HEALTH

รับมือฝุ่น PM 2.5 แนะลดแบคทีเรียในช่องปาก ป้องกันกระตุ้นเกิดเสมหะ

ลดหวาน-ลดกรดในอาหาร ลดการกระตุ้นเกิดเสมหะ-ติดเชื้อในลำคอ ดื่มน้ำเปล่ามากๆ ป้องกันภูมิแพ้จากฝุ่น โดยช่วงที่มีฝุ่นหนา แนะเลี่ยงออกนอกบ้านช่วงกลางวัน-ใส่หน้ากากอนามัยถูกต้อง ป้องกันตัวเองจากมลพิษในอากาศ ช่วยเสริมสร้างปอดแข็งแรง ป้องกันภูมิแพ้

เป็นเรื่องที่ต้องเตือนกันบ่อยๆในช่วงนี้ สำหรับภัยจากฝุ่น PM2.5 เนื่องจากมีหลายหน่วยงาน ออกมาให้ข้อมูล เกี่ยวกับค่าฝุ่นพิษดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้นในเขตพื้นที่ กทม.และปริมณฑล ที่อาจส่งผลกระทบโดยตรงกับปอดของเรา โดยเฉพาะผู้ที่มีฝุ่นละอองสะสมในปอดเป็นทุนเดิมแล้ว ดังนั้นการรับมือกับฝุ่นพิษจิ๋ว PM2.5 อย่างถูกวิธี จึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม เพราะหากปล่อยปละละเลย จะนำมาซึ่งโรคเรื้อรังต่างๆ รวมถึงโรคมะเร็งปอดได้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะผู้มีไลฟ์สไตล์การดื่มสุราและสูบบรี่ ที่เป็นตัวกระตุ้นโรคร้ายร่วมกับฝุ่นพิษจิ๋ว

The Reporters ได้สอบถามไปยัง “ผอ.พรหมมินทร์ กัณธิยะ” ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ ให้ข้อมูลเกี่ยวกับภัยจากฝุ่น PM2.5 และการรับมือโดยการปรับพฤติกรรมเสี่ยง เพื่อเลี่ยงการสัมผัสฝุ่นพิษจิ๋ว รวมถึงการเลือกหน้ากากอนามัย ให้เหมาะสมกับการใช้ชีวิตท่ามกลางมลพิษในอากาศไว้น่าสนใจ

ผอ.พรหมมินทร์ ให้ข้อมูลว่า “สำหรับฝุ่น PM2.5 กับปอดของเรานั้น หากปอดของเราได้รับฝุ่น PM2.5 เข้าไปอีก นอกจากฝุ่นที่ได้รับอยู่ก่อนหน้านั้น ทั้งจากฝุ่นสารเคมี ฝุ่นละออง จากการก่อสร้างถนน กระทั่งฝุ่นจากเศษใบไม้กิ่งไม้ หรือฝุ่นจากเศษดินทราย ซึ่งฝุ่นดังกล่าวจะติดอยู่บริเวณที่ปอดส่วนบน แต่เมื่อไรที่ร่างกายได้รับฝุ่น PM2.5 มันจะลงลึกไปถึงถุงลมฝอย ทั้งนี้คิดอย่างง่ายๆว่าภายในปอดของเราประกอบด้วย เช่น เมื่อเราหายใจเข้าปอด ฝุ่นพิษก็จะลงไปหลอดลม และลงไปที่กิ่งแขนงของปอดทั้งสองข้าง จากนั้นฝุ่น PM2.5 จะลงลึกไปถึงบอลลูน หรือถุงลมเล็กที่อยู่ในหลอดลมฝอย ซึ่งบริเวณนี้จะค่อนข้างมีความไวต่อสิ่งเร้าต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสารเคมี หรือฝุ่นพิษจิ๋วดังกล่าว ดังนั้นเมื่อเรารับฝุ่น PM2.5 เป็นเวลานานๆ ร่างกายก็จะเกิดปฏิกิริยาโต้กลับ เพื่อขับสารภูมิแพ้ดังกล่าวออกมา ด้วยการผลิตเหยื่อเมือกในการขับฝุ่น PM2.5 ออกมา ทั้งนี้ในกลุ่มคนที่แข็งแรงปอดก็จะแข็งแรงพอ ที่จะขับฝุ่นพิษออกมาได้ โดยจะสังเกตเห็นเป็นเสลด น้ำมูก หรือน้ำลาย แต่ในผู้ที่มีร่างกายไม่แข็งแรง เช่น ผู้สูงวัยที่มีโรคประจำตัวอยู่แล้ว จึงไม่สามารถขับฝุ่น PM2.5 ออกมาเป็นเสลดหรือเสมหะได้ จึงกลายเป็นโรคภูมิแพ้ในที่สุด และเมื่อสะสมฝุ่นพิษดังกล่าวไว้ในร่างกายนานๆ เมื่อไปเจอกับเชื้อไขหวัด หรือเชื้อแบคทีเรียนต่างๆ ก็จะทำให้เชื้อแบคทีเรียและฝุ่น PM2.5 ลามไปสู่ปอด ทำให้มีอาการปอดบวม

“ทั้งนี้ในทางการแพทย์ได้แบ่งความรุนแรง จากการติดเชื้อแบคทีเรียต่างๆ ร่วมกับฝุ่น PM2.5 ออกเป็น 2 ประเภทคือ 1.โรคภูมิแพ้ และนำมาซึ่งการเป็นโรคหอบหืด 2.ติดเชื้อปอดบวม ปอดอักเสบ และทำให้น้ำท่วมปอดในที่สุด โดยสรุปการได้รับฝุ่น PM2.5 สะสมติดต่อกันเป็นเวลานานๆ จะส่งผลให้ป่วยเป็นโรคเรื้อรัง ที่สำคัญมีโอกาสป่วยเป็นมะเร็งปอดได้เช่นเดียวกัน โดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งอยู่แล้ว รวมถึงชอบดื่มสุรา และสูบบุรี่ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนเป็นตัวกระตุ้นซ้ำให้ ฝุ่น PM2.5 ก่อโรคเรื้อรังต่างๆในประชาชนได้”

ส่วนการป้องกันนั้นเราสามารถทำได้ เช่น การไม่ออกไปนอกบ้านในช่วงเวลาที่ไม่จำเป็น หรือช่วงที่มีฝุ่น PM2.5 หนาแน่น เช่น ให้เลี่ยงการออกไปนอกบ้านในช่วงกลางวัน ที่มักจะมีรถยนต์ขับอยู่บนถนนเป็นจำนวนมาก ซึ่งทำให้เกิดฝุ่นควันพิษจากท่อไอเสียรถยนต์ หรือการก่อสร้างถนนหนทางหรือตึกอาคารต่างๆในช่วงกลางวัน ที่เป็นสาเหตุของฝุ่น PM2.5 แนะนำให้ออกจากบ้านช่วงเช้ามืด หรือตอนค่ำ หลังจากที่กิจกรรมก่อสร้างต่างๆเลิกงานแล้ว นอกจากนี้ให้เลือกสวมใส่หน้ากากอนามัยกันฝุ่น PM2.5 เช่น ยี่ห้อ 3 M เป็นต้น ซึ่งอันที่จริงแล้วหน้ากากดังกล่าว ค่อนข้างมีความละเอียดในการกรองฝุ่นพิษ ซึ่งสามารถใช้ป้องกันโควิด-19 ได้เช่นเดียวกัน เนื่องจากมีประสิทธิภาพครอบคลุม แต่อาจจะมีราคาสูงประมาณชิ้นละ 30 -85 บาท หรือสามารถใช้หน้ากากอนามัยผ้าที่ซักตาก และนำมาใช้งานใหม่ได้ ซึ่งหากหน้ากากผ้ามีลักษณะบาง ก็อาจต้องซ้อนกัน 2 ชั้น (เน้นหายใจได้สะดวก) หรือแม้แต่หน้ากากอนามัยแบบแพ็คกล่อง ที่ตกชิ้นละ 1-2 บาท ก็สามารถใช้ได้ใกล้เคียงกับหน้ากากผ้า ดังนั้นก็ควรเลือกให้เหมาะกับงานที่ทำ หรือกิจกรรมที่ทำ เพื่อช่วยให้เราสามารถหายใจได้สะดวก แต่ทว่าก็ยังมีหน้ากากช่วยป้องกัน ทั้งฝุ่นพิษจิ๋วและโควิด-19 ได้ในขณะเดียวกัน

“นอกจากนี้การดูแลสุขภาพ ด้วยการลดแบคทีเรียในช่องปาก เพื่อป้องกันโรคภูมิแพ้ที่เกิดจากฝุ่น PM2.5 ก็เป็นสิ่งที่สำคัญ ดังนั้นจึงแนะนำให้ลดอาหารที่เป็นตัวกระตุ้น การเกิดเสลดหรือเสมหะในลำคอ เช่น อาหารกลุ่ม แป้ง ไขมัน น้ำตาล ที่เป็นอาหารของแบคทีเรียในลำคอ หรือแม้แต่น้ำผลไม้กล่องที่ควรรับประทานให้น้อย เนื่องจากมีความเป็นกรดสูง ซึ่งทั้ง 2 ปัจจัยอย่างของหวานและกรดในอาหาร จะไปกระตุ้นให้เกิดการติดเชื้อที่ลำคอ และจะส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจทำงานแย่ลง จึงเป็นที่มาของเสมหะและอาการไอ ซึ่งเป็นอาการภูมิแพ้จากฝุ่น PM2.5 นั่นเอง ดังนั้นเมื่อรับประทานอาหารข้างต้น จำเป็นต้องดื่มน้ำในปริมาณที่มาก เพื่อให้น้ำขับเชื้อแบคทีเรีย ออกจากร่างกาย ป้องกันโรคภูมิแพ้จากฝุ่นพิษจิ๋วในอากาศ”

Related Posts

Send this to a friend