HEALTH

จุฬาฯ เปิด Mind Café และ Mind Space แพลตฟอร์มใหม่ ‘เพื่อนใจนิสิต’ ดูแลสุขภาพจิต ช่วยนิสิตรับมือความเครียดทั้งการเรียน-ความสัมพันธ์

ความเครียดในการเรียน ความวิตกกังวลกับอนาคต ความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง และภาวะซึมเศร้า เป็นเรื่องทุกข์ใจอันดับต้นๆ ที่นิสิตเดินเข้ามารับคำปรึกษาที่หน่วยส่งเสริมสุขภาวะนิสิตจุฬาฯ ในช่วง 5 ปี ที่ผ่านมา และดูเหมือนว่าปัญหาทางใจเหล่านี้จะเพิ่มมากขึ้นตามระยะห่างทางสังคมที่จำเป็นในสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19  

“จำนวนนิสิตที่มีปัญหาด้านจิตใจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยปัญหาอันดับแรกๆ เป็นเรื่องการเรียน ไม่ว่าจะเรียนไม่เข้าใจ เรียนในสิ่งที่ไม่ชอบ พอมามีสถานการณ์โควิด-19 การเรียนออนไลน์ยิ่งทำให้นิสิตเครียดเพิ่มขึ้นไปอีก” ศ.ดร.ธัญวัฒน์ โพธิศิริ หัวหน้ากิจกรรมส่งเสริมสุขภาวะนิสิต กล่าวถึงที่มาของการเพิ่มช่องทางเข้าถึงใจนิสิตช่วงที่ต้องอยู่ติดบ้านด้วยระบบแพลตฟอร์มออนไลน์  Mind Café และ Mind Space

“หากนิสิตเกิดความรู้สึกทุกข์ใจ หาทางออกไม่ได้ ก็สามารถเข้ามาทำแบบทดสอบได้ที่เว็บแอปพลิเคชัน Mind Space แล้วทำการนัดหมายเพื่อเข้าพบนักจิตวิทยา หรืออาจจะเข้ามาพูดคุยสั้นๆ กับนักจิตวิทยาผ่านระบบ Mind Café เพื่อประเมินสุขภาพจิตเบื้องต้นก็ได้” ศ.ดร. ธัญวัฒน์ กล่าวเชิญชวน

Mind Café เปิดให้บริการเต็มรูปแบบแล้ว ส่วน Mind Space ดำเนินการไปแล้ว 50 เปอร์เซ็นต์ และคาดว่าจะเปิดใช้งานได้เต็มรูปแบบในช่วงเดือนสิงหาคมนี้ โดยจะมีการพัฒนาให้นิสิตสามารถจองวันและเวลานัดหมายได้ล่วงหน้า นอกจากนี้ หน่วยส่งเสริมสุขภาวะนิสิตยังมีแผนที่จะให้บริการปรึกษานอกเวลาทำการ    ในรูปแบบกึ่งฮอตไลน์ที่นิสิตสามารถเข้ามาพูดคุยได้ในช่วงเวลากลางคืน

ศ.ดร.ธัญวัฒน์ โพธิศิริ หัวหน้ากิจกรรมส่งเสริมสุขภาวะนิสิต

ช่องทางออนไลน์เหล่านี้ดูจะตอบโจทย์ปัญหาของนิสิตได้เป็นอย่างดี ศ.ดร. ธัญวัฒน์ เผยว่าตั้งแต่ที่จุฬาฯ เปิดระบบ Mind Space เมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว มีนิสิตให้ความสนใจเข้ามาใช้งานแล้วกว่า 1,700 คน จากจำนวนนิสิตทั้งหมดร่วม 40,000 คน และมีแนวโน้มจะมีผู้เข้ามาใช้บริการมากขึ้นเรื่อยๆ

ระบายความในใจสไตล์ Mind Café

นพสิทธิ์ สิริจรูญชัย รักษาการแทนหัวหน้าหน่วยส่งเสริมสุขภาวะนิสิตและนักจิตวิทยา อธิบายว่า Mind Café ถูกออกแบบให้เป็นพื้นที่สบายๆ ที่ให้นิสิตเข้ามาพูดคุยประเด็นปัญหาต่างๆ ในชีวิตประจำวัน โดยใน Mind Cafe มีลูกเล่น 2 ส่วน คือ Mind Talk และ Mind Exercise

Mind Talk เปิดโอกาสให้นิสิตได้พูดคุยสั้นๆ กับนักจิตวิทยา เพื่อคัดกรองอาการเบื้องต้น ช่องทางนี้เหมาะสำหรับนิสิตที่ไม่แน่ใจว่าตัวเองมีปัญหาหนักแค่ไหน บางครั้งการคุยเบื้องต้นก็อาจทำให้อาการดีขึ้น แต่ถ้าหากไม่ดีขึ้นก็สามารถทำนัดหมายเพื่อปรึกษากับนักจิตวิทยาแบบเต็มรูปแบบได้

ส่วน Mind Exercise เป็นเสมือนพื้นที่เพื่อการออกกำลังใจ สร้างภูมิคุ้มกันให้นิสิตสามารถรับมือกับปัญหาชีวิต โดยจะมีวิทยากรผลัดเปลี่ยนเข้ามาพูดคุยเกี่ยวกับประเด็นปัญหาต่างๆ ที่นิสิตสนใจและมักจะพบในชีวิตประจำวัน อย่างที่ผ่านมามีประเด็นสนทนาในหัวข้อ เช่น “พักอย่างไรให้ใจได้พัก” “การเรียน : จะผิดไหม ถ้าไม่ Productive” “การทำงานร่วมกัน : เมื่อ Team (ไม่) Work?” เป็นต้น

รู้จักตัวเองด้วยแบบทดสอบ Mind Space

เว็บแอปพลิเคชันที่ให้นิสิตสามารถรับรู้สภาพจิตใจของตนเองเบื้องต้น ฟังก์ชันหลักคือ Mind Test เป็นแบบทดสอบทางด้านจิตวิทยา ประกอบด้วยแบบทดสอบ 4 ประเภท คือ 1) ทดสอบภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล ความเครียด 2) ทดสอบการรับมือจัดการปัญหา 3) ทดสอบสุขภาพจิตทั่วไป และ 4) ทดสอบความพร้อมด้านอาชีพ

“เมื่อนิสิตได้รับผลการทำแบบทดสอบแล้ว ระบบจะแนะนำบทความใน Mind Support และกิจกรรมในส่วนที่เรียกว่า Mind Workshop ที่เหมาะสมกับนิสิตแต่ละคน หรืออาจแนะนำให้นัดหมายเพื่อพูดคุยกับนักจิตวิทยาก็ได้ ตามแต่ผลที่ประมวลจากแบบทดสอบ”

อีกหนึ่งจุดเด่นของ Mind Space คือ ฟังก์ชัน Mind Journey ที่เป็นเหมือนโปรไฟล์สุขภาพจิตของนิสิตแต่ละคน

“นิสิตสามารถบันทึกอารมณ์ในแต่ละวันเพื่อประเมินสภาพอารมณ์ของตัวเองได้ผ่านระบบ Mind Tracking ระบบจะบันทึกเก็บเป็นสถิติ แล้วแสดงผลเป็นภาพรวม รวมถึงมีข้อมูลแสดงให้เห็นว่านิสิตเคยเข้าไปใช้งานเว็บแอปพลิเคชันส่วนใดบ้าง” นพสิทธิ์ กล่าว

นพสิทธิ์ สิริจรูญชัย รักษาการแทนหัวหน้าหน่วยส่งเสริมสุขภาวะนิสิตและนักจิตวิทยา

ไม่ว่าจะเพียงอยากรู้จักตัวเองหรือหาหนทางเยียวยา Mind Café และ Mind Space ก็พร้อมเป็นเพื่อนคู่ทุกข์ใจสำหรับนิสิตทุกคน แต่จะดีที่สุดถ้าทุกคนมีภูมิคุ้มกันใจ

“ทั้งสองแพลตฟอร์มมีเนื้อหาทั้งสำหรับการพัฒนาตัวเองด้วย ซึ่งจะให้ผลเชิงป้องกันปัญหาไม่ให้เกิดในอนาคต เช่น นิสิตรู้วิธีจัดการตัวเอง เรียนรู้เรื่องบุคลิกภาพ คุณสมบัติทางบวกในใจที่ทำให้ชีวิตสดใสขึ้น เพื่อลดการเข้ามาใช้บริการกับนักจิตวิทยาในระยะยาว” นพสิทธิ์ กล่าว

“การดูแลสุขภาพจิตเป็นเรื่องสำคัญ เมื่อใดก็ตามที่ตัวเราเริ่มรู้สึกทุกข์ใจจนทนไม่ไหว ไม่เพียงแต่ตัวเราเท่านั้นที่จะรู้สึกต้องทนทุกข์ทรมานกับสภาพจิตใจเหล่านั้น แต่ความทุกข์ใจของเราอาจจะส่งผลไปถึงสภาพจิตใจของคนรอบข้างด้วย”  

Mind Space : http://chula.wellness.in.th/

Mind Café : bit.ly/MindTalk_by_MindCafe

Related Posts

Send this to a friend