากรทั่วโลกในอนาคต

สำหรับ PM2.5 เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลและชีวมวลในภาคส่วนต่าง ๆ เช่น การคมนาคม บ้านพักอาศัย โรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหิน อุตสาหกรรม และไฟป่า การปล่อยมลพิษเหล่านี้ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์เท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อก๊าซเรือนกระจกซึ่งทำให้โลกร้อนขึ้นอีกด้วย

ในปี 2564 การสัมผัสกับโอโซนเป็นระยะเวลานานส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 489,518 คนทั่วโลก รวมถึงการเสียชีวิตของประชากร 14,000 คนในสหรัฐอเมริกาจากโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังที่เกี่ยวข้องกับโอโซน ซึ่งสูงกว่าประเทศที่มีรายได้สูงอื่น ๆ ในขณะที่อุณหภูมิโลกกำลังสูงขึ้นจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พื้นที่ที่มีระดับก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์สูงมักจะมีระดับโอโซนที่สูงขึ้นด้วย ซึ่งจะส่งผลเสียต่อสุขภาพมากขึ้น

รายงานครั้งนี้ระบุข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบด้านสุขภาพจากไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) ซึ่งรวมถึงการเกิดโรคหอบหืดในเด็ก แหล่งสำคัญของก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์มาจากไอเสียจากการจราจรเป็นหลัก เขตเมืองที่มีประชากรหนาแน่น โดยเฉพาะในประเทศที่มีรายได้สูง มักเผชิญกับก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ในระดับที่สูงมาก พร้อมกับปัญหาด้านสุขภาพของประชากรที่ตามมา

อย่างไรก็ตาม มลพิษทางอากาศส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเด็กอย่างรุนแรง เนื่องจากเด็กมีความเปราะบางต่อมลพิษทางอากาศเป็นพิเศษ และผลกระทบนั้นสามารถเริ่มต้นตั้งแต่ในครรภ์และส่งผลตลอดชีวิต งเช่น เด็กหายใจรับอากาศมากกว่าผู้ใหญ่เมื่อเทียบต่อน้ำหนักตัว และดูดซับสารมลพิษมากกว่าผู้ใหญ่ ในขณะที่ปอด ร่างกาย และสมองยังคงเจริญเติบโตไม่เต็มที่

การสัมผัสมลพิษทางอากาศในเด็กเล็กมีความเชื่อมโยงกับโรคปอดบวม ซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตของเด็ก 1 ใน 5 คนทั่วโลก รวมถึงโรคหอบหืด ซึ่งเป็นโรคทางเดินหายใจเรื้อรังที่พบบ่อยที่สุดในเด็กโต ผลกระทบของมลพิษทางอากาศต่อสุขภาพของเด็กเป็นเรื่องที่น่าตกใจ อัตราการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศในเด็กอายุน้อยกว่า 5 ปีในแอฟริกาตะวันออก ตะวันตก กลาง และใต้ สูงกว่าเด็กในประเทศที่มีรายได้สูงถึง 100 เท่า

ทั้งนี้ รายงาน SoGA มีข่าวดีเช่นกัน ตั้งแต่ปี 2543 อัตราการเสียชีวิตของเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ลดลงร้อยละ 53 ซึ่งส่วนใหญ่เกิดจากเข้าถึงเชื้อเพลิงสะอาดในการทำอาหาร ตลอดจนการเข้าถึงการรักษาพยาบาล โภชนาการ และความตระหนักรู้ถึงอันตรายจากการสัมผัสมลพิษทางอากาศภายในครัวเรือน

Related Posts

Send this to a friend