แพทย์ เตือน หูตึง ภัยเงียบวัยเกษียณ เสี่ยงโรคสมองเสื่อม มากกว่าคนปกติถึง 2 เท่า
อ.ดร.พญ.นัตวรรณ อุทุมพฤกษ์พร แพทย์เฉพาะทางด้านโสตประสาทวิทยา ศูนย์การได้ยิน การสื่อสารและการทรงตัว โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ให้ความรู้ในประเด็นปัญหาการได้ยิน กับความเสี่ยงภาวะสมองเสื่อม ผ่านการจัดนิทรรศการสื่อผสม อย่าง ‘ซุ้มโดมบ้านนก’ เพื่อประเมินการได้ยินเบื้องต้น ผ่าน “เสียงนก” นิทรรศการที่เกิดจากความร่วมมือ ของ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ร่วมกับ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,British Council,กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ผ่านโครงการ Thai-UK World-class university consortium catalyst grant, University College London,หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบัน อุดมศึกษาการวิจัยและสร้างนวัตกรรม (บพค.)
เนื่องจากปัญหาการได้ยินและการทรงตัว เป็นปัญหาหลัก 1 ใน 3 ของผู้สูงอายุทั่วโลก โดยเฉพาะวัยเกษียณอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป อีกทั้งปัญหาการได้ยิน ยังเป็นสัญญาณความเสี่ยง ของโรคสมองเสื่อม เนื่องจากเมื่อการได้ยินลดลง ส่งผลให้การกระตุ้นสมองลดลงตามไปด้วย เมื่อสมองขาดการกระตุ้น เป็นเวลานาน 5-10 ปี ล้วนส่งผลให้สมองเสื่อมถอยและฝ่อเร็วขึ้น ทั้งนี้ยังพบว่าปัญหาการได้ยิน เพิ่มความเสี่ยงสมองเสื่อม สูงสุดถึง 2 เท่า
อ.ดร.พญ.นัตวรรณ เผยว่า ในบรรดาคนไข้ภาวะสมองเสื่อม จากจำนวน 2 ใน 5 คน ปัญหาด้านการ ได้ยินซึ่งเป็นความเสี่ยงสูงสุด ที่สามารถป้องกันได้ หากได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที โดยการกระตุ้นการได้ยิน และกระตุ้นสมอง ก็สามารถกลับมาดำเนินชีวิตประจำวัน และอยู่ร่วมกับสังคมได้ตามปกติ และสำหรับนิทรรศการสื่อผสม “เสียงนั้น เธอได้ยินไหม” ถูกทำขึ้นมาในรูปแบบบ้านนกสีเหลืองสดใส ของนก 5 ประเภทด้วยกัน ได้แก่ นกเร็น,นกเดินดง,นกเดินดงสีดำ,นกคัคคู และนกเขา ซึ่งเมื่อกดปุ่ม นกในบ้านแต่ละหลังจะส่งเสียงร้องออกมา เพื่อให้ผู้เข้าชมประเมินตนเองว่า สามารถได้ยินเสียงนกร้องหรือไม่
สำหรับ ‘ซุ้มโดมบ้านนก’ เป็นการตรวจวัดระดับการได้ยิน ของตนเองผ่านเสียงนก ซึ่งนกแต่ละกรงจะปล่อยเสียง แต่ละความถี่เพื่อทดสอบ การได้ยินและความสามารถ ในการรับเสียงสัญญาณทุกย่านความถี่ของผู้เข้ารับการทดสอบ
1.บ้านที่ 1 นกเร็น (Wren) ความถี่ 4000-8000 Hz เสียงแหลมมาก
2.บ้านที่ 2 นกเดินดง (Song thrush) ความถี่ 3000-4000 Hz เสียงแหลม
3.บ้านที่ 3 นกเดินดงสีดำ (Blackbird) ความถี่ 1000-2000 Hz เสียงกลาง
4.บ้านที่ 4 นกคัคคู (Cuckoo bird) ความถี่ 350-750 Hz เสียงกลางค่อนข้างทุ้ม
5.บ้านที่ 5 นกเขา (Collared bird dove) ความถี่ 250-350 Hz เสียงทุ้ม
เสียงของนกแต่ละชนิด จะแทนย่านความถี่ที่แตกต่างกัน ซึ่งตามปกติความถดถอย ด้านการรับเสียงของมนุษย์ จะสูญเสียความสามารถ ในการรับเสียงแหลมหรือเสียงที่สูง และตามมาด้วยอาการสื่อสารไม่เข้าใจ เนื่องจากการสูญเสียการได้ยิน เสียงที่ทุ้มต่ำลงมาตามลำดับ เมื่อตรวจพบว่าหู ไม่สามารถรับเสียงได้ตามปกติ ผู้ป่วยควรเข้ารับการรักษา และกระตุ้นการได้ยิน เพื่อให้สามารถกลับมาได้ยินชัดเจนอีกครั้งซึ่งเสียง ที่ได้ยินจะกลับเข้าไปกระตุ้นการทำงาน ของระบบประสาทและสมองต่อไป
ทั้งนี้ผู้ที่สนใจติดตามข่าวสารความรู้ เกี่ยวกับการได้ยิน สามารถติดตาม ข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ Facebook ของทางศูนย์การได้ยิน การสื่อสารและการทรงตัว โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ที่ https://www.facebook.com/ChulaHearingBalance หรือติดต่อขอนิทรรศการสื่อผสม “ซุ้มโดมบ้านนก” เพื่อนำไปแสดง ได้ที่ email: info.loylombon@gmail.com
สำหรับประชาชนทั่วไป ซึ่งมีอายุ 50 ปีขึ้นไป ที่สนใจตรวจการได้ยินด้วยตนเอง ผ่าน Smart Phone หรือ Tablet โดยไม่มีค่าใช้จ่าย สามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน EarTest by Eartone ตรวจการได้ยินเบื้องต้น เพื่อตรวจสอบระดับการได้ยิน และป้องกันภาวะสมองเสื่อม