HEALTH

เตือน มะเร็งต่อมน้ำเหลือง ภัยร้ายใกล้ตัวกว่าที่คิด หากรู้เร็วรักษาหายได้

พร้อมแนะตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี หากคลำพบ รักแร้ คอ ขาหนีบ ข้อพับ ช่องท้อง โตผิดปกติ รีบพบแพทย์

วันนี้ (11 ก.ย. 66) นายแพทย์วีรวุฒิ อิ่มสำราญ รองอธิบดีกรมการแพทย์ ชี้ “มะเร็งต่อมน้ำเหลือง” พบได้บ่อยในคนไทยทุกช่วงอายุ ทั้งนี้พบได้ลำดับ 5 ในเพศชาย และลำดับ 9 ในเพศหญิง และในแต่ละปีพบผู้ป่วยโรคนี้ประมาณ 5,600 คนต่อปี แนะหมั่นสังเกตตนเอง หากคลำพบต่อมน้ำเหลืองโต เช่น รักแร้ คอ ขาหนีบ ตามข้อพับ และในช่องอก ช่องท้อง หรือมีอาการผิดปกติ ควรรีบไปพบแพทย์

นายแพทย์วีรวุฒิ กล่าวว่า “มะเร็งต่อมน้ำเหลืองเป็นมะเร็งที่พบบ่อยในคนไทย พบได้ลำดับ 5 ในเพศชาย และลำดับ 9 ในเพศหญิง พบได้ทุกช่วงอายุแล้วแต่ชนิด พบได้ประมาณ 5,600 คนต่อปี มะเร็งที่เกิดกับต่อมน้ำเหลือง เกิดได้ทุกบริเวณของร่างกาย ตั้งแต่ รักแร้ คอ ขาหนีบ ตามข้อพับ และในช่องอก ช่องท้อง นอกจากนี้แล้วเซลล์ต่อมน้ำเหลืองยังมีอยู่ทุกอวัยวะในร่างกาย สามารถเกิดเป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองได้ทั้งสิ้น เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำไส้ มะเร็งต่อมน้ำเหลืองในสมอง เป็นต้น”

ด้าน แพทย์หญิงศศินิภา ตรีทิเพนทร์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญอายุรศาสตร์โรคเลือด สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า “ต่อมน้ำเหลือง มีรูปร่างคล้ายเมล็ดถั่วขนาดเล็ก เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร ภายในต่อมมีเม็ดเลือดขาวปริมาณมาก พบได้ทั่วทั้งร่างกายหลายร้อยต่อม ทำหน้าที่ในระบบภูมิคุ้มกัน คอยต่อสู้และปกป้องร่างกายจากสิ่งแปลกปลอม โดยทั่วไปมะเร็งต่อมน้ำเหลือง เป็นมะเร็งที่มีการพยากรณ์โรคดี หากได้รับการรักษาที่รวดเร็ว ผู้ป่วยมากกว่าครึ่งสามารถหายขาดได้ และกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ ทั้งนี้อาจขึ้นกับชนิดและระยะ ของโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ”

1.มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดฮอดจ์กิน (Hodgkin lymphoma) ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักจะมีต่อมน้ำเหลืองโตบริเวณคอและช่องอก ให้การรักษาโดยการใช้ยาเคมีบำบัด ร่วมกับการฉายแสง โอกาสหายขาดสูง
2.มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดนอนฮอดจ์กิน (Non-hodgkin lymphoma) พบมาก และแบ่งย่อยออกได้อีกประมาณ 30 ชนิด แต่แบ่งตามลักษณะการเจริญเติบโต ของเซลล์มะเร็งได้เป็น 2 แบบ คือ

1.มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดรุนแรง (Aggressive lymphoma) มีการแบ่งตัวและแพร่กระจายเกิดอย่างรวดเร็ว มีอาการรุนแรง ดังนั้นจึงตอบสนองกับยาเคมีบำบัด ซึ่งออกฤทธิ์กับเซลล์มะเร็งที่แบ่งตัวอยู่ค่อนข้างดี กลุ่มนี้ต้องรักษาทันที หากไม่รักษาผู้ป่วยอาจเสียชีวิตใน 6 เดือน ถึง 2 ปี แต่ถ้าได้รับการรักษาทันท่วงที จะมีโอกาสหายขาดได้มาก ไม่ว่าจะอยู่ในระยะใดก็ตาม

2.มะเร็งต่อมน้ำเหลืองชนิดค่อยเป็นค่อยไป (Indolent lymphoma) มีการแบ่งตัวและแพร่กระจายค่อนข้างช้า อาการเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่รุนแรงแต่เรื้อรัง กลุ่มนี้มักไม่ค่อยหายขาด ด้วยเคมีบำบัดที่มีอยู่ในปัจจุบัน จึงรักษาเมื่อมีข้อบ่งชี้ และติดตามอาการเป็นระยะ สาเหตุของมะเร็งเกิดจากการกลายพันธุ์ของเซลล์เม็ดเลือดขาว ชนิดลิมฟอยด์ (lymphoid) โดยมีปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ได้แก่ การติดเชื้อทั้ง virus เช่น HIV,HCV, EBV การติดเชื้อ bacteria ที่ทำให้เกิดกระเพาะอาหารอักเสบเรื้อรัง พันธุกรรม ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำจากการได้รับยา สารเคมีที่มีสารก่อมะเร็งอยู่ เช่น สารกำจัดศัตรูพืช เป็นต้น

ทั้งนี้การรักษามะเร็งต่อมน้ำเหลืองในปัจจุบัน ส่วนใหญ่รักษาด้วยยาเคมีบำบัด ร่วมกับยาพุ่งเป้า การฉายแสงในบางกรณี และการปลูกถ่ายไขกระดูก ในกรณีที่กลับเป็นซ้ำ นอกจากนี้ยังมีวิธีการรักษาใหม่สำหรับกรณีที่กลับเป็นซ้ำ คือ การใช้เซลล์บำบัด (CAR-T cell) ซึ่งยังอยู่ในช่วงการศึกษาวิจัยในประเทศไทย

“สำหรับการดูแลตนเอง สำหรับผู้ป่วยที่ได้รับการรักษา สิ่งสำคัญสำหรับผู้ป่วย ที่ได้รับยาเคมีบำบัด คือ การป้องกันการติดเชื้อ ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ง่ายและรุนแรง เนื่องจากภูมิคุ้มกันที่ต่ำลง ดังนั้นจึงแนะนำให้รับประทานอาหารทำใหม่ สุก สะอาดให้ครบห้าหมู่ และเลือกรับประทานผลไม้เปลือกหนา หลีกเลี่ยงสถานที่ชุมชนที่แออัด เสี่ยงต่อการรับเชื้อ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายตามความเหมาะสม หลีกเลี่ยงการกระทบกระแทก เพราะช่วงที่รับยาเคมีบำบัด อาจมีเกล็ดเลือดต่ำซึ่งจะทำให้เลือดออกง่าย หากมีไข้ให้รีบไปโรงพยาบาล การป้องกันการเกิดมะเร็งต่อมน้ำเหลือง ทำได้โดยการหมั่นสังเกตตัวเอง ตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี หากเจ็บป่วยให้รีบไปรักษา หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารเคมีโดยตรง และรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง”

Related Posts

Send this to a friend