กรมการแพทย์แผนไทยฯ ย้ำ กัญชา ควรใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ผ่าน 4 แนวทาง
วันนี้ (19 เม.ย. 66) นายแพทย์ธงชัย เลิศวิไลรัตนพงศ์ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เน้นย้ำประชาชน ควรใช้ประโยชน์จากกัญชาทางการแพทย์ ในระบบบริการสุขภาพ ประกอบด้วย 4 แนวทาง คือ การดูแลผู้ป่วยกลุ่มโรคมะเร็ง และผู้ป่วยระยะประคับประคอง (Palliative care),การดูแลกลุ่มผู้ป่วยระยะกลาง (Intermediate care) ,การดูแลผู้ป่วยโรคพาร์กินสัน,การดูแลผู้ป่วยด้วยการแพทย์แผนไทย ในหน่วยบริการปฐมภูมิ (Primary Care Cluster)
ทั้งนี้เพื่อมุ่งเน้นให้ประชาชนใช้กัญชา เพื่อประโยชน์ทางการรักษาโรคได้อย่างมีคุณภาพ และมาตรฐาน หรือใช้ประโยชน์จากคุณค่า ของกัญชามาทำเป็นยา เพื่อให้ประชาชนมีโอกาส ในการเข้าถึงยา และใช้ยาจากภูมิปัญญาได้อย่างปลอดภัย อีกทั้งขับเคลื่อนบังคับใช้กฎหมาย ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องสมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ. 2565 ตามพระราชบัญญัติคุ้มครอง และส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542 และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ตามมาตรการควบคุมช่อดอกกัญชา เนื่องในวันที่ 20 เมษายนที่จะมาถึง เป็นวันกัญชาโลก
นายแพทย์ธงชัย กล่าวว่า “เนื่องในวันกัญชาโลก ที่จะถึงในวันที่ 20 เมษายน ทางกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เรายังขับเคลื่อนกัญชาทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง เพื่อมุ่งเน้นให้ประชาชนใช้กัญชา เพื่อประโยชน์ทางการรักษา เพื่อเป็นทางเลือกหนึ่งในการดูแลผู้ป่วย ที่มีพื้นฐานจากภูมิปัญญาไทย โดยเน้นการบูรณาการการรักษาผู้ป่วยและประชาชน อย่างมีประสิทธิภาพร่วมกับสหวิชาชีพ เพื่อให้ครอบคลุมในทุกมิติของการให้บริการ และตอบสนองต่อความต้องการของผู้ป่วยอย่างแท้จริง”
การรักษาด้วยกัญชาทางการแพทย์แผนไทย ตั้งแต่ปี 2562-ปัจจุบัน มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษาด้วยตำรับยากัญชาทางการแพทย์ รวมกว่า 79,423 ราย รักษาในกลุ่มอาการนอนไม่หลับ จำนวน 197,516 ครั้ง อาการปวดตามร่างกาย (ปวดขา ปวดเข่า ปวดบ่า ปวดไหล่) 18,179 ครั้ง อาการปวดหลัง 9,558 ครั้ง อาการลมปะกัง หรือ ลมตะกัง 8,659 ครั้ง อีกทั้ง อาการอื่นๆ อาทิ อาการสันนิบาตลูกนก (โรคพาร์กินสัน) ลมจับโปงแห้งเข่า ปวดศีรษะ อาการชา รวม 14,131 ครั้ง
นอกจากนี้ยังมีการจัดทำแนวทาง การนำกัญชาทางการแพทย์แผนไทย และการแพทย์ทางเลือก มาบูรณาการในระบบบริการสุขภาพ มี 4 แนวทาง คือ
1.แนวทางการดูแลผู้ป่วยกลุ่มโรคมะเร็ง และผู้ป่วยระยะประคับประคอง (Palliative care)
2.แนวทางการดูแลกลุ่มผู้ป่วยระยะกลาง (Intermediate care)
3.การดูแลผู้ป่วยโรคพาร์กินสันด้วยกัญชาทางการแพทย์แผนไทย
4.การดูแลผู้ป่วยด้วยการแพทย์แผนไทย ในหน่วยบริการปฐมภูมิ (Primary Care Cluster)
“ทั้งนี้ที่ผ่านมากัญชามีการใช้ในชุมชนพื้นบ้าน ในทุกภาคของประเทศ จากการถอดองค์ความรู้การใช้กัญชาของชาวบ้านทั้ง 4 ภูมิภาค พบว่ามีการใช้ในวิถีชีวิต เป็นอาหาร ยา เครื่องนุ่มห่ม เครื่องสำอาง ซึ่งกัญชาเป็นพืชที่มีการปลูก และใช้ต่อเนื่องกันมา แม้ในช่วงที่ยังเป็นยาเสพติด และชาวบ้านมักจะใช้ต้นกัญชาที่ปลูกเอง เพื่อจะได้เก็บเมล็ดพันธุ์ปลูกในรอบต่อๆไป ปลูกน้อยแค่พอใช้ เช่น 2-3 ต้น ในแต่ละรุ่นปลูกไว้หลังบ้านหรือที่นา ไม่ได้เลือกต้นตัวผู้หรือตัวเมีย และจะไม่มีการใช้ยาฆ่าแมลง หรือสารเคมีกำจัดแมลง ดังนั้นจึงเป็นสิ่งหนึ่งที่ยืนยันได้ว่า กัญชานั้นสามารถนำมาใช้ในวิถีชีวิตได้ เพียงแต่ในปัจจุบันเราไม่ส่งเสริมในเชิงสันทนาการ แต่เอาประโยชน์จากคุณค่าของกัญชามาทำเป็นยา เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสในการเข้าถึงยา และใช้ยาจากภูมิปัญญาได้อย่างปลอดภัย”
ในส่วนของการบังคับใช้กฎหมาย ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องสมุนไพรควบคุม (กัญชา) พ.ศ. 2565 ทางกรมฯร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้เดินหน้าบังคับใช้กฎหมาย และ ดำเนินคดีผู้กระทำผิด ทั้งในเขตกรุงเทพมหานคร และส่วนภูมิภาค สำหรับในเขตกรุงเทพมหานครได้ลงพื้นที่ 10 เขต รวมจับ ปรับ ดำเนินคดี 15 ราย ผิดเงื่อนไขใบอนุญาตฯ สั่งพักใช้ใบอนุญาต 4 ราย กรณีไม่พบผู้กระทำความผิด 8 ราย สำหรับส่วนภูมิภาค 7 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ,ปทุมธานี , ชลบุรี (พัทยา),สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะเต่า) ,ตราด (เกาะช้าง),ภูเก็ต (สภ.ป่าตอง/สภ.กะรน/สภ.วิชิต/สภ.ฉลอง ซอยใสยวน อ่าวฉลอง /ซอยบางลาง ป่าตอง),นนทบุรี (กรณีร้องเรียน ตลาดนกฮูก) รวม จับ ปรับ ดำเนินคดี 25 ราย ผิดเงื่อนไขใบอนุญาตฯ ตักเตือน สั่งพักใช้ใบอนุญาต 6 ราย กรณีไม่พบผู้กระทำความผิด 20 ราย สำหรับผู้ฝ่าฝืนหรือกระทำความผิด ต้องมีโทษตามกฎหมาย
ปัจจุบันมีสถานประกอบการจำหน่ายสมุนไพรควบคุม (กัญชา)ยื่นขออนุญาต เพื่อจำหน่ายหรือแปรรูป ส่งออก ศึกษาวิจัย ทั้งเขตกรุงเทพมหานคร และอีก 76 จังหวัด ทั่วประเทศ ในเขตกรุงเทพมหานคร ได้ยื่นคำขอ จำนวน 2,260 คำขอ ออกใบอนุญาต 1,862 ราย คิดเป็นร้อยละ 82.68% สำหรับพื้นที่ส่วนภูมิภาค 76 จังหวัด ได้ยื่นคำขอ จำนวน 8,986 คำขอ ออกใบอนุญาต 6,679 ราย คิดเป็น 74.32% กัญชายังมีการสื่อสารชัดเจนว่า ห้ามจำหน่ายให้กับผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี สตรีมีครรภ์หรือสตรีให้นมบุตร ห้ามจำหน่ายให้กับนักเรียน นิสิต หรือ นักศึกษา
ห้ามให้บริการสูบกัญชาในสถานประกอบการทั่วไป ห้ามจำหน่ายเพื่อการค้าผ่านเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ (Vending Machine) ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือเครือข่ายคอมพิวเตอร์ ห้ามโฆษณากัญชาในทุกช่องทางเพื่อการค้า และห้ามสูบกัญชาในสถานที่ต้องห้าม เช่น วัดหรือสถานที่สำหรับปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา หอพักตามกฎหมายว่าด้วยหอพัก สวนสาธารณะ สวนสัตว์ และสวนสนุก เป็นต้น การกระทำดังกล่าว เป็นการกระทำความผิดตามมาตรา 46 กรณีจำหน่ายหรือแปรรูปสมุนไพรควบคุม โดยมิได้รับอนุญาต มีบทกำหนดโทษเป็นไปตามมาตรา 78 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครอง และส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ.2542 ระบุโทษจำคุก 1 ปี ปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ
จากการดำเนินการที่ผ่านมาทั้งหมด เราจึงขับเคลื่อนกัญชาทางการแพทย์ เพื่อให้เป็นพืชสมุนไพรที่นำมาใช้ประโยชน์ทางการรักษา ได้อย่างปลอดภัย ควบคู่กับการดำเนินการ เพื่อส่งเสริมคุ้มครองภูมิปัญญาทางการแพทย์แผนไทยอย่างเหมาะสม หากมีข้อสงสัย หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ติดต่อได้ที่กองคุ้มครอง และส่งเสริมภูมิปัญญาแพทย์แผนไทย และแพทย์พื้นบ้านไทย กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก โทร. 02-149-5607-8 หรือ 02-591-7007 ต่อ 3708, 3713