HEALTH

กรมควบคุมโรค แนะวิธี ‘ส่อง-ใส่-แซ่บ’ ลดความเสี่ยงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

กรมควบคุมโรค เผย โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มีแนวโน้มสูงขึ้น แนะวิธี ‘ส่อง-ใส่-แซ่บ’ ลดความเสี่ยงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

วันนี้ (12 เม.ย. 67) นายแพทย์วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ และโฆษกกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นมาก โดยเฉพาะโรคซิฟิลิสที่พบอัตราป่วยในปี 2566 เพิ่มขึ้น 2.5 เท่าจากปี 2561 (จากอัตราป่วย 11 เพิ่มเป็น 28.1 ต่อประชากรแสนคน) และเพิ่มขึ้น 3 เท่าในกลุ่มเยาวชน (จากอัตราป่วย 27.9 เพิ่มเป็น 91.2 ต่อประชากรแสนคน) แสดงถึงการมีพฤติกรรมทางเพศที่ไม่ปลอดภัย

ทั้งนี้ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ยังมีอีกหลายโรค หลายลักษณะอาการ ได้แก่ แผล (ซิฟิลิส แผลริมอ่อน เริมอวัยวะเพศ), ฝี (กามโรคของต่อม และท่อน้ำเหลืองหรือฝีมะม่วง), หนอง (หนองใน หนองในเทียม) และอื่น ๆ (หูดหงอนไก่ หูดข้าวสุก พยาธิช่องคลอด โลน)

นายแพทย์วีรวัฒน์ กล่าวแนะนำให้ทุกคนปฏิบัติตามหลัก ‘ส่อง-ใส่-แซ่บ’ เพื่อความปลอดภัย และลดความเสี่ยงโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โดยมีรายละเอียดดังนี้

‘ส่อง’ หมั่นสังเกตตัวเองและคู่นอนก่อนมีเพศสัมพันธ์ทุกครั้งว่าไม่มี ผื่น แผล ตุ่ม หนอง

‘ใส่’ ถุงยางอนามัย ทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ กับทุกคน ทุกช่องทาง เพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ โรคไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี รวมถึงป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พร้อมได้ในคราวเดียว

สำหรับการปฏิบัติดังกล่าว เพื่อความ ‘แซ่บ’ อย่างปลอดภัย ไร้กังวล

อย่างไรก็ตาม หากเคยมีความเสี่ยง แนะนำให้ตรวจคัดกรองหาการติดเชื้อเอชไอวี และซิฟิลิส อย่างสม่ำเสมอ เพราะทั้ง 2 โรคนี้ส่วนใหญ่ไม่แสดงอาการ จะทราบว่ามีเชื้อก็ต่อเมื่อตรวจเท่านั้น

ทั้งนี้ สามารถรับถุงยางอนามัยฟรีที่หน่วยบริการสุขภาพของรัฐ และภาคประชาสังคมทั่วประเทศ หรือกดจองสิทธิรับถุงยางอนามัย และชุดตรวจเอชไอวีด้วยตนเองฟรีผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง และไปรับได้ที่หน่วยบริการใกล้บ้าน เช่น คลินิก ร้านขายยา รพ.สต. รพ. เป็นต้น อีกทั้งคนไทยทุกคนมีสิทธิตรวจเอชไอวีฟรีปีละ 2 ครั้ง ที่โรงพยาบาลภายใต้หลักประกันสุขภาพแห่งชาติทุกแห่ง ส่วนซิฟิลิส สามารถตรวจได้ที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน

นายแพทย์วีรวัฒน์ กล่าวย้ำว่า หากมีความเสี่ยง เช่น ไม่ใช้ถุงยางอนามัย ถุงยางอนามัยแตก หลุด รั่ว ขณะมีเพศสัมพันธ์ แนะนำให้รีบพบแพทย์ เพื่อเข้าสู่กระบวนการตรวจคัดกรองหาการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หากผลพบว่าติดเชื้อควรเข้ารับการรักษาทันที เนื่องจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์รักษาได้ หายขาด แต่มีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำได้หากมีความเสี่ยงเช่นเดิม

Related Posts

Send this to a friend

Thailand Web Stat