“แสงนำใจไทยทั้งชาติ เดิน วิ่ง ปั่น ป้องกันอัมพาต ครั้งที่ 7 เฉลิมพระเกียรติ”
ศิริราช มูลนิธิไทยคม กรมพลศึกษา สสส. สมาพันธ์ชมรมเดินวิ่งเพื่อสุขภาพไทยและ Park Run Thailand จัดงาน “แสงนำใจไทยทั้งชาติ เดิน วิ่ง ปั่น ป้องกันอัมพาต ครั้งที่ 7 เฉลิมพระเกียรติ” มุ่งให้คนไทยมีสุขภาพดี ห่างไกลจากโรคหลอดเลือดสมอง
วันนี้ ( 12 ต.ค. 64 ) เวลา 11.00 น. ศ. ดร. นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นประธานแถลงข่าวจัดงาน “แสงนำใจไทยทั้งชาติ เดิน วิ่ง ปั่น ป้องกันอัมพาต ครั้งที่ 7 เฉลิมพระเกียรติ” โดยมี รศ. นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช และ รศ. นพ.ยงชัย นิละนนท์ ประธานศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราช พร้อมด้วย ดร.นิวัตน์ ลิ้มสุขนิรันดร์ อธิบดีกรมพลศึกษา ดร.ณรงค์ เทียมเมฆ ผู้ทรงคุณวุฒิจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คุณทนงศักดิ์ ศุภทรัพย์ รองประธานสมาพันธ์ชมรมเดินวิ่งเพื่อสุขภาพไทยและผู้อำนวยการดูแลโครงการ Park Run Thailand คุณพงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง ดารานักแสดง และ คุณทรงศักดิ์ เปรมสุข กรรมการมูลนิธิไทยคม ผู้ให้การสนับสนุนการจัดงาน ณ ห้องประชุมสิรินธร ชั้น G อาคารเฉลิมพระเกียรติ โรงพยาบาลศิริราช
ศ. ดร. นพ.ประสิทธิ์ วัฒนาภา คณบดีคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล กล่าวว่า งาน “แสงนำใจไทยทั้งชาติ เดิน วิ่ง ปั่น ป้องกันอัมพาต ครั้งที่ 7 เฉลิมพระเกียรติ” เป็นกิจกรรมที่จัดต่อเนื่อง ปีนี้เป็นปีที่ 7 และเป็นวาระพิเศษที่ รพ.ศิริราช มูลนิธิไทยคม กรมพลศึกษา สสส. สมาพันธ์ชมรมเดินวิ่งเพื่อสุขภาพไทยและ Park Run Thailand ร่วมจัดงานขึ้น เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ที่ทรงเป็นดั่งแสงนำใจของคนไทยทั้งชาติ และเป็นแบบอย่างในการออกกำลังกายเพื่อรักษาสุขภาพ ที่ทรงได้ปฏิบัติมาตลอด อีกทั้งยังเป็นการดำเนินงานในเชิงรุกสู่ชุมชนและสังคมแบบวิถีใหม่เพื่อให้ประชาชนชาวไทยทั่วประเทศตระหนักถึงความสำคัญของการป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง และส่งเสริมให้มีกิจกรรมป้องกันโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายการรักษา และลดภาระของปัญหาโรคเรื้อรัง โดยให้ประชาชนทั่วไป ทุกเพศ ทุกวัย และทุกหมู่เหล่าได้ออกกำลังกายอย่างง่าย ๆ เช่น การเดิน วิ่ง หรือปั่นจักรยาน หากทำเป็นประจำจะทำให้มีสุขภาพดีห่างไกลโรค ไม่ว่าจะอยู่ภายใต้สถานการณ์ใด ๆ ประชาชนต้องไม่ลืมใส่ใจต่อสุขภาพ
สำหรับการรวมพลังขององค์กรภาครัฐ ภาคเอกชนในครั้งนี้ ทำให้กับประชาชนเห็นว่า แม้อยู่ภายใต้สถานการณ์ แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (Covid-19) ก็ยังสามารถร่วมกิจกรรมออกกำลังกาย เดิน วิ่ง ปั่น รูปแบบใหม่ สะดวก ปลอดภัย กับสนามใกล้บ้านท่านทั้ง 157 สนาม 62 จังหวัดทั่วประเทศไทย โดยแต่ละจังหวัดได้ยึดแนวปฏิบัติตามคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) อย่างเคร่งครัด ได้แก่
พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (พื้นที่สีแดงเข้ม) 29 จังหวัด ผู้เข้าร่วมไม่เกินกว่า 25 คน พื้นที่ควบคุมสูงสุด (พื้นที่สีแดง) 31 จังหวัด ผู้ร่วมกิจกรรมได้ไม่เกิน 50 คน และพื้นที่ควบคุม (พื้นที่สีส้ม) 11 จังหวัด ผู้ร่วมกิจกรรมได้ไม่เกิน 100 คน หรือหากไม่สะดวกเข้าร่วมยังสนามที่จัดเตรียมไว้ให้ ท่านสามารถออกกำลังกายที่ใดก็ได้เช่นกัน
รศ. นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช กล่าวว่า งาน “แสงนำใจไทยทั้งชาติ เดิน วิ่ง ปั่น ป้องกันอัมพาต ครั้งที่ ๗ เฉลิมพระเกียรติ” เดิมเป็นการจัดกิจกรรมเพียงสนามเดียว แต่ในปีนี้เป็นการจัดกิจกรรม รูปแบบใหม่ สะดวก ปลอดภัย โดยสามารถออกกำลังกายที่สนามใกล้บ้านท่าน 157 สนาม 62 จังหวัด โดยเปิดรับสมัครมาตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน จนถึงวันนี้ (12 ต.ค.64) เวลา 23.59 น. ทางเว็บไซต์ www.thaijogging.org โดยผู้เข้าร่วมงานสามารถเลือกสนามออกกำลังกายได้ที่ www.parkrunthailand.com เพื่อรับ QR code ที่เปรียบเสมือน passport ในการเข้าร่วมกิจกรรมทุกเช้าวันเสาร์ตลอดเดือนตุลาคม 2564 (2, 9, 16, 23, 30 ต.ค.) ซึ่งเป็นตัวบอกจำนวนครั้งของการเข้าร่วมกิจกรรมของแต่ละสนาม และเพื่อให้ได้รับความปลอดภัยสูงสุด ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกครั้งจะได้รับการตรวจคัดกรองโรค Covid-19 จากชุดตรวจ Antigen Test Kit อีกทั้งยังได้รับความรู้เรื่องการ “รู้จัก ป้องกัน รักษา ฟื้นฟู โรคหลอดเลือดสมอง” จากทุกสนามที่จัดกิจกรรม
ทั้งนี้ จะจัดงานประกาศผลรางวัลแต่ละประเภท ในวันเสาร์ที่ 30 ตุลาคม 2564 ได้แก่ ชุมชนที่ส่งเสริมสนับสนุนให้ประชาชนออกกำลังกายรักษาสุขภาพมากที่สุด จะได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ชุมชนที่สร้างความตระหนักให้ความรู้ประชาชนในการดูแลป้องกันโรคหลอดเลือดสมองได้ดีที่สุด จะได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี
สำหรับผู้เข้าร่วมกิจกรรมออกกำลังกาย บุคคลทั่วไป 200 บาท ได้รับของที่ระลึกเป็นเสื้อกีฬา 1 ตัว ผ้าขนหนู 1 ผืน และวารสาร 1 เล่ม VIP 500 บาท ได้รับของที่ระลึกเป็นเสื้อกีฬา 1 ตัว ผ้าขนหนู 1 ผืน ,วารสาร 1 เล่ม และเสื้อคอปก (Polo) เพิ่มอีก 1 ตัว
รศ. นพ. ยงชัย นิละนนท์ ประธานศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราช กล่าวว่าสำหรับโรคหลอดเลือดสมองในประเทศไทย มีแนวโน้มผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองสูงขึ้นทุกปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่สังคมไทยและสังคมโลกกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ในปี พ.ศ. 2562 โรคหลอดเลือดสมองมีจำนวนของผู้เสียชีวิตสูงเป็นอันดับ 2 รองจากโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด นอกจากนี้ถ้าคิดจากภาระโรค โรคหลอดเลือดสมองจะสูงเป็นอันดับ 1 เนื่องจากผู้รอดชีวิตส่วนใหญ่ มักจะมีความพิการหลงเหลืออยู่ในระยะยาว
ในปัจจุบัน โรคหลอดเลือดสมอง สามารถรักษาได้ ถ้าท่านพบแพทย์เร็ว โดยสังเกตอาการได้จาก คำย่อ “FAST” คือ F-Face ปากเบี้ยว A-Arm weakness อ่อนแรงครึ่งซีก S-Speech การพูดไม่ชัด หรือการพูดลำบาก หรือฟังภาษาไม่เข้าใจ T-Time บ่งบอกถึงความสำคัญของเวลา ที่ต้องมาพบแพทย์เร็ว ขอให้ทุกท่านจำคำย่อนี้ไว้ นอกจากนี้ร้อยละ 80 ขึ้นไปของโรคหลอดเลือดสมองสามารถป้องกันได้ ถ้าท่านทำตามหลักปฎิบัติ 10 ข้อ ซึ่งประกอบด้วยการดูแลรักษา 4 โรค และการปฏิบัติตัว ลด ละ เลี่ยง 6 พฤติกรรม โดย 4 โรคประกอบด้วย 1.รักษาความดันสูงให้ดี 2.รักษาไขมันในเลือดสูง 3.รักษาเบาหวาน และ 4.รับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือดในผู้ป่วยที่มีหัวใจเต้นผิดจังหวะ และปฏิบัติตัวตาม 6 พฤติกรรมได้แก่ 1.ออกกำลังกายสม่ำเสมอ 2.ไม่อ้วน 3.รับประทานผักผลไม้เป็นประจำ 4.งดเหล้า 5.งดบุหรี่ 6.กำจัดความเครียด ดังนั้นถ้าท่านปฏิบัติได้ 4 โรค 6 พฤติกรรมดังนี้ ท่านจะหลีกเลี่ยงโรคหลอดเลือดสมองได้ถึง 80-90% ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการรักษาสุขภาพขั้นพื้นฐานที่ทุกท่านทราบดี และสามารถทำได้ถ้ามีความตั้งใจจริงที่จะหันมาดูแลสุขภาพ การออกกำลังกายจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ทุกท่านสามารถทำได้ทันที แม้อยู่ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาด Covid-19 เราก็ยังสามารถออกกำลังกายที่บ้านได้
ดร.นิวัตน์ ลิ้มสุขนิรันดร์ อธิบดีกรมพลศึกษา กล่าวว่า กรมพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เป็นหน่วยงานหลักที่มีหน้าที่ในการดูแลสุขภาพพลานามัยของประชาชนไทย โดยส่งเสริมและให้บริการด้านการออกกำลังกาย การเล่นกีฬาและกิจกรรมนันทนาการแก่เด็ก เยาวชน ประชาชน และผู้สูงอายุ รวมไปถึงกลุ่มผู้ด้อยโอกาสครอบคลุมทั่วประเทศ โดยมีเจ้าหน้าที่พลศึกษาประจำอำเภอ 878 อำเภอเป็นผู้ส่งเสริมการออกกำลังกายให้กับประชาชนในพื้นที่
ในการร่วมดำเนินการจัดงาน “แสงนำใจไทยทั้งชาติ เดิน วิ่ง ปั่น ป้องกันอัมพาต ครั้งที่ ๗ เฉลิมพระเกียรติ” ในครั้งนี้นั้น กรมพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้เห็นถึงความสำคัญของการส่งเสริมสุขภาพและให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ โรคหลอดเลือดสมอง (stroke) ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งโรคใกล้ตัว ที่ไม่ควรมองข้าม หากประชาชนได้ทราบถึงข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับโรคหลอดเลือดสมอง รู้จักโรคว่าเกิดจากสาเหตุอะไร เรียนรู้การป้องกัน การรักษา และฟื้นฟู ก็จะสามารถลดความเสี่ยง หรือลดความรุนแรงในการเกิดโรคได้ โดยเฉพาะกลุ่มประชากรผู้สูงอายุ เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่มีอัตราเสี่ยงต่อการเกิดโรงคหลอดเลือดสมอง จากข้อมูลของกรมกิจการผู้สูงอายุ ในปี 2562 ประเทศไทยจะมีจำนวนประชากรผู้สูงอายุจำนวน 11 ล้านกว่าคน คิดเป็นร้อยละ 16.73 จากประชากรทั้งประเทศ จากข้อมูลดังกล่าว หากประชาชนทุกช่วงวัยได้เข้าถึงข้อมูลก็ย่อมส่งผลให้ประชาชนมีสุขภาวะที่ดี และการส่งเสริมให้ประชาชนทุกช่วงวัยมีสุขภาพที่ดีนั้นถือเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือกัน
ดร.ณรงค์ เทียมเมฆ ผู้ทรงคุณวุฒิจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การจัดกิจกรรมงานแสงนำใจไทยทั้งชาติ เดิน วิ่ง ปั่น ป้องกันอัมพาต ครั้งที่ ๗ เฉลิมพระเกียรติ ปีนี้ยังคงอยู่ท่ามกลางสถานการณ์โควิด-19 ที่ดูเหมือนจะรุนแรงกว่าครั้งที่ 6 ที่ผ่านมา ดังนั้นคณะผู้จัดงานจึงมีความจำเป็นที่จะต้องออกแบบกิจกรรมเพื่อมั่นใจได้ว่า การจัดกิจกรรมไม่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคระบาดที่กำลังรุนแรงในขณะนี้
ซึ่งภายใต้กิจกรรมนี้ เราได้เลือกกิจกรรมของ Park Run THAILAND ที่ปฏิบัติมา 41 สัปดาห์อย่างต่อเนื่อง กิจกรรมดังกล่าวกระจายอยู่ในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ ทุกภูมิภาคมากกว่า 50 จังหวัด และมีสนามที่เข้าร่วมมากกว่า 150 สนาม ซึ่งการกระจายลักษณะนี้เป็นกระจายมวลชนออกไป ให้ไม่มารวมตัวอยู่ในที่เดียว ซึ่งถือได้ว่าเป็นเรื่องของ Social Distancing ที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการออกแบบงานวิ่งในปัจจุบัน ในยุคของ New Normal ดังนั้นจึงมั่นใจได้ว่าผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกท่านมีความสุขกับกิจกรรมครั้งนี้ มีความปลอดภัยค่อนข้างสูง
คุณทนงศักดิ์ ศุภทรัพย์ รองประธานสมาพันธ์ชมรมเดินวิ่งเพื่อสุขภาพไทย และผู้อำนวยการดูแลโครงการ Park Run Thailand กล่าวว่า นวัตกรรมส่งเสริม และสนับสนุนการออกกำลังกายเดินวิ่ง โดย มูลนิธิสมาพันธ์ชมรมเดินวิ่งเพื่อสุขภาพไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และบริษัท ไทยดอทรัน จำกัด ร่วมกันออกแบบกิจกรรมนี้ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทุกประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญหน้ารับมือในวิกฤตนี้พร้อมกัน จนทำให้เกิดปัญหาประชาชนมีสุขภาพกายที่อ่อนแอ จากการขาดการออกกำลังกาย จิตใจหดหู่ ตกอยู่ในภาวะความหวาดกลัว วิตก และซึมเศร้า จากการบริโภคข้อมูลข่าวสารที่น่ากลัวเกินจริง วิกฤตการแพร่ระบาด รวมทั้งวิกฤตจากเศรษฐกิจ
Park Run THAILAND จึงเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริม สนับสนุน ให้คนออกกำลังกายเดินวิ่งในพื้นที่ปลอดภัย เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรค สร้างสุขภาพจิตที่ดี ห่างไกลกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) รวมทั้งคอยให้องค์ความรู้ที่ถูกต้องกับ ทุกคน แนะนำการใช้ชีวิตอย่างมีสติ มีวินัย ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคอย่างเคร่งครัด สม่ำเสมอจนเป็นชีวิตวิถีใหม่ เป็นกิจกรรมวิ่งที่ทุกคนสามารถร่วมเป็นเจ้าของสนามวิ่งของตัวเองได้ ฟรีสำหรับทุกคนตลอดไป โดยจะเดินวิ่งทุกวันเสาร์ เวลา 7 โมงตรง ระยะทาง 5 กิโลเมตร เปิดตัวครั้งแรกเมื่อวันเสาร์ที่ 5 ธันวาคม 2563 มีสนามที่เปิดในช่วงแรกเพียง 30 สนาม ใน 20 จังหวัด มีผู้สมัครเดินวิ่งในระบบ ประมาณ 2 พันคน เปิดต่อเนื่องมา 41 สัปดาห์เป็นประจำทุกเช้าวันเสาร์ มีผู้สนใจสมัครเปิดสนามเพิ่มขึ้นขณะนี้กว่า 250 สนาม ใน 74 จังหวัด และสมัครเข้าร่วมเดินวิ่งกว่า 1 หมื่น 6 พันคน แม้ในสถานการณ์ล็อกดาวน์ มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้พบผู้ติดเชื้อวันละเกิน 2 หมื่นคน เสียชีวิตวันละถึง 300 คน Park Run THAILAND ก็ยังสามารถส่งเสริมให้คนออกกำลังกายเดินวิ่ง รักษาสุขภาพด้วยการปรับกติกาใหม่ที่สอดคล้องกันกับสถานการณ์ ทั้งยังเพิ่มมาตรการความปลอดภัยให้ทุกคนมากขึ้นด้วย
คุณพงษ์พัฒน์ วชิรบรรจง ดารา นักแสดง ผู้จัดละคร กล่าวว่า “แสงนำใจไทยทั้งชาติ เดิน วิ่ง ปั่น ป้องกันอัมพาต” สำหรับผมคือ “เดิน วิ่ง ปั่น ฟื้นฟูอัมพาต” เป็นจุดเริ่มต้นของการฟื้นฟูจากความเจ็บป่วยจากโรคหลอดเลือดสมองเฉียบพลัน การฟื้นฟู คือ การฝึกฝนให้ร่างกายมีสมรรถภาพที่ดีขึ้น เริ่มต้นครั้งแรกจากงานแสงนำใจไทยทั้งชาติ เดิน วิ่ง ปั่น ป้องกันอัมพาต ครั้งที่ ๕ เฉลิมพระเกียรติ ณ ท้องสนามหลวง เป็นการเดินระยะทาง 6 กิโลเมตร และครั้งที่สองจากงานแสงนำใจไทยทั้งชาติ เดิน วิ่ง ปั่น ป้องกันอัมพาต ครั้งที่ ๖ เฉลิมพระเกียรติ ณ มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา เดินระยะทาง 10 กิโลเมตร
คุณทรงศักดิ์ เปรมสุข กรรมการมูลนิธิไทยคม กล่าวว่า มูลนิธิไทยคมก่อตั้งขึ้นด้วยความมุ่งหมายที่จะเป็นองค์กรหนึ่งที่มีส่วนช่วยในการส่งเสริม สนับสนุนการศึกษาของเยาวชนไทยรวมถึงการสร้างสาธารณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติ ตามเจตนารมณ์ของผู้ก่อตั้งมูลนิธิฯ เนื่องจากเราเชื่อว่า การมีสุขภาพที่ดี เป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดของการมีคุณภาพชีวิตที่ดี และสุขภาพที่ดีนั้นยังเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการพัฒนาศักยภาพด้านอื่น ๆ ด้วย
มูลนิธิไทยคมเล็งเห็นว่าโครงการ แสงนำใจไทยทั้งชาติ เดิน วิ่ง ปั่น ป้องกันอัมพาต ครั้งที่ ๗ เฉลิมพระเกียรติ ที่โรงพยาบาลศิริราชจัดขึ้นนี้ นอกจากจะช่วยให้คนไทยได้มีโอกาสออกกำลังกายแล้ว ยังเป็นการสร้างประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่ให้กับสังคม โดยการให้ความรู้ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ทำให้คนไทย ได้รู้จักโรคหลอดเลือดสมอง ได้รู้ถึงวิธีป้องกันและรักษาอย่างถูกต้อง เมื่อได้เข้าถึงความรู้และมีความเข้าใจที่ถูกต้องย่อมนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้นได้ ด้วยแนวคิด ที่ตรงกันของโรงพยาบาลศิริราชและมูลนิธิไทยคม ในเรื่องของการให้ความรู้เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทย จึงเป็นที่มาของการร่วมสนับสนุนการจัดงานในครั้งนี้ โดยได้สนับสนุนงบประมาณ จำนวน 2,000,000 บาท สำหรับจัดกิจกรรม และภายใต้สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อความปลอดภัยของผู้ที่เข้าร่วมโครงการทุกคนจึงได้สนับสนุนชุดตรวจ Antigen Test Kit เพื่อใช้ในการคัดกรองผู้เข้าร่วมงานในทุกสนาม ตลอดระยะเวลาที่มีการจัดงาน จำนวน 15,000 ชุด
ติดตามรายละเอียดกิจกรรมได้ที่ Facebook: Walk Run Bike Fighting Stroke เดิน วิ่ง ปั่น ป้องกันอัมพาต สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์โรคหลอดเลือดสมองศิริราช โทร. 0 2414 1010สำหรับผู้มีจิตศรัทธาสามารถบริจาคสมทบกองทุนเดิน วิ่ง ปั่น ป้องกันอัมพาต (D.3806) ที่ศิริราชมูลนิธิ (ไม่เว้นวันหยุด) โทร. 0 2419 7658-60 นอกจากจะได้มีสุขภาพที่แข็งแรงห่างไกลจากโรคหลอดเลือดสมอง ยังได้ร่วมทำบุญอีกด้วย