สธ.แถลงความคืบหน้าปฏิบัติการเยียวยาจิตใจ จากเหตุการณ์รุนแรงใน จ.หนองบัวลำภู
วันนี้ (10 ต.ค. 65) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และ พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต แถลงข่าว “ความคืบหน้าปฏิบัติการเยียวยาจิตใจ จากเหตุการณ์รุนแรงใน จ.หนองบัวลำภู”
นายอนุทิน ชี้แจงในส่วนของนโยบายการเยียวยาจิตใจเชิงรุก โดยระบุว่า ได้มอบหมายให้พญ.อัมพร เดินทางไปในพื้นที่ทันที ขอให้ยกกรมสุขภาพจิตไปอยู่ที่เกิดเหตุ ทั้งผู้ที่มีอำนาจสั่งการและทีมงานทั้งหมด เพราะเมื่อผู้บาดเจ็บอยู่ในรพ.แล้ว จะต้องเร่งเข้าไปเยียวยาสภาพจิตใจด้วย โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่มที่คือ 1. ญาติที่อยู่ในเหตุการณ์ 2.ญาติผู้ที่สูญเสีย
ทั้งนี้ศูนย์เยียวยาจิตใจ(MCATT) ได้ระดมทีมจากรพ.จิตเวชภาคอีสานและส่วนกลาง เข้าไปดูแลแต่ละครอบครัว โดยให้กระจายทีมลงไปแต่ละครอบครัวที่เกี่ยวข้อง ส่วนนโยบายไม่ใช่เพียงการดูแลแบบตัดมือตัดแขน “บอกให้ทำใจดีๆแล้วสู้ๆ” แต่จะดูแลตามหลักวิชาการทางการแพทย์ โดยแพทย์ที่ลงพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นผู้อำนวยการรพ.จิตเวช ซึ่งมีการรวบรวมข้อมูลและประชุมก่อนลงพื้นที่ในชุมนุม
นายอนุทิน ยืนยันว่า การเยียวยาจิตใจไม่ได้เหนือบ่ากว่าแรงเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำซึ่งกระทรวงสาธารณสุขไม่ได้นิ่งนอนใจ และพยายามทำทุกอย่างเต็มที่ ส่วนผู้ที่ได้รับบาดเจ็บส่วนใหญ่ ถูกทำร้ายที่ศีรษะ ซึ่งแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสมองยืนยันว่า มีโอกาสที่จะฟื้นฟูให้เข้าสู่สภาพให้กลับมาเป็นปกติมากที่สุด เป้าหมายแรกคือการรักษาชีวิต เป้าหมายต่อไปคือการฟื้นฟูสภาพร่างกาย และจิตใจ
ด้าน นพ.โอภาส ระบุ ว่า ผู้บาดเจ็บมีทั้งหมด 10 ราย 3 รายกลับบ้านแล้ว 5 รายอยู่ที่โรงพยาบาล จ.หนองบัวลำภู อีก 2 คนอยู่ที่โรงพยาบาลอุดรธานี
รายแรก เป็นเด็กชายอายุ 3 ปี ผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะ ขณะนี้ถอดเครื่องช่วยหายใจแล้ว หมอติดตามดูอาการอยู่ในห้องICU เพื่อไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อน
รายที่ 2 เด็กชายอายุ 4 ปี เป็นรายที่ได้รับการกระทบกระเทือนของสมองค่อนข้างมาก ซึ่งรายนี้เกิดภาวะแทรกซ้อนคือสมองบวม และมีการผ่าตัดเป็นครั้งที่ 2 ก็สามารถลดอาการบวมได้ ขณะนี้อาการดีขึ้นเป็น 80% แล้วนับว่าเป็นสัญญาณที่ดีและต้องติดตามต่อไป
รายที่ 3 ผู้หญิงอายุ 56 ปี ได้รับบาดเจ็บที่ศรีษะและมีการผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะ เอาก้อนเลือดออก ขณะนี้สามารถฝึกหายใจได้เองแล้ว แต่ยังใช้เครื่องช่วยหายใจเป็นระยะๆ
รายที่ 4 เป็นผู้หญิงอายุ 42 ปีได้รับบาดเจ็บที่ช่องท้องจากการผ่าตัดพบว่าลำไส้เล็กทะลุ และขาหักขณะนี้ได้มีการผ่าตัดไปหมดแล้ว และยังหายใจได้เองรู้สึกตัวดี
รายที่ 5 เด็กหญิง อายุ 12 ปี ซึ่งเป็นลูกของรายที่ 4 ขณะนี้อาการดีขึ้น ตอนแรกมีสภาพจิตใจที่ไม่ดี แต่หลังจากเอาแม่และลูกมารักษาตัวร่วมกันทำให้ทั้งคู่สภาพจิตใจดีขึ้น
รายที่ 6 รักษาตัวที่โรงพยาบาลอุดรธานี เด็กอายุ 3 ปี ได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะได้ผ่าตัดเปิดกะโหลกศีรษะและเอาก็เลือดออกขนาดนี้สามารถถอดเครื่องช่วยหายใจได้แล้วอาการดีขึ้นพูดคุยรู้เรื่อง
รายที่ 7 รักษาตัวที่โรงพยาบาลอุดรธานี ชายอายุ 21 ปี ถูกยิงที่กระดูก ฉันหลังต้นคอขณะนี้ได้รับการผ่าตัดเอากระสุนออกแล้วตอนนี้ยังต้องใช้เครื่องช่วยหายใจและต้องกายภาพบำบัดฟื้นฟูต่อไป
ด้าน พญ.อัมพร ระบุว่า นอกจากการเยียวยาจิตใจเบื้องต้นแล้ว ยังมีการวางแผนเยียวยาไว้ 3 ระยะ
ระยะดำเนินการทันที 3 วันแรกคือการเข้าไปดูแลทั้ง 37 ครอบครัว ถัดไปคือระยะดูแลต่อเนื่อง เพราะผู้ได้รับผลกระทบจะมีแผลใจและความเจ็บปวดในระยะ 2 สัปดาห์เป็นต้นไป ส่วนระยะหลัง 2 สัปดาห์ ทีม MCATT จะอยู่ในพื้นที่เยียวยาจิตใจกว่า 3 เดือนหรือนานกว่านั้น เพื่อทำความเข้าใจให้ผู้ได้รับผลกระทบมีการปรับตัว ส่วนในรายที่สำคัญก็จะส่งต่อและดูแลอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้กลุ่มผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงเป็นกลุ่มเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 60 คน กลุ่มไม่ใช่ญาติสายตรง แต่เป็นผู้มี่อยู่ในต.อุทัยสวรรค์ 6,500 คน และเด็กที่อยู่ใน 2 โรงเรียนใกล้ที่เกิดเหตุ 129 คน ก็จะส่งทีมเข้าไปดูแลเช่นกัน ส่วนประชาชนใน จ.หนองบัวลำภู ที่ได้รับข้อมูลข่าวสาร กรมสุขภาพจิตจะเร่งเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจให้ก้าวข้ามสถานการณ์นี้ไปได้
สำหรับกรณีชาวบ้านไล่แม่ผู้ก่อเหตุออกนอกพื้นที่ พญ.อัมพร ระบุว่า ครอบครัวผู้ก่อเหตุถูกจัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง ซึ่งกรมสุขภาพจิตเข้าไปดูแลอย่างใกล้ชิด ตั้งแต่การเฝ้าระวังปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เป็นแรงกระตุ้นและเตรียมทางเลือกให้ครอบครัวสามารถปรับตัวกับสถานการณ์ อยู่กับสถานการณ์และก้าวข้ามสถานการณ์นี้ไปให้ได้
“ไม่มีครอบครัวใดที่อยากให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ครอบครัวของผู้ก่อเหตุเป็นอีกหนึ่งครอบครัวที่เจ็บปวดต้องดูแลอย่างเข้มข้น” พญ.อัมพร กล่าว
ส่วนคนในสังคมต้องช่วยประคับประคองจิตใจ ให้เป็นการรับฟัง ไม่ขุดคุ้ยซักไซ้ไล่เรียง สิ่งสำคัญคือการให้ความช่วยเหลือ มีเวลาร่วมกันทำกิจกรรมตามประเพณีเช่นเอิ้นขวัญ พิธีงานศพเพื่อให้ชุมชนมีความแข็งแกร่งและผ่านสถานการณ์นี้ไปได้
โดยกลุ่มที่ต้องจับตาดูเป็นพิเศษ 170 คน หลังเกิดเหตุ 10 กว่าคน คิดว่าเป็นการสูญเสียที่รุนแรงไม่สามารถปรับตัวได้ และอยากทำร้ายตนเอง ส่วนอีก 10 คน มีอาการกินไม่ได้นอนไม่หลับส่งผลกระทบต่อร่างกายซึ่งทั้งหมดได้รับการดูแลเรียบร้อยแล้ว
“เป็นห่วงพี่น้องสื่อมวลชนในพื้นที่ที่ต้องรับรู้เหตุการณ์ซ้ำๆอาจเกิดปัญหาทางจิตใจ พี่น้องสื่อมวลชนต้องใส่ใจกันและกันจะเป็นประโยชน์อย่างมาก” พญ.อัมพร กล่าว