เตือน พ่อแม่หมั่นสังเกตลูกหลาน มีอาการ Dyslexia อ่านหนังสือและสะกดคำไม่คล่อง
กรมการแพทย์ เตือน พ่อแม่ควรหมั่นสังเกตบุตรหลาน ว่ามีอาการของภาวะบกพร่องด้านการเรียนรู้ เช่น มีอาการอ่านหนังสือไม่คล่อง (Dyslexia) หรือไม่ หากสงสัยว่าเด็กประสบภาวะนี้ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีรักษา เพราะหากไม่ได้รับการวินิจฉัย และรักษาอย่างถูกต้อง เด็กจะมีปัญหาบกพร่อง ในการอ่านและการเขียนไปจนโต และทำให้มีพัฒนาการด้านภาษาล่าช้ากว่าวัย
นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า “Dyslexia คือความบกพร่องในการอ่านและการเขียน จัดเป็นความผิดปกติด้านการเรียนรู้ (Learning Disorder) ประเภทหนึ่ง ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุของภาวะ Dyslexia อย่างชัดเจน แต่มีแนวโน้มที่จะมีพัฒนาการทางภาษาล่าช้ากว่าวัย ซึ่งส่งผลต่อสมองส่วนที่เกี่ยวกับ การเรียนรู้ภาษาและการอ่านหนังสือ”
“นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ที่ส่งผลให้เกิดภาวะ Dyslexia ได้ เช่น ในครอบครัวมีภาวะ Dyslexia หรือมีปัญหาด้านการเรียนรู้อื่นๆ รวมถึงเด็กที่คลอดก่อนกำหนด หรือมีน้ำหนักตัวแรกเกิดต่ำกว่าปกติ การได้รับยาสารเสพติด หรือแอลกอฮอล์ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ รวมถึงการเกิดภาวะติดเชื้อของมารดา ที่อาจส่งผลต่อพัฒนาการทางสมอง ของทารกในครรภ์ทำให้ผู้ที่เป็น มีปัญหาในการอ่าน การเขียน แม้แต่การแปลภาษาหรือสัญลักษณ์ง่ายๆ ไม่สามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้เหมือนคนทั่วไป หรือในบางรายอาจไม่พบปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว”
“ซึ่งโรคนี้สามารถพบได้ถึง 10% ของประชากร โดยทั่วไปแล้ว อาการของ Dyslexia สังเกตได้ยากเมื่อเด็กยังไม่ได้เข้าเรียน แต่จะเห็นความผิดปกติชัดขึ้นเมื่อเข้าสู่วัยเรียน ผู้ที่มีภาวะนี้จะแสดงอาการแตกต่างกันไปตามแต่ละช่วงวัย เด็กวัยอนุบาลบางราย อาจมีอาการที่สังเกตได้คือ พูดช้ากว่าเด็กในวัยเดียวกัน มีปัญหาด้านการพูดและความเช้าใจภาษา พัฒนาการด้านอื่นๆสมวัย บางรายมีพฤติกรรมไม่นิ่ง วอกแวกง่ายร่วมด้วย เมื่อเด็กขึ้นชั้นประถมศึกษา จะเริ่มมีอาการของภาวะนี้ให้เห็นชัดเจนขึ้น มีปัญหาเกี่ยวกับการอ่าน สะกดและเขียนหนังสือ”
ด้าน นายแพทย์อัครฐาน จิตนุยานนท์ ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า “เด็ก Dyslexia อาจจะอ่านสะกดไม่คล่อง แต่พวกเขาก็เป็นนักคิดที่ว่องไว โดยเฉพาะการเรียนรู้ผ่านการสายตาและเชื่อมโยงเชิงมิติสัมพันธ์ เรียนรู้ผ่านการฟังและถามตอบโดยตรง จะเป็นช่องทางการเรียนรู้ที่เหมาะกับเด็กกลุ่มนี้ ควรมีแผนการเรียนเฉพาะบุคคล ให้เหมาะกับความสามารถในเด็กแต่ละคน หากได้รับการสนับสนุนที่เหมาะสม เด็กก็จะสามารถไปโรงเรียนเรียน ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างปกติ แต่เมื่อพวกเขาโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ ความสามารถในการคิดเชิงมิติสัมพันธ์ ของพวกเขาจะกลายเป็นจุดแข็ง และหล่อหลอมให้เด็ก Dyslexia กลายเป็นทรัพยากรบุคคล ที่มีคุณค่าของประเทศชาติได้ในอนาคต”