HEALTH

เตือน ผู้ปกครองเฝ้าระวัง โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ RSV ในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี

วันนี้ (14 ก.ย. 66) นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แนะผู้ปกครองสังเกตอาการบุตรหลานอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ระวังป่วยด้วยโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ จากเชื้อไวรัสอาร์เอสวี (RSV) ซึ่งโรคนี้หากมีอาการน้อย จะมีลักษณะคล้ายโรคไข้หวัดใหญ่ เช่น ไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ แต่หากมีอาการรุนแรง จะมีอาการหายใจเร็ว หอบเหนื่อย เสียงหายใจดังวี้ด รับประทานอาหารได้น้อย ซึมลง และอาจเสียชีวิตได้ ซึ่งพบได้ในช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว โดยวิธีป้องกันคือให้บุตรหลาน หมั่นล้างมือบ่อยๆ ดูแลสุขอนามัย ใส่/สวมหน้ากากอนามัย เมื่ออยู่ในที่มีคนหนาแน่น และหากป่วยให้เด็กหยุดพักรักษาตัว

นายแพทย์ธเรศ กล่าวว่า ในช่วงปลายฝนต้นหนาวนี้ มีโอกาสพบโรคติดต่อได้หลายโรค หนึ่งในนั้นคือโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ จากเชื้อไวรัส (Respiratory Syncytial Virus : RSV) โดยข้อมูลการเฝ้าระวังโรคติดเชื้อไวรัส RSV ในผู้ป่วยกลุ่มอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ (ILI) และกลุ่มอาการปอดบวม จากโรงพยาบาลเครือข่ายของกรมควบคุมโรค ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์และศูนย์ความร่วมมือไทย-สหรัฐด้านสาธารณสุข

ซึ่งข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.- 31 ส.ค. 2566 มีการส่งตรวจตัวอย่างทั้งหมด จำนวน 5,411 ตัวอย่าง พบเป็นตัวอย่างติดเชื้อ RSV จำนวน 732 ตัวอย่าง คิดเป็นร้อยละ 13.53 โดยพบมากที่สุดในเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี ร้อยละ 52.23 รองลงมาเป็นกลุ่มอายุ 3-5 ปี ร้อยละ 34.92 และกลุ่มอายุ 6-15 ปี ร้อยละ 8.38 ตามลำดับ นอกจากนี้ยังพบผู้ป่วยกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป ร้อยละ 1.96

โรคนี้ติดต่อจากการไอจาม โดยการสัมผัสน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย เชื้อไวรัสอาร์เอสวีเข้าผ่านทางจมูก ปาก และเยื่อบุตาทำให้เกิดโรค หรือการสัมผัสสิ่งของ เช่น ของเล่น ภาชนะที่เปื้อนน้ำมูก น้ำลายของผู้ป่วย ผู้ที่ได้รับเชื้อมักมีระยะฟักตัวของโรค เฉลี่ยอยู่ที่ 4-6 วัน หลังได้รับเชื้อ ผู้ติดเชื้อสามารถแพร่กระจายเชื้อได้นาน 3-8 วัน สำหรับการติดเชื้อในกลุ่มเด็กเล็ก เชื้อมีโอกาสลุกลามไปยังระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง เช่น หลอดลม เนื้อปอด ทำให้เกิดอาการหลอดลมใหญ่อักเสบ หลอดลมฝอยอักเสบ และปอดอักเสบตามมา มักพบเด็กรับเชื้อจากการสัมผัสผู้ป่วย ขณะที่ไปโรงเรียน ศูนย์รับเลี้ยงเด็ก และยังสามารถแพร่เชื้อต่อให้กับคนในบ้านได้

ในระยะแรกผู้ป่วยจะมีอาการเพียงเล็กน้อย คล้ายกับโรคไข้หวัด เช่น ไข้ ไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หากมีอาการรุนแรงจะมีอาการหายใจเร็ว หอบเหนื่อย เสียงหายใจดังวี้ด รับประทานอาหารได้น้อย ซึมลง และอาจเสียชีวิตได้ ในโรงพยาบาลใหญ่จะมี Monoclonal antibody ใช้รักษา การรักษาส่วนใหญ่เป็นการรักษาตามอาการ โรคนี้สามารถพบได้ในผู้ป่วยทุกกลุ่มอายุ แต่กลุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดอาการรุนแรง คือ เด็กเล็ก เด็กที่ภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรง เด็กที่คลอดก่อนกำหนด ผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป รวมถึงผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคปอด โรคหัวใจ หรือผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง

ด้าน นายแพทย์โสภณ เอี่ยมสิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า แนะนำผู้ปกครองและครูในสถานศึกษา หมั่นสังเกตอาการติดเชื้อทางเดินหายใจ โดยเฉพาะเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 5 ปี อย่างใกล้ชิดทุกวัน โดยโรคนี้สามารถป้องกันได้ โดยการล้างมืออย่างถูกวิธี ด้วยสบู่และน้ำสะอาดบ่อยๆ โดยเฉพาะก่อนมื้ออาหาร และหลังเข้าห้องน้ำ ดูแลสุขอนามัย หลีกเลี่ยงการไปในสถานที่ที่มีผู้คนหนาแน่น หากจำเป็นควรสวมหน้ากากผ้า หรือหน้ากากอนามัย ทำความสะอาดบ้านรวมทั้งของเล่นเด็กเป็นประจำ รับประทานอาหารที่ถูกสุขลักษณะ ครบ 5 หมู่ ดื่มน้ำมากๆ และพักผ่อนให้เพียงพอ หากพบเด็กมีอาการป่วย ควรแยกออกจากเด็กปกติ เพื่อเป็นการป้องกันการแพร่เชื้อ และพาไปพบแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัยและรักษาต่อไป

Related Posts

Send this to a friend