กรมควบคุมโรค เตือน ฤดูร้อน กลุ่มเสี่ยงและคนทำงานกลางแจ้ง เสี่ยง ‘ฮีทสโตรก’

กรมควบคุมโรค เตือน ฤดูร้อน กลุ่มเสี่ยงและคนทำงานกลางแจ้ง เสี่ยงเป็น ‘ฮีทสโตรก’ อันตรายถึงชีวิต เผย ปี 67 เสียชีวิต 63 ราย แนะดื่มน้ำสะอาดบ่อย ๆ เลี่ยงทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน ๆ พักในที่ร่มเป็นระยะ
วันนี้ (18 มี.ค. 68) นพ.ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ขณะนี้กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศให้ประเทศไทยเข้าสู่ฤดูร้อนตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ซึ่งอากาศที่ร้อนอบอ้าวทำให้เสี่ยงต่อการป่วยจากภาวะอากาศร้อนได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะโรคลมร้อน หรือ ‘ฮีทสโตรก’ ที่ส่งผลกระทบต่อระบบต่าง ๆ ในร่างกาย เป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงและผู้ที่ต้องอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน
ข้อมูลจากกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ปี พ.ศ.2567 พบรายงานผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 63 ราย เป็นเพศชาย 54 ราย และเพศหญิง 9 ราย อายุระหว่าง 30–95 ปี (เฉลี่ย 62 ปี) ประกอบอาชีพรับจ้าง ร้อยละ 25 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ร้อยละ 54 ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว ร้อยละ 51 ได้แก่ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน หัวใจและหลอดเลือด พฤติกรรมและปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ คือ การดื่มสุราในภาวะอากาศร้อน และการเสียชีวิตจากการปฏิบัติงานกลางแจ้ง ร้อยละ 62 มีรายงานการเสียชีวิตมากที่สุดในเดือนเมษายน ร้อยละ 70
นพ.ดิเรก ขำแป้น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ฮีทสโตรกเกิดขึ้นเมื่อร่างกายมีอุณหภูมิความร้อนสูงมาก โดยเฉพาะอุณหภูมิที่มากกว่า 40 องศาเซลเซียส จนทำให้ร่างกายไม่สามารถปรับตัวได้ มีอาการ คือ ตัวร้อน วิงเวียน ปวดมึนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน อ่อนเพลีย ภาวะขาดน้ำ เหงื่อออกมาก หัวใจเต้นแรง เป็นลม อาจมีอาการทางระบบประสาท เช่น ชัก พูดจาสับสน
ทั้งนี้ หากพบผู้เริ่มมีอาการดังกล่าว ให้รีบนำผู้ป่วยเข้าที่ร่ม หรือห้องที่มีความเย็น ให้ดื่มน้ำมาก ๆ การปฐมพยาบาลเบื้องต้น ให้ผู้ป่วยนอนราบ คลายเสื้อผ้าให้หลวม ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นเช็ดตามตัว ซอกคอ รักแร้ และศีรษะ ร่วมกับใช้พัดลมเป่าระบายความร้อน หากผู้ป่วยหมดสติให้จับนอนตะแคงเพื่อป้องกันไม่ให้โคนลิ้นอุดตันทางเดินหายใจ และให้รีบนำส่งโรงพยาบาล หรือโทรแจ้งสายด่วน 1669
ฮีทสโตรกสามารถป้องกันได้ โดยหลีกเลี่ยงการอยู่ในที่ที่มีแดดจัดต่อเนื่องนานเกินไป ดื่มน้ำสะอาดบ่อย ๆ หากสูญเสียเหงื่อมากควรดื่มเครื่องดื่มประเภทเกลือแร่ หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงสถานที่ที่อากาศร้อน อับ และถ่ายเทไม่ดี สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายความร้อนได้ดี หลีกเลี่ยงใส่เสื้อผ้าสีทึบดำ และไม่รัดแน่นจนเกินไป ห้ามทิ้งใครไว้ในรถที่จอดอยู่กลางแดด