HEALTH

ปานเทพ เผย คณะกรรมการยาเสพติดของ “องค์การสหประชาชาติ” ลงมติแล้

ปานเทพ เผย คณะกรรมการยาเสพติดของ องค์การสหประชาชาติ ลงมติรับทราบคุณประโยชน์ในการบำบัดรักษา ถอน “กัญชา”ออกจากบัญชียาเสพติดแล้ว

วันนี้ (17 ม.ค. 65) นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ โฆษกและกรรมาธิการ คณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณา ร่าง พ.ร.บ. กัญชา กัญชง พ.ศ…. ได้ออกมาโพสต์ในเฟสบุ๊คส่วนตัว ระบุข้อความว่า

เนื่องด้วยมีความเห็นจากประชาชนจำนวนหนึ่งเข้าใจผิดจนมีข้อสงสัยว่า ความเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ของสมาชิกรัฐสภาในการถอดกัญชาออกจากประมวลกฎหมายยาเสพติดก็ดี หรือการที่คณะกรรมการยาเสพติด และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดลงมติถอดกัญชา (ซึ่งรวมถึง ช่อดอก)ออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษ และคงเหลือเอาไว้เฉพาะ “สารสกัด” ที่มี THC (สารที่ทำให้เมา)เกินกว่าร้อยละ 0.2 ของน้ำหนักเป็นยาเสพติดต่อไป แต่ยังคงให้ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และทางวิทยาศาสตร์ก็ดีนั้น เป็นการดำเนินการตามอำเภอใจหรือไม่? และไม่เป็นที่ยอมรับขององค์การสหประชาชาติหรือไม่?

เนื่องจากความสับสนในเรื่องดังกล่าวยังคงดำรงอยู่จนถึงปัจจุบัน จึงขอทำความเข้าใจต่อทุกท่านว่าในความเป็นจริงแล้ว นโยบายกัญชาของประเทศไทยได้ดำเนินตามมติ คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญยาเสพติด ขององค์การอนามัยโลก และสอดคล้องไปกับมติเสียงข้างมากของคณะกรรมการยาเสพติด องค์การสหประชาชาติ โดยมีรายละเอียดดังนี้

“องค์การอนามัยโลก” เป็นองค์กรที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาให้เป็นองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญด้านการสาธารณสุขระหว่างประเทศขององค์การสหประชาชาติ เป็นศูนย์รวมของข้อมูลข่าวสารและผู้เชี่ยวชาญจากทั่วโลก การจะเปลี่ยนแปลงสิ่งใดเกี่ยวกับยาเสพติดนั้นย่อมมีการศึกษาและชั่งน้ำหนักอย่างรอบด้านแล้วทั้งคุณประโยชน์และโทษ

ทั้งนี้ “คณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญยาเสพติด” ของ องค์การอนามัยโลก หรือ Expert Committee on Drug Dependence (ECDD) ได้มีการจัดประชุมครั้งที่ 41 ระหว่างวันที่ 12-16 พฤศจิกายน 2561 ลงเห็นสมควรให้องค์การสหประชาชาติให้ถอดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติด[1] ซึ่งย่อมแสดงให้เห็นว่า “องค์การอนามัยโลก” ซึ่งเป็นองค์กรด้านสุขภาพ เห็นประโยชน์ของกัญชามากกว่าโทษ

โดย ดร. ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ได้ทำหนังสือถึงนายอังตอนียู กูแตรึช เลขาธิการสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2562[1] โดยมีคำขอสรุปสาระสำคัญได้ ดังต่อไปนี้

ประการแรก ให้ยกเลิก “ช่อดอกกัญชาที่มียาง” (Cannabis)[2] และยกเลิก “ยางกัญชา” (Resin)ออกจากบัญชียาเสพติดประเภทที่ 4 (Schedule IV[1]

อันหมายถึงกัญชาทั้งต้น รวมทั้ง ช่อดอกกัญชา และยางกัญชา จะไม่อยู่ในยาเสพติดประเภทใดของอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. 1961 อีกต่อไป

ประการที่สอง เฉพาะสารสกัดเดี่ยวจากกัญชาที่ชื่อ THC (สารที่ทำให้เมา) และสารไอโซเมอร์ของ THC ให้จัดอยู่ในบัญชียาเสพติดประเภทที่ 1 ของอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. 1961[1]

หมายความว่าสำหรับสารสกัดเดี่ยว “THC” เป็นยาเสพติดที่มีความร้ายแรงเทียบเท่ากลุ่มเฮโรอีน รัฐบาลแต่ละประเทศจะต้องทำการควบคุมระดับสูงสุด[1] แต่ในขณะเดียวกันให้ถอนสารสกัด THC ออกจากบัญชีประเภทที่ 1 ของอนุสัญญาว่าด้วยวัตถุออกฤทธิ์ทางจิตประสาท ค.ศ. 1971 ด้วย[1]

ทั้งนี้การควบคุมสารสกัด THC อย่างเข้มข้นแทนนั้น เป็นข้อเสนอที่มาพร้อมกับให้ปลดล็อก “ช่อดอก” และ “ยาง” ของกัญชา ว่าไม่ควรเป็นยาเสพติดแล้ว

ประการที่สาม สารสกัดกัญชา และผลิตภัณฑ์จากสารสกัดกัญชา ให้ถอดออกจากยาเสพติดประเภทที่ 1 ของอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. 1961[1]

ประการที่สี่ สารเตรียมยาที่มีสารสกัด CBD ของกัญชาหรือกัญชง ที่มีสาร THC ไม่เกินร้อยละ 0.2 ไม่ต้องถูกควบคุมระหว่างประเทศ ภายใต้อนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. 1961 อีกต่อไป[1]

ประการที่ห้า สารสกัดเบื้องต้นเพื่อเตรียมยาของกัญชา (Preparations) หรือสารเคมีสังเคราะห์ (Chemical Synthesis) ที่มีสาร THC เป็นส่วนผสมที่ยังไม่ชัดเจน ให้จัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 3 ของอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ซึ่งหมายถึง มีความเสี่ยงที่จะติดหรือออกฤทธิ์จิตประสาทต่ำกว่าประเภทที่ 1 และ 2[1]

สรุปข้อเสนอของมติองค์การอนามัยโลก ได้ทำการชั่งน้ำหนักประโยชน์และโทษของกัญชาแล้วจึงเห็นว่า ต้นไม้ไม่ว่าส่วนใดของกัญชา รวมถึงช่อดอกกัญชาก็ไม่ควรเป็นยาเสพติดอีกต่อไป เว้นแต่ “สารสกัด” ที่มีสาร THC เกินร้อยละ 0.2 เท่านั้น ที่จำเป็นจะต้องมีการควบคุมในฐานะยาเสพติดแต่ก็ยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และทางวิทยาศาสตร์ได้

และการที่ประเทศไทยได้ดำเนินการปลดล็อกทุกส่วนของกัญชาออกจากประเภทยาเสพติด และคงเหลือเอาไว้เฉพาะสารสกัดที่มีสาร THC เกินร้อยละ 0.2 ของน้ำหนัก ยังคงเป็นยาเสพติดแต่ยังคงไว้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และการวิจัยทางวิทยาศาสตร์นั้น จึงเป็นไปตามแนวทางขององค์การอนามัยโลกทั้งสิ้น

การเสนอการปลดล็อก “กัญชา” ขององค์การอนามัยโลก ถึงเลขาธิการสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2562 นั้น ได้ถูกนำเสนอต่อคณะกรรมการยาเสพติด องค์การสหประชาชาติ (UN Commission on Narcotic Drugs) ซึ่งผ่านการประชุมจากผู้เชี่ยวชาญ 600 คนจาก 100 กว่าประเทศตั้งแต่ช่วงฤดูร้อนปี 2563 ซึ่งทำให้เป็นที่ยอมรับคุณค่าการบำบัดทางการแพทย์ของ “กัญชา”[4]

และจุดเปลี่ยนที่สำคัญในเวลาต่อมา คือ คณะกรรมการยาเสพติด องค์การสหประชาชาติ (UN Commission on Narcotic Drugs) ได้ลงมติเสียงข้างมาก 27 ต่อ 25 เสียง (ยูเครนขาดประชุม 1 เสียง)เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2563 สิ่งที่ได้มาคือการลงมติครั้งที่ 63/17 ว่า

“ให้ช่อดอกกัญชาที่มียาง (Cannabis) และยางกัญชา(Resin) ลบออกจากบัญชียาเสพติดประเภทที่ 4 ของอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. 1961”[5]

ความหมายคือ “ช่อดอกกัญชาที่มียาง” (Cannabis) และ “ยางกัญชา”(Resin) ไม่ใช่ยาเสพติดประเภทใดๆ ภายใต้ อนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. 1961 อีกต่อไป

สำหรับการลงคะแนนเสียงของประเทศที่ “เห็นด้วย” กับมติประวัติศาสตร์ปลดล็อก “ช่อดอก” และ “ยางกัญชา” ออกจากยาเสพติด จำนวน 27 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย ออสเตรีย เบลเยี่ยม แคนนาดา โคลัมเบีย โครเอเชีย สาธารณรัฐเช็ค เอควาดอร์ เอลซาวาดอร์ ฝรั่งเศส เยอรมนี อินเดีย อิตาลี จาไมก้า เม็กซิโก โมรอคโค เนปาล เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ แอฟริกาใต้ สเปน สวีเดน สวิสเซอร์แลนด์ “ประเทศไทย” สหราชอาณาจักร อุรุกวัย สหรัฐอเมริกา[6]-[7]

สำหรับการลงคะแนนเสียงประเทศที่ “ไม่เห็นด้วย” กับปลดล็อก “ช่อดอก” และ “ยางกัญชา” ออกจากยาเสพติด จำนวน 25 ประเทศ ได้แก่ อัฟกานิสถาน อัลจีเรีย แองโกลา บาห์เรน บราซิล บูร์กินาฟาโซ ชิลี สาธารณรัฐประชาชนจีน ไอเวอรี่โคสต์ คิวบา ฮังการี อิรัก ญี่ปุ่น คาคัซสถาน เคนยา คีร์กีซสถาน ลิเบีย ไนจีเรีย ปากีสถาน เปรู รัสเซีย โตโก ตุรกี เติร์กมินิสถาน[6]-[7]

อย่างไรก็ตามข้อเสนออื่นๆ ที่องค์การอนามัยโลกเสนอต่อองค์การสหประชาชาติเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2562 นั้น ที่ประชุมคณะกรรมการยาเสพติด องค์การสหประชาชาติ เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2563 ลงมติไม่ผ่านความเห็นชอบด้วยเสียงข้างมาก หรือไม่เสนอลงมติทั้งสิ้น อันมีผลทำให้ “ช่อดอกกัญชา” และ “ยางจากช่อดอกกัญชา” เท่านั้นที่ไม่เป็นยาเสพติด

โดยเฉพาะตัวอย่างการลงมติครั้งที่ 63/18 เรื่อง ขอให้สาร THC เป็นยาเสพติดประเภทที่ 1 ของอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. 1961 ซึ่งต้องคุมเข้มที่สุด ประชุมลงมติ “ไม่เห็นชอบ” ด้วยคะแนน 28 เสียง เห็นชอบ 23 เสียง ขาดประชุม 2 เสียง[6]

และเนื่องจากทั้ง กัญชา ยางกัญชา ไม่ได้อยู่ในประเภทยาเสพติดประเภทใดๆ ตามมติคณะกรรมการยาเสพติดขององค์การสหประชาชาติแล้ว นโยบายด้านกัญชาจึงขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละประเทศที่จะไปกำหนดมาตรการเพื่อความเหมาะสมกับบริบทของแต่ละประเทศต่อไป

ดังนั้นการดำเนินการของประเทศไทยที่ได้ถอดกัญชาออกจากยาเสพติด และกำลังอยู่ระหว่างดำเนินการร่างกฎหมาย พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ…. ที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ จึงไม่ได้ขัดหรือแย้งต่อมติคณะกรรมการยาเสพติดเสียงข้างมาก ขององค์การสหประชาชาติ แต่ประการใด

จึงเรียนมาเพื่อทราบ

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
โฆษกคณะกรรมการสื่อสารและประชาสัมพันธ์การใช้กัญชาอย่างเข้าใจ กระทรวงสาธารณสุข
โฆษกและกรรมาธิการ คณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณา ร่าง พ.ร.บ. กัญชา กัญชง พ.ศ….
17 กรกฎาคม 2565

อ้างอิง
[1] Letter from Tedros Adhanom Ghebreyesus Director-General World Health Organization, to Anto’nio Guterres Secretary-General of United Nation, 24 January 2019
https://cdn.who.int/media/docs/default-source/controlled-substances/unsg-letter-ecdd41-recommendations-cannabis-24jan19.pdf?sfvrsn=6070292c_2&download=true

[2] ตามคำนิยาม “Cannabis” หรือ “กัญชา”ใน “Article 1 (b)” ของอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติด ค.ศ. 1961 มีความหมายเฉพาะ “ช่อดอก” หรือ “ผลของยอด” (แต่ไม่รวมเมล็ดหรือใบที่ไม่มียอดติดด้วย) ที่ยังมิได้มีการ “สกัดยาง” ออก ทั้งนี้ไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไรก็ตาม
https://www.unodc.org/pdf/convention_1961_en.pdf

[3] World Health Organization, UN Commission on Narcotic Drugs reclassifies cannabis to recognize its therapeutic uses, 4 December 2020
https://www.who.int/news/item/04-12-2020-un-commission-on-narcotic-drugs-reclassifies-cannabis-to-recognize-its-therapeutic-uses

[4] The Commission on Narcotic Drugs (CND), CND votes on recommendations for cannabis and cannabis-related substances, Press Statement – 2 December 2020
https://www.unodc.org/documents/commissions/CND/CND_Sessions/CND_63Reconvened/Press_statement_CND_2_December.pdf

[5] Office on Drugs and Crime, United Nations, CND Votes on Recommendations for Cannabis and Cannabis-Related Substances. 3 December 2020
https://www.unodc.org/unodc/en/frontpage/2020/December/cnd-votes-on-recommendations-for-cannabis-and-cannabis-related-substances.html

[6] Kenzi Riboulet-Zemouli, et al, History, science, and politics
of international cannabis scheduling, 2015–2021, ISBN 979-10-97087-50-0, 29 September 2021
https://www.researchgate.net/profile/Kenzi-Riboulet-Zemouli/publication/354905059_History_science_and_politics_of_international_cannabis_scheduling_2015-2021/links/61536e26fd7b3d1215599380/History-science-and-politics-of-international-cannabis-scheduling-2015-2021.pdf?origin=publication_detail

[7] Commission on Narcotic Drugs Reconvened sixty-third session, Statements following the voting on the WHO scheduling recommendations on cannabis and cannabis-related substances, Vienna, 2–4 December 2020
https://www.unodc.org/documents/commissions/CND/CND_Sessions/CND_63Reconvened/ECN72020_CRP24_V2007524.pdf

Related Posts

Send this to a friend