เผย ปชช. สัมผัสมลพิษทางอากาศในอาคารสูงถึงร้อยละ 60
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เผยผลการวิจัยพบอาคารกว่า ร้อยละ 60 อยู่ในอาคารที่มีค่ามลพิษทางอากาศในอาคารเกินค่าแนะนำ ส่งผลให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพทั้งอาการที่เกิดขึ้นในระยะสั้น ได้แก่ เวียนศีรษะ ง่วงนอน ระคายเคืองตา ผื่นคัน และอาจส่งผลต่อการเจ็บป่วยในระยะยาว จึงเร่งใช้ 2 มาตรการ เพื่อคุ้มครองสุขภาพประชาชน
นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในงานเสวนา เรื่อง “คุณภาพอากาศในอาคาร เรื่องที่ที่คนไทยต้องรู้ และทิศทางการขับเคลื่อนคุณภาพอากาศในอาคารของประเทศไทย” ในการประชุม Healthy Air Forum 2022 ว่า ปัจจุบันมลพิษทางอากาศทั้งในอาคารและในบรรยากาศ เกิดจากการเติบโตของเมือง กิจกรรมการพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือการเผาในที่โล่ง ทำให้มลพิษทางอากาศเพิ่มขึ้น และส่งผล
ต่อคุณภาพทางอากาศในอาคารด้วย ประชาชนส่วนใหญ่จะใช้ชีวิตอยู่ภายในอาคารปิดมากกว่า 20 ชั่วโมงต่อวัน หากมีการจัดการอากาศในอาคารที่ไม่ดี อาจเกิดการสะสมสารมลพิษและก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพได้
จากผลการสำรวจของกรมอนามัย ปี 2563 พบว่า ผู้ที่อยู่ในครัวเรือนมีอาการเจ็บป่วยที่เกี่ยวข้องกับมลพิษ
ทางอากาศในครัวเรือน ได้แก่ อาการปวดหัว ไมเกรน ร้อยละ 20.5 ระคายเคืองตา ร้อยละ 19.7 และผื่นคันตามผิวหนัง ร้อยละ 18.8
กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขจึงได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานและส่งเสริมให้เกิดการจัดการคุณภาพอากาศในอาคารที่ดีและคุ้มครองสุขภาพประชาชน 2 มาตรการ คือ 1) มาตรการด้านนโยบายและมาตรฐาน โดยพัฒนาค่าเฝ้าระวังคุณภาพอากาศภายในอาคาร เพื่อเป็นหลักเกณฑ์ทางวิชาการในการเฝ้าระวัง กำกับดูแลคุณภาพอากาศภายในอาคาร และเป็นแนวทางให้เจ้าของอาคารใช้ประเมินเพื่อปรับปรุงคุณภาพอากาศภายในอาคารที่เหมาะสม และ 2) ผลักดันมาตรการในการจัดการคุณภาพอากาศในอาคาร เพื่อป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ เช่น การจัดทำ “ห้องปลอดฝุ่น”
ซึ่งปัจจุบัน กรมอนามัยได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนให้เกิดห้องปลอดฝุ่นในสถานบริการสาธารณสุขและศูนย์เด็กเล็กในพื้นที่ที่มีฝุ่นสูง เพื่อให้ประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงได้อยู่ในอาคารที่มีอากาศสะอาด รวมทั้งให้คำแนะนำแก่ประชาชน แจ้งเตือนให้ทราบถึงความเสี่ยง ป้องกันและจัดการความเสี่ยงได้อย่างอย่างเหมาะสม