วิจัยต่อยอด “หมอพร้อม” สู่แพลตฟอร์มบันทึกข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคล
ประชาชน-รพ. เข้าถึงข้อมูลร่วมกัน
ลดการเดินทาง-ค่าใช้จ่าย เพิ่มประสิทธิภาพการรักษา ปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขอย่างยั่งยืน
สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ล่าสุดพัฒนาแพลตฟอร์มเพื่อบริหารจัดการข้อมูล หรือแอพพลิเคชัน “หมอพร้อม” ซึ่งมีผู้ใช้งานจำนวนมากกว่า 30 ล้านคน ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ผ่านมา โดยนำฐานเทคโนโลยีที่มี สู่การวิจัยและพัฒนาต่อยอด โดยการพัฒนาแพลตฟอร์ม “หมอพร้อม” เพื่อให้เป็นระบบระเบียนสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคล (Personal Health Record : PHR) ซึ่งเป็นการนำเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับระบบการบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ มาเป็นเครื่องมือในการดำเนินการ และเป็นระบบการจัดการข้อมูลสุขภาพระดับบุคคล ที่ช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลสุขภาพของตนเองได้ ทั้งในรูปแบบการจดบันทึกข้อมูลด้วยตัวเอง ผ่านแอปพลิเคชันบนอุปกรณ์สมาร์ทโฟน ทั้งนี้หากประชาชนเข้าถึงข้อมูลสุขภาพของตนเองได้มากขึ้น เมื่อเจ็บป่วยก็จะมีส่วนร่วมในการรักษาพยาบาลมากขึ้น ลดการเดินทางไปโรงพยาบาล ส่งผลต่อการลดค่าใช้จ่ายในระบบสุขภาพในระยะยาว
ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ รองผู้อำนวยการ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า “การปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุขในหลากหลายประเด็น จะมีงานวิจัยเป็นฐานสนับสนุนทางด้านวิชาการ เพื่อการขับเคลื่อนที่มีข้อมูลเชิงประจักษ์รองรับชัดเจน ซึ่งงานวิจัยโครงการพัฒนาระบบระเบียนสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคล (Personal Health Record : PHR) เชื่อมต่อโปรแกรมการจัดการข้อมูลวัคซีนโควิด-19 (Line Official Account หมอพร้อม) ในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 9 เป็นอีกงานวิจัยที่ตอบสนองการปฏิรูปประเทศด้านสาธารณสุข โดยมีเป้าหมายเพื่อวิเคราะห์แนวทางการพัฒนา ระบบเวชระเบียนสุขภาพส่วนบุคคลอิเล็กทรอนิกส์ที่พึงประสงค์กับระบบสุขภาพของคนไทย และเพื่อพัฒนาแพลตฟอร์มกลางต้นแบบ และเครือข่ายสารสนเทศ ที่สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคลอิเล็กทรอนิกส์ ระหว่างประชาชนกับหน่วยบริการสาธารณสุข เพื่อขยายผลการใช้งานให้ครอบคลุมทั่วประเทศ รวมถึงพัฒนา API การเชื่อมต่อ และเรียกใช้ข้อมูลส่วนบุคคล PHR ที่แสดงผลบนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ตลอดจนการเชื่อมฐานข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้งานวิจัยมีกรอบคิดและการดำเนินงานที่สำคัญ อาทิ การประกาศโครงสร้างชุดข้อมูล ระบบระเบียนสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคล, การพัฒนาฐานข้อมูลเพื่อเชื่อมต่อข้อมูล PHR เขตสุขภาพที่ 9, จัดเตรียม Private Server สำหรับใช้เป็นฐานข้อมูลแต่ละจังหวัด, โรงพยาบาลในเขตสุขภาพที่ 9 ส่งข้อมูลเข้า PHR Center, พัฒนาชุดความรู้สุขภาพร่วมกับผู้เชี่ยวชาญ, พัฒนาแอปพลิเคชันในส่วนของการแสดงผลข้อมูล PHR โดยมีกลุ่มตัวอย่าง 100 คน ทดสอบการใช้งานฟังก์ชันประวัติการรักษา บนแอปพลิเคชันหมอพร้อม ซึ่งประโยชน์ในการใช้งานของระบบสารสนเทศสุขภาพส่วนบุคคล ด้านผู้ป่วยหรือผู้รับบริการ ที่เห็นได้ชัดเจนคือ สนับสนุนให้ผู้ป่วยมีส่วนร่วมในการรักษาโรคของตนเองมากขึ้น และการที่ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลการรักษาพยาบาลได้ ส่วนหนึ่งจะส่งผลให้เกิดการดูแลสุขภาพตนเองได้อย่างสะดวก รวมทั้งประหยัดเวลาและค่าใช้จ่าย
ทั้งนี้การใช้งานแอปพลิเคชันหมอพร้อม เพื่อการบันทึกข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคล สามารถทำได้โดย เริ่มต้นจากการลงทะเบียนเพื่อตรวจพิสูจน์และยืนยันตัวตน โดยมีระบบป้องกันการปลอมแปลงด้วยการใช้ AI เปรียบเทียบใบหน้า และแลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพตามมาตรฐานสากล ซึ่งมีหน่วยงานรัฐในการรับผิดชอบข้อมูลและแอปพลิเคชัน ทั้งนี้การลงทะเบียนไม่เสียค่าใช้จ่าย สะดวก ลดความยุ่งยากและประหยัดเวลาก่อนเข้ารับบริการ โดยข้อมูลการรักษาทุกโรงพยาบาล จะทำให้แพทย์มีการวินิจฉัยโรคได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ กรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน ซึ่งถ้าต้องไปใช้บริการที่สถานพยาบาล สามารถนำบัตรประชาชนไปยังหน่วยบริการหมอพร้อม DID (Digital ID) ใกล้บ้านทั่วประเทศ โดยสามารถค้นหาหน่วยบริการหมอพร้อมได้ในแอปพลิเคชัน
แม้งานวิจัยจะใช้พื้นที่เขตสุขภาพที่ 9 เป็นพื้นที่นำร่อง แต่ปัจจุบันได้มีการขยายผลไปทั่วทั้ง 12 เขตสุขภาพแล้ว โดยปัจจุบันมีหน่วยบริการที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 849 แห่ง และมีการส่งข้อมูลเข้า PHR Center นับได้จำนวน 159 ล้านหน่วย ซึ่งในอนาคต สวรส. ให้ความสำคัญกับระบบข้อมูลสุขภาพ ทั้งในระบบที่หน่วยบริการเป็นผู้บันทึกข้อมูล และระบบที่ประชาชนสามารถบันทึกข้อมูลเองได้ เพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในการป้องกัน และดูแลรักษาสุขภาพของประชาชน ตลอดจนเพื่อการพัฒนาระบบที่จะนำไปสู่ความสะดวกในการรับบริการสุขภาพ และส่งผลต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชน