แพทย์ เผยไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุสมบูรณ์ แนะผู้สูงอายุรับประทานโปรตีนให้เพียงพอ-ควบคุมอาหาร ควบคู่ออกกำลังกาย
ผศ.นพ.ปริย พรรณเชษฐ์ รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลรามาธิบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ โดยข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2566 มีผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปทั่วประเทศ 13,064,929 คน ขณะเดียวกัน อาหารเป็นส่วนที่ทำให้ผู้สูงวัยมีคุณภาพชีวิตที่ดี โดยเฉพาะการกินอาหารที่เหมาะสม จะช่วยให้มีภาวะโภชนาการที่ดี ไม่อ้วนหรือผอมเกินไป ป้องกันการเกิดกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable Diseases: NCDs) หรือในผู้ที่ป่วยโรค NCDs ควรควบคุมอาหารเพื่อไม่เกิดโรคแทรกซ้อน
กลุ่มผู้สูงอายุ ถือเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะทุพโภชนาการ (Malnutrition) แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ ภาวะโภชนาการเกิน เกิดจากได้รับสารอาหารมากเกินไปจนเป็นภาวะโรคอ้วน และภาวะขาดสารอาหาร หรือสารอาหารไม่เพียงพอ เกิดจากกินอาหารได้น้อยลง หรือเบื่ออาหาร
ผศ.นพ.ปริย กล่าวย้ำว่า ผู้สูงอายุมีกิจกรรมไม่เท่ากับวัยอื่น การใช้พลังงานจึงลดลง ออกแรงน้อยลง ควรกินอาหารให้พอเหมาะ ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในดัชนีมวลกายที่เหมาะสม และกินอาหารให้มีปริมาณโปรตีนเพียงพอเพื่อสร้างมวลกล้ามเนื้อ เพราะผู้สูงอายุมวลกล้ามเนื้อน้อยลง ร่างกายจึงต้องการปริมาณโปรตีนที่มากกว่าวัยอื่น การเพิ่มโปรตีนจะทำให้กล้ามเนื้อฝ่อน้อยลง โดยปริมาณโปรตีนที่ต้องการคือ 1.0-1.3 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน ควบคู่กับการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มมวลกล้ามเนื้อ หรือให้ผู้สูงอายุทำกิจวัตรประจำวันด้วยตนเอง เพื่อไม่ให้กำลังถดถอย
สำหรับภาวะร่างกายผู้สูงวัย เหงือกและฟันอาจไม่ค่อยสมบูรณ์ รวมทั้งกระเพาะอาหารจะหลั่งกรดย่อยโปรตีนได้น้อยลง การกินโปรตีนอาจทำให้เกิดอาการท้องอืด ควรเลือกกินโปรตีนที่ย่อยง่าย เช่น เนื้อปลา หรือ เนื้อหมูเนื้อไก่ที่บดสับละเอียด หรือต้มตุ๋นจนนุ่ม รวมถึงโปรตีนจาก ไข่ เต้าหู้ และนม ส่วนผักให้ต้มจนนิ่ม หั่นเป็นชิ้นเล็ก ๆ และดื่มน้ำให้เพียงพอ 2 ลิตรต่อวัน ยกเว้นในผู้ป่วยที่จำกัดปริมาณน้ำ ควรหลีกเลี่ยงอาหารรสหวานจัด เค็มจัด มันจัด และแอลกอฮอล์
นอกจากนี้ ผู้สูงอายุยังมีภาวะเบื่ออาหาร เกิดจากภาวะจิตใจ หรือการเปลี่ยนแปลงของกลไกในร่างกาย ต่อมน้ำลายหลั่งได้น้อยลง เหงือกล่น ฟันไม่ครบ มีปัญหาท้องอืด อาหารไม่ย่อย จำเป็นต้องระวังภาวะขาดโปรตีนและขาดสารอาหาร เพราะจะทำให้มวลกล้ามเนื้อลดลง แนะนำหาเครื่องดื่มที่มีสารอาหารครบถ้วนทดแทน หรือนม โยเกิร์ต นมสูตรแลคโตสฟรี รวมไปถึงอาหารทางการแพทย์เพิ่มในระหว่างมื้ออาหาร
ข้อควรระวังในผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นวัยที่กล้ามเนื้อน้อย ทำให้การทรงตัวไม่ดี หกล้มง่าย หากล้มกระดูกหัก จำนวน 1 ใน 3 เท่านั้นที่จะกลับมาปกติ เพราะอีกส่วนอาจร้ายแรงถึงแก่ชีวิตหรือพิการ จึงควรระวังการลื่นล้ม พลัดตก ระวังพื้นภายในบ้าน ในห้องน้ำต้องมีราวจับ และระวังการพลัดหลง หรือการหายตัวไปที่เกิดจากความจำไม่ดี เกิดอาการหลงลืม เดินออกจากบ้านไปกลับบ้านเองไม่ได้และหายไป ลูกหลานหรือผู้ดูแลควรติดริสแบรนด์ที่มีชื่อและเบอร์โทรศัพท์ไว้กับตัวผู้สูงอายุ